ความคล้าย "กรุงคาบูล-เมืองไซง่อน" บทเรียนราคาแพงและความล้มเหลวของสหรัฐ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สุทธิชัย หยุ่น วิเคราะห์ 2 ความคล้ายกันระหว่างเหตุการณ์ บุกยึดครองกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน ของกลุ่มตาลีบัน และสงครามเวียดนามในเมืองไซง่อน เมื่อ 46 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ซึ่งทำให้เห็นว่า ไม่ใช่มหามิตรที่พึ่งพาได้อีกต่อไป

การบุกยึดครองกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ของกลุ่มตาลีบัน เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของโลกบนสงครามความขัดแย้งมานาน 20 ปี  แต่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้หากย้อนกลับไป 46 ปีก่อน ในสงครามเวียดนาม กลับมีความคล้ายกันมากในหลายประการ โดยเฉพาะภาพสะท้อนและบทเรียนราคาแพงของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ซึ่งทำให้เห็นว่า ไม่ใช่ มหามิตรที่พึ่งพาได้อีกต่อไป

ไทม์ไลน์ "ตาลีบัน" ยึดอัฟกานิสถาน ปฏิบัติการฟ้าแลบโค่นรัฐบาลใน 3 เดือน

ตาลีบันประกาศชัยเหนือกองทัพ รบ.อัฟกานิสถาน

สุทธิชัย หยุ่น วิเคราะห์  2 ความคล้ายกันระหว่างเหตุการณ์ทั้งสองนี้ 

อนาคตอัฟกานิสถานและโลก ในวันที่ “ตาลีบัน” หวนคืนอำนาจ

1. กองทัพสหรัฐ แพ้สงคราม ทั้งในสงครามเวียดนามและในอัฟกานิสสถาน เพราะความมุ่งมั่นพาชาติเป็นอิสระจากตะวันตก

ทั้งๆที่ ศัตรูของสหรัฐมีกองกำลังน้อยกว่า อาวุธน้อยกว่า งบประมาณน้อยกว่า แต่มีขวัญกำลังใจ ความมุ่งมั่น เหนือกว่า ในปี  1975 สงครามเวียดนาม ชาวเวียดนาม มีความมุ่งมั่น ความรักชาติ จนสามารถที่จะปลดแอกตัวเองออกจากอิทธิพลของตะวันตกได้

ในปี 2021 ชาวอัฟกานิสถาน ก็ไม่ต่างกัน ความมุ่งมั่นของกลุ่มนักรบที่ต้องการที่จะให้อัฟกานิสถาน เป็นอิสระ จากตะวันตก แม้ว่าจะมีเรื่องของศาสนา เรื่องของความเคร่งครัดในกฎของอิสลามเข้ามา แต่ทั้งหมดล้วนมีความรักชาติ ใจพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อรักษาและนำพาประเทศชาติของตนเองออกจากสหรัฐ 

ความคล้ายอย่างที่ 2  คือ  “ความโกลาหล”

ทั้ง 2 เหตุการณ์ในอดีต 46 ปีก่อน และที่เพิ่งเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่ากองทัพสหรัฐไม่มีการวางแผนที่จะถอยทัพ หรือ ถอนกองกำลังอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะปกป้องชาวเมือง ไม่ว่าจะเป็น เวียดนามใต้ในปี 1975 ที่ช่วยสหรัฐต่อสู้ เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับชาวอัฟกานิสถานในปี 2021 เกิดภาพชาวเมืองหนีตายกันจ้าละหวั่น เพราะสหรัฐไม่มีการวางแผนล่วงหน้าในการปกป้อง หรือ อพยพชาวเมือง

ภาพที่ผมเห็นที่สนามบินใน กรุงคาบูล เป็นภาพของการที่หนีตายของคนอัฟกานิสถาน นับพันๆ คน ที่กลัวว่ากลุ่มตาลีบันมาจะสังหาร ข่มขู่ รังแก คุกคามพวกเขา เพราะคนเหล่านี้คือที่ทำงานให้กับทหารอเมริกันมาตลอด 20 ปี เป็นล่ามบ้าง เป็นลูกจ้างบ้าง เป็นคนที่ทำงานให้กลไกบริษัทต่างๆ ที่ทหารสหรัฐจ้างมา คนเหล่านี้รู้เลยว่าถ้าตาลีบันมาตัวเองจะกลายเป็นคนที่อยู่ในบัญชีดำที่ต้องถูกจัดการ

ในปี 1975 ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด แห่งสหรัฐ ไม่มีแผนที่จะอพยพผู้คนชาวเวียดนาม หลังจากที่รู้ล่วงหน้าเพียง 2 วัน ว่าเมืองไซง่อนกำลังจะล่มสลาย และกำลังแพ้สงคราม ถัดมาวันที่ 28 เมษายน 1975 ทหารเวียดนามเหนือขับรถถังเข้ามาถึงไซง่อน ยึดทำเนียบประธานาธิบดี โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ ทั้งสิ้น

ภาพนั้นเหมือนกับที่กรุงคาบูล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2021 กองกำลังตาลีบันใช้เวลาไม่ถึง 10 วันยึดเมืองหลักได้ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 10 เมือง จนมาถึงกรุงคาบูล ก็สามารถเข้ามาได้ถึงทำเนียบประธานาธิบดี โดยไม่มีการต่อต้านเช่นนั้น

ทหารเวียดนามใต้ไม่สู้กับทหารเวียดนามเหนือเพระาว่า เป็นคนประเทศเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน เมื่อสหรัฐถอยหนี ทั้งสองฝ่ายเลยสำนึกว่าต้องไม่ฆ่าฟันกัน

เช่นเดียวกับ ในกรุงคาบูลเมื่อตาลีบันบุกเข้ามา ทหารอัฟกานิสถานซึ่งเป็นของรัฐบาล ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ซึ่งหนีไปก่อนหน้านี้แล้วไม่กี่ชั่วโมง ทหารของอัฟกานิสถาน ไม่มีเหตุผลที่จะต้องสู้  

อาวุธที่สหรัฐให้มาตลอด 10 ปีนั้น ไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลของอัฟกานิสถานสามารถต้านต่อความมุ่งมั่นต่อกระแสของกลุ่มตาลีบันที่จะสร้างเมืองให้กับประชาชนได้

ความคล้ายของทั้ง 2 เหตุการณ์ นับเป็น บทเรียนอันหนักหน่วงรุนแรง ให้กับ สหรัฐ มหาอำนาจที่มีทั้งอาวุธ ยุทธโธปกรณ์ อันดับ 1 ของโลก มีงบประมาณมหาศาล แต่ ไม่สามารถเอาชนะกองกำลัง กองโจร อย่างเวียดกงของเวียดนามเหนือ และไม่สามารถเอาชนะนักรบที่อยู่ในถ้ำ ในเขาอย่างกลุ่มตาลีบัน ทั้งที่อาวุธก็น้อยกว่า จำนวนคนไม่มีทางเทียบกันกับกองกำลังทหารที่สหรัฐไปสร้างไว้

แต่ท้ายที่สุด ความรักชาติ ความมุ่งมั่น และขวัญกำลังใจของนักสู้สามารถเอาชนะมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกได้

นี้คือบทเรียนที่สำคัญยิ่ง ภาพที่เห็นเฮลิคอปเตอร์ของอเมริกันที่กรุงไซง่อน วันที่ 30 เมษายน 1975 กับภาพของชาวอัฟกานิสถานที่วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ไม่ว่าจะปีนป่ายบนเครื่องบินของสหรัฐปี 2021 สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นยักษ์ใหญ่ที่ไร้ประสิทธิภาพ

และต่อไปนี้จะไม่มีใครเชื่อว่าสหรัฐจะชนะศึกสงครามได้ หรือจะมีใครเชื่อว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจ มหามิตรที่พึ่งพาได้อีกต่อไป นี้คือบทเรียนที่เราคาดไม่ถึง แม้แต่ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน  ก็ตาม

หมายเหตุ เมืองไซง่อน ปัจจจุบันคือ นครโฮจิมินห์ ในเวียดนาม

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ