อนาคตอัฟกานิสถานและโลก ในวันที่ “ตาลีบัน” หวนคืนอำนาจ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญกังวล กลุ่มหัวรุนแรงอื่นฟื้นคืนชีพ หลัง “กลุ่มตาลีบัน” ยึดอำนาจอัฟกานิสถานได้สำเร็จ คาดประชาชนชาวอัฟกันทนทุกข์ต่ออีกหลายสิบปี

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2021 ที่ผ่านมา “กลุ่มตาลีบัน (Taliban)” เข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน และเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานได้สำเร็จ ใช้เวลาไม่นานหลังกองกำลังสหรัฐฯ และนาโตถอนกำลังออกจากสมรภูมิ 20 นี้ กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

นิวมีเดีย พีพีทีวี พูดคุยกับ รศ.ดร.ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์ นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแถบตะวันออกกลาง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น

ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในสงครามอัฟกานิสถาน 20 ปี

ตาลีบัน เตรียมตั้งรัฐบาลใหม่ ลั่น สงครามสิ้นสุดแล้ว

ไทม์ไลน์ "ตาลีบัน" ยึดอัฟกานิสถาน ปฏิบัติการฟ้าแลบโค่นรัฐบาลใน 3 เดือน

กลุ่มตาลีบันคือใคร ทำไมต้องการยึดครองอัฟกานิสถาน?

อาจารย์ชูเกียรติเล่าย้อนให้ฟังสั้น ๆ ว่า กลุ่มตาลีบันเป็นคนพื้นเมืองของอัฟกานิสถานที่นิยมหลักการศาสนาแบบสุดโต่ง ที่ต้องการใช้กฎหมายอิสลามเคร่งครัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน จุดมุ่งหมายของพวกเขาคือ อยากเห็นอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีการใช้ศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดในการปกครอง

โดยเมื่อตอนทศวรรษ 1980-1990 กลุ่มตาลีบันยังอยู่ในช่วงการสร้างตัว โดยกลุ่มตาลีบันเห็นความบอบช้ำจากการที่ประเทศตัวเองถูกชาติอื่นเข้ามายึดครองอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงต้องการมีบทบาทในการใช้ศาสนาอิสลามเป็นหลักปกครองประเทศ

“กลุ่มตาลีบันสามารถมีบทบาทเด่นชัดได้มากขึ้นในช่วงหลังทศวรรษ 1990 สู้กับระบอบรัฐบาลกลางของอัฟกานิสถาน และสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้ในปี 1996” อาจารย์ชูเกียรติกล่าว

ต่อมาในปี 2001 กลุ่มอัลเคดา (อัลกออิดะห์) ได้ก่อเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และหลบหนีลี้ภัยอยู่ในอัฟกานิสถาน เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ดำเนินการบุกโจมตีเพื่อลงโทษรัฐบาลตาลีบันที่ให้ที่พักพิงกับอัลเคดา จนสามารถขับไล่รัฐบาลตาลีบันไปได้

จากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ผลักดันระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ให้มีการเลือกตั้ง ไม่มีบทบาทของกลุ่มตาลีบันเข้ามาเกี่ยวข้องอีก โดยให้พลเรือนอัฟกานิสถานขึ้นเป็นรัฐบาล ภายใต้การนำทางของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “ตอนนั้นพวกเราที่ติดตามภูมิภาคตะวันออกกลางก็พูดกันอยู่ว่า ตาลีบันไม่มีทางหมดไปจากสังคมอิสลามในอัฟกานิสถาน ตัวตนของตาลีบันอาจจะอ่อนกำลังลง แต่ความคิดในเชิงที่ว่า ศาสนาอิสลามควรเป็นเกณฑ์หลักในการปกครองยังมีอยู่ ฉะนั้น กลุ่มตาลีบันเพียงรอจังหวะที่จะกลับมามีบทบาทางการเมืองอีก แล้ว 20 ปีผ่านไป อันนี้กลับมาแล้ว”

อาจารย์ชูเกียรติบอกว่า การกลับมาของตาลีบันไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของตนและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ โดยตาลีบันอาจแค่กลับไปจัดโครงสร้างใหม่ เพื่อสั่งสมกำลัง จังหวะที่สำคัญคือ สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน จุดนี้เองที่ทำให้ตาลีบันมองเห็นช่องทางที่จะกลับมามีบทบาทในอัฟกานิสถานอีก

อัฟกานิสถานจะกลับมาเป็นรัฐบาลตาลีบันที่ปกครองด้วยกฎหมายอิสลามเข้มงวดหรือไม่?

อาจารย์ชูเกียรติมองว่า กฎหมายภายใต้รัฐบาลตาลีบันครั้งนี้อาจเข้มงวดเหมือนการปกครองครั้งก่อนช่วงปี 1996-2001 แต่ก็มีข่าวที่โฆษกตาลีบันบอกว่า จะยอมผ่อนปรนสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ไม่เข้มงวดเหมือนครั้งแรก

“แต่ประชากรในเขตเมืองอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะในเมืองหลวง เขาคงไม่แน่ใจว่าตาลีบันจะยอมผ่อนปรนในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้นจริงหรือเปล่า บทเรียนเคยมีประสบการณ์เคยเจอ จึงเกิดภาพที่ว่า พอกลุ่มตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จเมื่อ 2-3 วันก่อน ทำให้คนถึงอยากหลบลี้หนีภัยออกจากอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างคาบูล” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญบอก

อาจารย์ชูเกียรติยังสรุปเหตุการณ์ยึดอัฟกานิสถานที่เกิดขึ้นว่า อธิบายง่าย ๆ ด้วย “3D”

  • D-Day วันที่ตาลีบันกลับมาชนะอีกครั้ง สามารถยึดกรุงคาบูลได้
  • Disappointment ความไม่สมหวังของสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ หวังที่จะสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพภายใต้การชี้นำของสหรัฐฯ แต่ที่สุดรัฐบาลอัฟกานิสถานต้านการบุกแบบยึดเมืองชายขอบก่อน ค่อย ๆ ล้อมเมืองหลวงไว้
  • Destruction จะมีความเสียหายในทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง หรือทางสังคม ที่รออัฟกานิสถานอยู่

“ไบเดน” ยันคิดถูก ถอนทัพจากอัฟกานิสถาน-ยอมรับ "ตาลีบัน" ยึดเร็วกว่าคาด

ยูเอ็น เตือน “ตาลีบัน”อย่าหนุนก่อการร้าย

อนาคตของอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร?

อาจารย์ชูเกียรติคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้ จะยังไม่เกิดสงครามครั้งใหม่ เนื่องจากสหรัฐฯ ก็เสียภาพลักษณ์ไประดับหนึ่ง เพราะถูกมองว่าทิ้งพันธมิตรอย่างรัฐบาลอัฟกานิสถาน “การถอนกำลังทหารจากอัฟกานิสถานทำให้กลุ่มตาลีบันกลับมาได้ เหมือนที่เคยทิ้งเวียดนามใต้ ทิ้งไซง่อน ด้วยภาพลักษณ์ตรงนี้สหรัฐฯ คงยังไม่พร้อมสนับสนุนให้ฝ่ายต่อต้านตาลีบันทำสงคราม”

ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า กลุ่มตาลีบันอาจได้การสนับสนุนจากมหาอำนาจบางประเทศ เช่น จีน หรือรัสเซีย

มีรายงานว่า การล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถานทำให้นานาประเทศเร่งอพยพเจ้าหน้าที่ทางการทูตและพลเรือน ยกเว้นเพียงจีนและรัสเซียสองประเทศเท่านั้น ที่ยังไม่มีแผนอพยพเจ้าหน้าที่ในเวลานี้ โดยสถานทูตจีนได้ประกาศเตือนพลเรือนของตนให้อยู่แต่ในอาคาร ใช้มาตรการความปลอดภัย และจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ด้านสถานทูตจีนในกรุงคาบูลได้ส่งสัญญาณเมื่อวานนี้ว่า ได้มีการติดต่อกับกลุ่มตาลีบันแล้ว และจะไม่อพยพเคลื่อนย้ายในขณะที่กองกำลังตาลีบันเข้ายึดประเทศ ขณะที่โฆษกของกลุ่มตาลีบันได้ประกาศว่าจะรับรองความปลอดภัยของสถานทูตทุกแห่ง สถานที่ด้านการทูต ชาวต่างชาติในกรุงคาบูล และทุกคนจะปลอดภัย โดยหลังจากนี้ ตาลีบันจะเร่งดำเนินการถ่ายโอนอำนาจภายใต้รัฐบาลอิสลามที่เปิดกว้างและครอบคลุม

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อของทางการจีนเผยแพร่ภาพของนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ยืนอยู่เคียงข้างกับเจ้าหน้าที่จากกลุ่มตาลีบัน หลังจากนั้นเริ่มมีสื่อต่างประเทศรายงานว่า จีนกำลังเตรียมการเพื่อรับรองกลุ่มตาลีบันที่เข้ายึดครองอัฟกานิสถาน ในฐานะรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้ นายหวังอี้ยังได้ตำหนิสหรัฐฯ กับการถอนกำลังอย่างรีบเร่งออกจากอัฟกานิสถาน และบอกว่า ตาลีบันเป็นทหารที่มีความสำคัญและกองกำลังทางการเมือง ซึ่งคาดว่า จะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการฟื้นฟู การสร้างความปรองดอง และการสร้างสันติภาพของประเทศ

สำหรับรัสเซีย อาจารย์ชูเกียรติให้ความเห็นว่า รัสเซียคือสหภาพโซเวียตในอดีต อาจอยากเห็นศัตรูทางการเมืองที่สหรัฐฯ พยายามจะเล่นงานมีความเข้มแข็งในอัฟกานิสถาน “ณ ตอนนี้ ตาลีบันเองถ้าจะขอพึ่งความช่วยเหลืออาจจะหันหน้าไปพึ่งจีนกับรัสเซียมากกว่าหันไปพึ่งโลกตะวันตก”

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า หลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาของการหากำลังสนับสนุนหรือหาพันธมิตร แต่ถึงแม้จะไม่เกิดสงครามกลางเมืองในลักษณะที่สองฝ่ายสู้รบกันโดยตรง แต่ก็จะเกิดกลุ่มต่อต้านตาลีบันในสังคมอัฟกานิสถาน ซึ่งจะทำให้การปกครองของตาลีบันในอัฟกานิสถานเองไม่ราบรื่น

“พูดง่าย ๆ ตาลีบันใช้การก่อการร้ายเล่นงานรัฐบาลกลางอัฟกานิสถาน นับจากนี้ไป ผมเชื่อว่ากลุ่มตาลีบันเองจะเจอการก่อการร้ายจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของตาลีบันเช่นกัน” อาจารย์ชูเกียรติกล่าว

เขาเสริมว่า “อัฟกานิสถานเหมือนกับเป็นประเทศที่ถูกสาป ถูกยึดครองโดยชาติอื่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมองโกลในอดีต ชาติมหาอำนาจที่รายล้อมอัฟกานิสถานผลัดกันยึดครองอัฟกานิสถาน จนถึงอังกฤษ สหภาพโซเวียต สหรัฐฯ ไม่เคยมีสันติสุข ไม่เคยมีระเบียบที่จะทำให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีโอกาสในการพัฒนาอย่างจริงจัง อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ยากจนประเทศหนึ่งของโลกเราใบนี้”

แรงกระเพื่อมในระดับโลกจากความสำเร็จของตาลีบัน

มีการคาดการณ์ว่า นานาประเทศอาจยังไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลตาลีบันที่กำลังจัดตั้งและถ่ายโอนอำนาจอยู่ โดยเชื่อว่าอาจรอดูท่าทีขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก่อนว่า จะนำประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มตาลีบันในอดีต แล้วกลัวว่ากลุ่มตาลีบันจะยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปอีกในอนาคตมาโจมตีหรือเปล่า

แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศเป็นกังวล รวมถึงตัวอาจารย์ชูกียรติเองเช่นกัน

“สิ่งที่คนกลัวก็คือ ถ้ากลุ่มตาลีบันทำแบบนี้ได้สำเร็จ ฟื้นคืนชีพกลับมาได้หลังผ่านไป 20 ปี สิ่งที่ผมกำลังกังวลโดยส่วนตัวคือว่า อัลเคดา ไอเอส ก็อาจฟื้นคืนชีพกลับมาด้วยในเวลาอันใกล้ ... ผมคิดว่าพวกนี้อาจจะเห็นตัวอย่างว่าตาลีบันฟื้นคืนชีพกลับมาได้ เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นโอกาสของฉันหรือเปล่าในอนาคตถ้ามีจังหวะ” อาจารย์ชูเกียรติบอก

โดย “อิรัก” เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องจับตา เนื่องจากเป็นประเทศที่ตอนนี้มีเสถียรภาพทางการเมืองไม่มั่นคงเท่าไร เพราะสหรัฐฯ คอยให้การสนับสนุนเหมือนที่เคยสนับสนุนอัฟกานิสถาน แล้วอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เอง ก็เคยต้องการถอนกำลังจากอิรักเหมือนกัน

“ฉะนั้นเมื่อใดที่สหรัฐฯ ถอนกำลังจากอิรักย่างจริงจังหรือเต็มรูปแบบ ผมก็ไม่รู้ว่าอัลเคดาจะฟื้นคืนชีพกลับมาหรือเปล่า แต่เป็นความกังวลของผมโดยส่วนตัวว่า ความเป็นไปได้น่าจะสูง และยิ่งมีตัวอย่างที่ดีของตาลีบันในอัฟกานิสถานด้วย” อาจารย์กล่าว

ผลกระทบหนึ่งที่เด่นชัดจากการฟื้นคืนชีพของกลุ่มตาลีบันคือ ความรู้สึกเรื่องความมั่นคง หรือความไร้ระเบียบ หรือการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ในบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียกลาง หรือในตะวันออกกลาง เริ่มสั่นคลอน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน ได้จัดการประชุมตั้งแต่เมื่อต้นเดือน ส.ค. หลังจากตาลีบันเริ่มส่อเค้าว่าจะกลับมาในอัฟกานิสถาน

5 ประเทศนี้ร่วมกันหารือว่า จะจัดการหรือรับมืออย่างไรกับการกลับมามีบทบาทใหม่ของตาลีบันในอัฟกานิสถาน “แต่สิ่งที่ประเทศเหล่านี้กลัวคือ กลัวกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศของตัวเอง จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ จะออกมาสร้างผลกระทบทางลบต่อการเมืองภายในของประเทศเหล่านี้หรือเปล่า เพราะประเทศในเอเชียกลางเหล่านี้เป็นประเทศมุสลิมทั้งหมด”

สำหรับประเทศไทยเอง อาจารย์ชูเกียรติมองว่าอาจได้รับผลกระทบในระดับนานาชาติบางด้าน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ น่านฟ้าของอัฟกานิสถานเป็นเส้นทางการบินจากภูมิภาคบ้านเราไปยังยุโรปที่ประหยัดเวลาที่สุด ดังนั้น ถ้าน่านฟ้าอัฟกานิสถานมีปัญหา อาจต้องบินอ้อมไปอิหร่าน ซึ่งต้องเสียเวลา เสียค่าเชื้อเพลิงมากขึ้น ฉะนั้นมีผลกระทบแน่นอนในเรื่องของการเมืองในภูมิภาคและผลกระทบในระดับระหว่างประเทศที่คนไทยเองก็ควรเฝ้าติดตามต่อไป

อาจารย์มองว่า คุณภาพชีวิตประชาชนชาวอัฟกันคงต้องทุกข์ทรมานอีกสักพัก แต่ไม่อาจบอกได้ว่าอีกสักพักนี้คือ 10 หรือ 20 ปี

เมื่อครั้งที่ตาลีบันถูกล้มไปในปี 2001 แล้วมีรัฐบาลกลางที่สหรัฐฯ ชี้นำ ประชาชนชาวอัฟกันต่างหวังว่า ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น แต่รัฐบาลกลางเองก็ถูกตั้งข้อรังเกียจว่าทุจริตมาตลอด

ความผิดพลาด ความอ่อนแอ ความไร้ประสิทธิภาพ หรือความไม่โปร่งใสของรัฐบาลกลางอัฟกานิสถาน เป็นจุดที่ทำให้ตาลีบันซึ่งเข้มแข็งมากขึ้นผงาดกลับมาใหม่ได้สำเร็จ

“ฉะนั้นสำหรับประชาชนชาวอัฟกัน ผมเสียใจที่ต้องกล่าวว่า ยังคงจะต้องทรมานหรือประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตต่อไปอีกสักพักหนึ่ง ส่วนที่ว่าจะเป็นดินแดนสันติภาพได้หรือไม่นั้น ผมกล้าตอบได้ 95% เลยว่า คงจะยากในอนาคตอันใกล้” อาจารย์ชูเกียรติกล่าว

“ไบเดน” ยันคิดถูก ถอนทัพจากอัฟกานิสถาน-ยอมรับ "ตาลีบัน" ยึดเร็วกว่าคาด

ข้อมูลประกอบบทสัมภาษณ์จาก BBC / SCMP / Reuters

ภาพจาก AFP / Getty Image

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ