คาร์บอมกลางเมืองหลวงอัฟกานิสถาน ดับ 4 เจ็บ 20 คาดฝีมือตาลีบัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตาลีบัน ยังคงรุกคืบยึดพื้นที่ของอัฟกานิสถาน เป้าหมายคือเมืองใหญ่ รวมถึง คาบูล เมืองหลวง ล่าสุดเมื่อเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุระเบิดรถยนต์ในกรุงคาบูล จุดเกิดเหตุอยู่ในบริเวณ กรีนโซน (Green Zone) คือ พื้นที่ที่มีการเข้มงวดความปลอดภัยสูงสุด โดยปกติเป็นที่ตั้งของสถานทูต สำนักงานยูเอ็น หรือสถานที่ราชการ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการถอนทหารของสหรัฐฯ ส่งผลให้อัฟกานิสถานอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง และเป็นการเปลี่ยนผ่านที่อาจมีการผงาดขึ้นมาอีกครั้งของบรรดากลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวในภูมิ

“ตาลีบัน” รุกคืบ 3 เมืองหลักอัฟกานิสถาน หลังยึดพื้นที่ได้ครึ่งประเทศ

เมื่อสหรัฐฯ จากไป อัฟกานิสถานอาจจมดิ่งสู่ความวุ่นวาย

เหตุระเบิดรถยนต์ หรือ คาร์บอม (Car Bomb) ขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นรถยนต์คันหนึ่งที่จอดอยู่บริเวณ กรีนโซน  ของกรุงคาบูล หลังเกิดระเบิด ก็มีเสียงปืนดังตามมาหลายนัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีกราว 20 ราย

เป็นการโจมตีเกิดขึ้นในจุดที่ไม่มีคาดคิด เนื่องจากบริเวณ กรีนโซน คือ จุดที่มีการวางกำลังป้องกันสูงสุด เป็นบริเวณที่เปรียบเสมือนไข่แดง เป็นที่ตั้งของอาคารราชการและสถานทูต

ต่อมามีรายงานเพิ่มเติมว่า เสียงปืนที่เกิดขึ้นหลัง คาร์บอม เกิดใกล้กับบ้านพักของบิสมิลลาห์ โมฮัมมาห์ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนร้ายและหน่วยรักษาความปลอดภัย โดยในช่วงเกิดเหตุ รัฐมนตรีและครอบครัวไม่ได้อยู่บ้าน

ทั้งนี้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ในอดีต คาร์บอม มักเป็นวิธีการที่กลุ่มอัลเคดาใช้ แต่นักวิเคราะห์บางรายบอกว่า เป็นไปได้เช่นกันที่จะเป็นฝีมือของตาลีบันที่ต้องการยึดเมืองหลวง

หลังเกิดเหตุระเบิดชาวอัฟกันจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงตามท้องถนน ถือ ธงชาติอัฟกานิสถาน พร้อมตะโกนถึงพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ โดยระบุว่าเพื่อต่อต้านกลุ่มตาลีบัน สนับสนุนกองกำลังอัฟกันที่ขณะนี้กำลังต่อสู้กับตาลีบัน การเดินขบวนประท้วงยังเกิดขึ้นที่เฮรัต เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศ และที่เมืองจาลาลาบัด ในจังหวัดนันกาฮาร์ คนออกมารวมตัวตามท้องถนน โบกธงชาติ ตะโกนว่าไม่เอากลุ่มตาลีบัน โดยมีทหารอัฟกันถืออาวุธคอยตรวจตราความปลอดภัยอยู่ไม่ไกล หนึ่งในผู้ประท้วงเล่าว่า ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ การแสดงพลังของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

 

เกิดอะไรขึ้นที่อัฟกานิสถาน?

แผนที่จากเว็บไซต์ Long War Journal เผยให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ล่าสุด ที่ขณะนี้ความมั่นคงของประเทศกำลังถูกคุกคามโดยกลุ่มตาลีบัน  สีแดงคือพื้นที่ที่ตาลีบันยึดครองได้ สีส้มคือพื้นที่ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการสู้รบ ส่วนสีเทาคือพื้นที่ที่รัฐบาลควบคุม จากภาพจะเห็นว่าตาลีบันยึดครองดินแดนมากกว่าครึ่งประเทศแล้ว โดยรายงานระบุว่า อัฟกานิสถานมีทั้งหมด 407 เขต แต่ขณะนี้ตาลีบันยึดไปแล้ว 223 เขต อีก 116 เขตอยู่ระหว่างการสู้รบ และมีเพียง 68 เขตเท่านั้นที่รัฐบาลควบคุมพื้นที่ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกรุงคาบูลเมืองหลวง

การสู้รบระหว่างกลุ่มตาลีบันและกองกำลังอัฟกานิสถานยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากกรุงคาบูลแล้ว ยังมีอีก 3 เมืองสำคัญที่ขณะนี้ทหารอัฟกันกำลังระดมกำลังป้องกันเต็มที่ เพื่อไม่ให้กลุ่มตาลีบันตีแตก นั่นคือเมืองเฮรัต เมืองหลักของจังหวัดเฮรัต  เมืองลัชคาร์กาห์ เมืองเอกของจังหวัดเฮลมันด์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ และเมืองกันดาฮาร์ เมืองเอกของจังหวัดกันอาฮาร์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเช่นกัน โดยเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 รองจากกรุงคาบูล

ลัชคาร์กาห์ปะทะเดือด นานาชาติห่วงสถานการณ์อัฟกานิสถาน

สถานการณ์ตึงเครียดสุดอยู่ที่เมืองลัชคาร์กาห์  สำนักข่าว BBC รายงานบทสัมภาษณ์จากชาวเมืองเล่าว่า การต่อสู้ระหว่างตาลีบันและทหารอัฟกันเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง  พวกเขาเห็นศพนอนเกลื่อนตามท้องถนน และไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าศพเหล่านั้นเป็นชาวบ้านที่ได้รับลูกหลง หรือเป็นสมาชิกตาลีบันที่ถูกสังหาร

ด้านสหประชาชาติรายงาน การสู้รบตลอดหลายวันที่ผ่านมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในเมืองลัชคาร์กาห์แล้วอย่างน้อย 40 ราย ส่วนบนโลกออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพการสู้รบที่ระบุว่า เป็นการต่อสู้กับกลุ่มตาลีบันบริเวณสถานีตำรวจหลักของเมือง จากภาพจะได้ยินเสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว

 

ขณะเดียวกันมีภาพเผยให้เห็นความเสียหายของอาคารบ้านเรือนที่เกิดเพลิงไหม้จากการโจมตีทางอากาศของกองกำลังอัฟกัน ระบุว่า อาคารที่เสียหายคือร้านขายจิลเวอรี่ในบริเวณพื้นที่ที่มีการโจมตีจากกลุ่มตาลีบัน วิกฤตที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานขณะนี้กำลังเป็นที่จับตาของผู้คนทั่วโลก เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ตาลีบันลุกขึ้นมาผงาด และยึดอัฟกานิสถานได้เกือบทั้งประเทศ  หนึ่งในความกังวลเกิดขึ้นที่ปากีสถาน เพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ทางตะวันออก

เมื่อวานนี้ที่จังหวัดไคเบอร์ปัคตูนควา บริเวณชายแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน ทหารจำนวนมากตรึงกำลังเฝ้าระวังตามรั้วที่กั้นระหว่างพรมแดน โดยระบุว่าได้ปรับปรุงความแข็งแรงและความปลอดภัยของรั้วไปแล้วราวร้อยละ 90 ภารกิจนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน ที่เดิมในปากีสถานก็มีผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันมากอยู่แล้วถึง 3 ล้านคน

ด้านบัญชีทวิตเตอร์ของสำนักงานเพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลืออัฟกานิสถานของสหประชาชาติ แชร์จดหมายจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ออกมาเรียดร้องให้ยุติความรุนแรงในอัฟกานิสถานทันที พร้อมระบุว่า ทางสหประชาชาติมีความกังวลต่อการสังหารและละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้น

เสริมด้วยเสียงจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในวันเดียวกัน เน็ด ไพรซ์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาระบุว่า สหรัฐฯ กังวลอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้สงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถานปะทุขึ้น รวมถึงเน้นย้ำให้กลุ่มตาลีบันปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยลงนามร่วมกับสหรัฐฯ ไว้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีประเทศใด ตลอดจนองค์กรนานาชาติใดให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนตาลีบันอีก

ข้อตกลงสันติภาพที่ว่าเกิดขึ้นในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปี 2020  สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร สัญญาว่าจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานหลังประจำการอยู่เกือบ 20 ปี แลกกับการที่ตาลีบันต้องควบคุมไม่ให้เครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เติบโตขึ้นบนแผ่นดินอัฟกานิสถาน

กระบวนการถอนทหารเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เส้นตายหรือวันสุดท้ายคือ 11 กันยายน  และตอนนี้สหรัฐฯ ถอนทหารออกไปแล้วร้อยละ 90 คงเหลืออีกแค่ราว 650 นายเท่านั้น ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานทูต และคาดกันว่าจะถอนเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเสร็จก่อนกำหนดเส้นตาย

ในจังหวะนี้เองที่ตาลีบันรุกคืบหนัก เข้าโจมตีเมืองต่าง ๆ จนขณะนี้ยึดได้เกือบครึ่งประเทศ การผงาดขึ้นของตาลีบันทำให้คนกังวล เพราะยังจำสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนได้ดี

อัฟกานิสถานในทศวรรษ 1996 - 2001 ช่วงเวลาที่ตาลีบันเป็นรัฐบาล ปกครองประเทศ ภายใต้การปกครองที่ใช้กฎศาสนา วัฒนธรรมแบบตะวันตกถูกแบน ดนตรีกีฬาความบันเทิงถือเป็นข้อห้าม สิทธิและเสรีภาพของผู้คนถูกจำกัด ผู้ชายต้องไว้เครา สวมชุดพื้นเมือง ผู้หญิงต้องคลุมผม และไปไหนมาไหนโดยมีญาติฝ่ายชายเดินทางไปด้วย และหากอายุเกิน 10 ขวบแล้ว พวกเธอต้องออกจากโรงเรียน

ตามท้องถนนมีตำรวจศาสนาคอยตรวจตรา และหากใครทำผิดกฎก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งรวมไปถึงการประหารชีวิต ในตอนนั้นมีเพียง 3 ชาติที่ยอมรับสถานะรัฐบาลของตาลีบัน ได้แก่ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นอกเหนือจากความกังวลต่อชีวิตของชาวอัฟกานิสถานที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองของตาลีบันแล้ว การผงาดขึ้นล่าสุดนี้ยังสร้างความกังวลในระดับโลก เพราะอาจทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ อัฟกานิสถานอาจกลับไปเป็นศูนย์รวมก่อการร้ายอีกครั้ง  โดยเฉพาะกลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อ 20 ปีก่อน

 

กลุ่มตาลีบันมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มอัลกออิดะห์ โดยอัลกออิดะห์เกิดขึ้นในปากีสถาน เมื่อปี 1988 ช่วงปลายสงครามเย็น ก่อนจะย้ายเข้ามาในอัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านการรุกรานของโซเวียต และในช่วงเวลาที่ตาลีบันขึ้นปกครองอัฟกานิสถาน รัฐบาลตาลีบันได้เปิดให้อัฟกานิสถานกลายมาเป็นแหล่งซ่องสุม กบดานของบรรดากลุ่มก่อการร้าย

มีรายงานว่า อุซามะห์ บิน ลาเดน ผุ้นำกลุ่มอัลกออิดะห์วางแผนการโจมตีสหรัฐฯ โดยมีรัฐบาลตาลีบันใ้ห้ที่พักพิง และเมื่อชื่อของอัลกออิดะห์กลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกจากเหตุ 9/11 ตาลียันยังคอยปกป้องเขาด้วยการปฏิเสธที่จะส่งตัวบิน ลาเดน ให้กับสหรัฐฯ

ส่งผลให้สหรัฐฯ เปิดสงครามต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ตาลีบันกลายมาเป็นศัตรูกับพญาอินทรีเช่นเดียวกับอัลกออิดะห์ และในปี 2001 ตาลีบันก็ถูกสหรัฐฯ โค่นลงจากอำนาจ

แม้ในข้อตกลงสันติภาพ ตาลีบันจะให้คำมั่นว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้กลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ เติบโตในประเทศนี้ อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่า ยากที่จะเชื่อ เพราะปัจจุบันตาลีบันยังไม่ได้ตัดสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์

ในรายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีสมาชิกอัลกออิดะห์จำนวนหนึ่งแฝงตัวอยู่ในอัฟกานิสถาน และคาดกันว่าพวกเขากระจายกันอย่างน้อยใน 15 จังหวัด และคาดกันว่ามีสมาชิกราว 400 - 600 ราย

อีกข้อบ่งชี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนกระบวนการถอนทหารจะเริ่มต้นขึ้น  สำนักข่าว CNN เผยบทสัมภาษณ์คนกลางที่ทำหน้าที่ประสานกับสมาชิกอัลกออิดะห์ระดับสูง ซึ่งระบุว่า ตัวเขาขอบคุณอัฟกันที่ช่วยปกป้อง และสงครามระหว่างอัลกออิดะห์กับสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินต่อไป

ในขณะที่นักวิเคราะห์เองก็มองว่า หรือต่อให้ตาลีบันไม่ต้องการให้กลุ่มอื่นๆ ผงาดขึ้นจริง แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ยากที่ตาลีบันจะควบคุมได้หมด  และการขึ้นสู่อำนาจของตาลีบันครั้งนี้ อาจส่งผลให้บางพื้นที่ของอัฟกานิสถาน เช่นพื้นที่หุบเขากลายมาเป็นพื้นที่ปราศจากการควบคุม และเปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ อย่าง อัลกออิดะห์ และไอซิส รวมตัวกันซ่องสุมกำลังอีกครั้ง  ซึ่งจะสั่นคลอนต่อความมั่นคงของโลก โดยเฉพาะชาติตะวันตกในอนาคต

 

Photo : WAKIL KOHSAR / AFP

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ