อนามัยโลกขอนานาชาติชะลอแผนฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขณะนี้โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจากอินเดียกำลังระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ Booster Shot เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสูงสุดแก่ประชาชน แต่ล่าสุดองค์การอนามัยโลกออกมาเรียกร้องให้นานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศร่ำรวยชะลอแผนฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ออกไปก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศยากจนได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ว่า ปัจจุบันโลกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วราว 4,000 ล้านเข็ม

โดยร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว ฉีดให้กับประชากรในประเทศร่ำรวยและประเทศที่มีฐานะปานกลาง ซึ่งรวมกันแล้วมีสัดส่วนประชากรไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด

และขณะนี้หลายประเทศร่ำรวยกำลังเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชน แต่ท่ามกลางโครงการ Booster Shot ยังมีประชาชนอีกกว่าร้อยล้านคนในประเทศยากจน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

WHO ค้านชาติร่ำรวยสั่งวัคซีนโควิดเข็มสาม

CDC แนะชาวอเมริกันกลับมาใส่หน้ากาก หลังเดลตาระบาดหนัก

องค์การอนามัยโลกจึงเรียกร้องให้นานาประเทศระงับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรร้อยละ 10 ของทุกประเทศก่อน

ทั้งหมดก็เพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียม เนื่องจากตอนนี้ประเทศร่ำรวยมีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่เกือบ 100 โดสต่อประชากร 100 คน หรือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วนประเทศยากจนมีอัตราดังกล่าวอยู่ที่ 1.5 โดสต่อประชากร 100 คนเท่านั้น

สำหรับเป้าหมายในการฉีดวัคซีน องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 10 ของทุกประเทศภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ และมีเป้าฉีดให้ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 40 ของทุกประเทศภายในสิ้นปีนี้

ส่วนภายในกลางปีหน้า ตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ราวร้อยละ 70 ของประชากรทุกประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ตอนนี้มีหลายประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ประชาชนแล้ว อย่างเช่น รัสเซีย ตุรกี อิสราเอล ฮังการี และอินโดนีเซีย

รัสเซียและตุรกีเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ประชาชนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

1. สำหรับรัสเซีย ผู้ที่จะได้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ต้องได้รับวัคซีนครบสองโดสไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยมีวัคซีน 4 ตัวให้เลือกสำหรับการเสริมภูมิคุ้มกัน ได้แก่ สปุตนิวี  เอพิแวคโคโรนา  โควิดแวค และสปุตนิก ไลท์

2. ส่วนตุรกี ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ชาวตุรกีรับวัคซีนเข็มที่ 3 ยี่ห้อเดียวกับกับเข็มแรกที่พวกเขาได้รับ โดยวัคซีนที่ตุรกีใช้ฉีดให้ประชาชนได้แก่ ไฟเซอร์  ซิโนแวค และสปุตนิก วี

3. อีกประเทศคืออิสราเอล ที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ประชาชนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่อิสราเอลเริ่มฉีดวัคซีนให้ก่อนคือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสมาอย่างน้อย 5 เดือนแล้วส่วนวัคซีนที่ใช้เป็นเข็มที่ 3 ก็คือ วัคซีนของไฟเซอร์ วัคซีนหลักที่อิสราเอลใช้ฉีดให้ประชาชน

4. อีกประเทศยุโรปก็คือฮังการี ที่เริ่มโครงการกระตุ้นภูมิเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ฮังการีคือประเทศแรกในยุโรปที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3ให้ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นแต่มีเงื่อนไขว่า บุคคลนั้นๆ จะต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วอย่างน้อย 5 เดือน

นอกจากนั้น ฮังการียังไม่จำกัดวัคซีนที่จะใช้เป็นเข็มที่ 3 โดยประชาชนสามารถเข้ารับวัคซีนต่างยี่ห้อได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์

โดยตอนนี้ฮังการีใช้วัคซีนของผู้ผลิตถึง 6 เจ้า ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า, ซิโนฟาร์ม, ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, และสปุตนิก วี

5. สำหรับประเทศในอาเซียน อินโดนีเซียได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอินโดนีเซียจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ราว 1 ล้าน 5 แสนคน

ส่วนวัคซีนที่ใช้ก็คือโมเดอร์นา เพื่อบูสภูมิคุ้มกันเพิ่มให้กับด่านหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่บุคลากรทางการแพทย์ในอินโดนีเซียได้รับซิโนแวค

6. และไม่กี่วันก่อนหน้านี้ กัมพูชาเพิ่งประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับแผนฉีดวัคซีนเข็มที่ 3โดยกัมพูชาจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าจำนวน 5 แสนถึง 1 ล้านคนแม้ยังไม่ระบุว่าชัดว่าจะเริ่มวันที่เท่าไหร่ แต่แผนของกัมพูชาก็คือการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ

คนที่ได้รับวัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวค จะได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3

ส่วนคนที่ได้เคยได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าครบสองเข็มแล้ว จะได้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 3

กัมพูชาเตรียมฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่สมเด็จฮุนเซ็น ผู้นำประเทศ ซึ่งได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบสองโดสแล้ว เคยกล่าวว่า เขาต้องการฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มกระตุ้น

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ประชาชน แต่มีแผนที่เริ่มเร็วๆ นี้ ได้แก่ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี

ด้านสหรัฐอเมริกาก็กำลังเตรียมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสกัดไวรัสเดลตาเช่นกัน

เมื่อวานนี้ เจน ซากี โฆษกประจำทำเนียบขาวได้แถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ มีความพร้อมในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แก่ประชาชน

นอกจากนั้น ยังกล่าวเป็นนัยๆว่า สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องระงับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ตามคำเรียกร้องขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากสหรัฐฯ มีวัคซีนเพียงพอสำหรับฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนและบริจาคให้ประเทศอื่น

สหรัฐฯ เตรียมฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ประชาชน หลังยอดผู้ติดเชื้อในประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจากอินเดีย

โดยเมื่อวานนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC เปิดเผยว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าร้อยละ 93 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศคือผู้ติดเชื้อไวรัสเดลตา

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้มีมากกว่า 112,000 ราย เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับเมื่อหนึ่งเดือนก่อน ที่ตอนนั้นสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อรายวันเพียงวันละประมาณ 10,000-20,000 ราย

ย้อนไปสัปดาห์ที่แล้ว CDC เพิ่งจะแนะนำให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะที่เป็นสถานที่ปิด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสเดลตา

นับเป็นการกลับลำของสหรัฐฯ หลังจากยกเลิกมาตรการดังกล่าวไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความรุนแรงของการระบาดจากโควิดกลายพันธุ์

สถานการณ์โรคระบาดที่น่ากังวลขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ CDC จะประกาศมาตรการควบคุมโรคระบาดเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ เองพึงพอใจอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศที่คืบหน้าไปมาก

สหรัฐฯ คือประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็ว

โดยตอนนี้มีชาวอเมริกันที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วราว 192 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 58

ส่วนจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้วมีประมาณ 165 ล้านคน หรือราวร้อยละ 50 ของประชากร 331 ล้านคน

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสเดลตา ที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันประชาชนของตัวเอง หมายความว่าความต้องการวัคซีนย่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย

ผู้ผลิตวัคซีนแนวหน้าของโลก อย่าง ไฟเซอร์และโมเดอร์นาจึงตัดสินใจปรับราคาวัคซีนขึ้น

รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า บริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา สองผู้ผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของโลกในขณะนี้ ได้ประกาศปรับขึ้นราคาวัคซีนที่ใช้ฉีดให้ทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู

รายงานระบุว่าวัคซีนของไฟเซอร์จะถูกปรับขึ้นเป็นโดสละ 23.15 ดอลลาสหรัฐฯ หรือราว 768 บาท จากเดิมที่มีราคาโดสละ 18.40 ดอลลาสหรัฐฯ หรือราว 610 บาท (ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์)

ส่วนโมเดอร์นาคาดว่าจะเพิ่มเป็นโดสละ 25.50 ดอลลาห์สหรัฐฯ หรือราว 846 บาท จากเดิมที่มีราคา 22.60 ดอลลาห์สหรัฐฯ หรือราว 750 บาท (เพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์)

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปหรือ EMA ประกาศแล้วว่า อียูอาจจะสั่งวัคซีนของโมเดอร์นาเพิ่มอีก 40 ล้านโดสภายในเดือนตุลาคมนี้

ส่วนไฟเซอร์มีข้อตกลงที่จะส่งวัคซีนให้อียูจำนวน 1,800 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2023

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ