ม.ฮ่องกง ชี้ "เป็นไปไม่ได้" ที่จะสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่สายพันธุ์เดลตา”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักจุลชีวิวทยา ม.ฮ่องกง ชี้ ด้วยวัคซีนโควิด-19 ที่มีในปัจจุบันท่ามกลางการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อวันพุธ (25 ส.ค.) ที่ผ่านมา หยวนกั๋วหย่ง นักจุลชีววิทยามหาวิทยาลัยฮ่องกงและทีมวิจัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จะทำให้เราไม่สามารถสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)” ได้อีกต่อไป

ในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หมิงเป้า (Ming Pao) ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า เกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสายพันธุ์เดลตายังสามารถทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้อยู่ในหมู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19

รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย เปิดผลข้างเคียงวัคซีน ไฟเซอร์ ในเด็ก 12-18 ปี

สหรัฐฯ ชี้วัคซีน “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” ต้านสายพันธุ์เดลตา ได้ 66%

เปิดสูตร "ฉีดวัคซีนไขว้" ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

พวกเขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ภูมิคุ้มกันหมู่สามารถสร้างขึ้นได้หาก 70% ของประชากรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ แต่จากการคำนวณล่าสุด ทีมวิจัยพบว่า เกณฑ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 97.4% แล้ว เพราะเจอกับสายพันธุ์เดลตา

นั่นหมายความว่า ประเทศที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ท่ามกลางสายพันธุ์เดลตาด้วยวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ จะต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรถึง 97.4% ของประชากรทั้งประเทศ ตัวเลขนี้ คิดจากกรณีที่ประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตาของไฟเซอร์อยู่ที่ 88% แต่ในบางประเทศก็รายงานประสิทธิภาพไฟเซอร์ลดลงเมื่อเจอเดลตา ซึ่งอาจหมายความว่า “ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีในปัจจุบันให้ประชากรกี่คน ก็อาจไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อสายพันธุ์เดลตาให้เกิดขึ้นได้”

และเมื่อคำนวณประสิทธิภาพการใช้วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ซึ่งมีอัตราประสิทธิภาพประมาณ 60% พบว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่จำเป็นสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 142.9% ของจำนวนประชากร ซึ่งเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้”

หย่วนกั๋วหย่งบอกว่า “การฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่า 100% เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่มันแสดงให้เห็นว่า การที่ไวรัสยังคงกลายพันธุ์และแพร่เชื้อได้มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็เหมือนการพยายามสร้างปราสาทบนท้องฟ้า”

พวกเขาบอกว่า การเกิดขึ้นของสายพันธุ์กลายพันธุ์แสดงให้เห็นว่าวัคซีนรุ่นแรกไม่ดีพอ และทำให้ผู้คนไม่แยแสกับความฝันที่จะบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่

อย่างไรก็ตาม พวกเขากล่าวว่า จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการกับระยะต่าง ๆ ของการระบาด โดยเสริมว่า ควรรักษาเป้าหมายที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเป็น 0 และผลักดันให้เกิด “การใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส”

“ต่อเมื่อทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น เราจึงจะสามารถหารือถึงแนวทางการใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสได้ หากอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ก็เป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะพูดถึงมาตรการต่อต้านการแพร่ระบาดที่เราควรนำมาใช้ในระยะต่อไป” พวกเขาระบุ

นักวิจัยกล่าวว่า วัคซีนสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ แต่ไม่สามารถหยุดการแพร่กระจายของไวรัสได้ ดังนั้น ผู้คนควรสวมหน้ากากอนามัยต่อไป ไม่ว่าจะมีอัตราการฉีดวัคซีนกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม

ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความถึงการศึกษาดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงว่า “นี่เป็นการคำนวณของทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง เพื่อหาค่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อให้ได้ "ภูมิคุ้มกันหมู่" ต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตา”

“ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากวัคซีน และไวรัสที่มีอยู่ในปัจจุบันครับ ... วัคซีนช่วยให้เราไม่ป่วยหนัก ส่วนเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเราต้องช่วยวัคซีนทำงานด้วยการป้องกันตัวเองครับ”

โดยก่อนหน้านี้ ดร.อนันต์เคยให้ความรู้ไว้ว่า “หลักการของภูมิคุ้มกันหมู่คือ ไวรัสจะถูก ‘ตัดตอน’ เมื่อเชื้อเข้าไปสู่คนที่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน เพราะไม่สามารถแพร่กระจายต่อให้คนอื่นได้ สำหรับเดลตาและวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ คนฉีดวัคซีนติดเชื้อได้และมีปริมาณไวรัสพร้อมส่งต่อให้คนอื่น ๆ ไม่น้อยกว่าคนไม่ได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันหมู่ในนิยามนี้คงไม่เกิดขึ้นครับ วัคซีนช่วยให้เราต่อสู้กับโควิด-19 ที่รุนแรงได้ แต่คงไม่ช่วยให้เราปลอดจากโควิด-19 ได้”

 

เรียบเรียงจาก Ming Pao / RTHK

ภาพจาก Ming Pao

แนะวิธีป้องกันโควิด เมื่อต้องนั่งวินมอไซค์รับจ้าง

ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 28 ล้านโดส ศบค.เผยผู้ติดเชื้อเสียชีวิต 229 ราย อายุต่ำสุด 12 ปี

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ