“ตาลีบัน” จะทำอย่างไรกับ “ขุมทรัพย์มูลค่าล้านล้าน” ในอัฟกานิสถาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติสงสัย ตาลีบันจะทำอย่างไร กับแหล่งแร่มูลค่านับ “ล้านล้านดอลลาร์” ในอัฟกานิสถานที่ยังไม่เคยมีใครขุดเอาไป

ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลกลางอัฟกานิสถานและการหวนคืนสู่อำนาจของ “กลุ่มตาลีบัน” ที่ใช้เวลาไม่นานในการยึดครองเมืองหลวงคาบูล ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกิดความสงสัยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ “แหล่งแร่” ที่มีมูลค่ามหาศาลในอัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ข้อมูล ณ ปี 2020 ระบุว่า ประมาณ 90% ของชาวอัฟกันมีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าระดับความยากจนที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 70 บาท) ต่อวัน หรือก็คือ ประชาชนชาวอัฟกันส่วนใหญ่ มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 70 บาท

แกนนำ "ตาลีบัน" กลับอัฟกานิสถานในรอบ 20 ปี

ชีวิตผู้หญิงอัฟกัน ในมือตาลีบันปกครอง

อนาคตอัฟกานิสถานและโลก ในวันที่ “ตาลีบัน” หวนคืนอำนาจ

แต่เมื่อปี 2010 เจ้าหน้าที่ทหารและนักธรณีวิทยาของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้มีการค้นพบแหล่งแร่มูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 33 ล้านล้านบาท) ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก

แร่ต่าง ๆ ที่พบในอัฟกานิสถาน เช่น เหล็ก ทองแดง และทองคำ กระจัดกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีหนึ่งในแร่ธาตุหายากและสำคัญที่สุด นั่นคือ “ลิเทียม (Lithium)” โดยคาดการณ์กันว่า อัฟกานิสถานอาจเป็นหนึ่งในแหล่งลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ลิเทียมเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นแต่หายากในการผลิตสินค้าหลายอย่างในภาคอุตสาหกรรม เช่น แบตเตอรี่แบบชาร์จซ้ำได้ รถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานสะอาด ส่วนหนึ่งของระบบปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เป็นต้น

ร็อด ชูโนเวอร์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Ecological Futures กล่าวว่า “อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดจากโลหะมีค่า ซึ่งยังเป็นโลหะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ด้วย”

เขาบอกว่า ในอดีต สภาวะทางสังคมการเมืองที่ไม่ปลอดภัย การขาดโครงสร้างพื้นฐาน และภัยแล้งที่รุนแรง ได้ขัดขวางการขุดและสกัดแร่ธาตุที่มีค่าที่สุดขึ้น และไม่น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ นี้ภายใต้การควบคุมของตาลีบัน แต่ในขณะเดียวกัน ยังคงมีประเทศอื่น ๆ เช่น จีน ปากีสถาน และอินเดีย ซึ่งอาจพยายามยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมในความมั่งคั่งที่ยังไม่มีใครขุดเอาไปนี้ แม้น่าจะมีความสับสนวุ่นวายก็ตามที

ความต้องการโลหะ เช่น ลิเทียม โคบอลต์ รวมถึงธาตุหายาก เช่น นีโอไดเมียม กำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ พยายามเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสะอาดอื่น ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กล่าวเมื่อเดือน พ.ค. ว่า ความต้องการลิเธียม ทองแดง นิกเกิล โคบอลต์ และธาตุหายากทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องหาทรัพยากรให้เพียงพอ มิฉะนั้นโลกจะล้มเหลวในความพยายามจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเทศ คือ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนการผลิตของลิเธียม โคบอลต์ และแร่หายากมากกว่า 75% จากทั่วโลก

จากข้อมูลของ IEA รถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยต้องการแร่มากกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 6 เท่า โดยลิเทียม นิกเกิล และโคบอลต์มีความสำคัญต่อแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้ายังต้องการทองแดงและอลูมิเนียมจำนวนมาก

สหรัฐฯ คาดการณ์ว่า แหล่งลิเทียมในอัฟกานิสถาน อาจมีมีมูลค่ามากพอ ๆ กับแหล่งลิเทียมในโบลิเวีย ซึ่งเป็นแหล่งแร่ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในโลก

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ กล่าวกับนิตยสาร Science ในปี 2010 ว่า “หากอัฟกานิสถานอยู่ในภาวะสงบนิ่งได้สัก 2-3 ปี อาจสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้ และก็อาจกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคภายในหนึ่งทศวรรษ”

แต่หลายปีผ่านไป ภาวะสงบนิ่งก็ไม่มาเยือนอัฟกานิสถานเสียที ทำให้แหล่งแร่มูลค่าหลายล้านล้านยังคงอยู่ใต้แผ่นดินอัฟกานิสถาน

ชูโนเวอร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่กลุ่มตาลีบันจะใช้อำนาจที่หวนคืนมาใหม่ของตนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่ต้องหลังจากจัดการกับประเด็นด้านความปลอดภัยและมนุษยธรรมได้เรียบร้อยเสียก่อน

โจเซฟ พาร์กส นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยในเอเชียของบริษัทข่าวกรองด้านความเสี่ยง Verisk Maplecroft กล่าวว่า “กลุ่มตาลีบันได้อำนาจมาแล้ว แต่การเปลี่ยนจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมาเป็นรัฐบาลระดับชาตินั้นยังห่างไกล ... กว่าจะเริ่มตั้งไข่แล้วพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้เป็นรูปเป็นร่างได้ น่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี”

แต่จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ มหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งมีความต้องการทรัพยากรสูง โดยเฉพาะเมื่อประกาศว่ากำลังเร่งพัฒนาพลังงานสะอาด ก็ทำให้อาจมองอัฟกานิสถานภายใต้การนำของตาลีบันเป็น “คู่ค้า” รายใหม่ ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ต้องจับตามอง

ตาลีบันแถลงข่าวครั้งแรก ยืนยันหลักสิทธิมนุษยชน | 18 ส.ค. 64 | รอบโลก DAILY

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก Getty Image

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ