รัฐบาลใหม่อัฟกัน ขอให้ราชการกลับมาทำงาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน นำโดยตาลีบันถูกเผยรายชื่อออกมาแล้ว โดย 17 จาก 30 คน รวมถึงนายกรัฐมนตรีคือ คนที่อยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ มากกว่านั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังเป็นคนที่ทาง FBI ของสหรัฐต้องการตัว ในฐานะหัวหน้าเครือข่ายฮักกานี กลุ่มติดอาวุธที่ถูกขึ้นบัญชีดำส่งผลให้ชาติตะวันตกต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการจัดวางความสัมพันธ์กับรัฐบาลตาลีบันชุดใหม่ในขณะที่จีน รัสเซีย ดูจะมีความชัดเจนมากกว่า

ตาลีบัน ประกาศชื่อสมาชิกรัฐบาลชั่วคราว มีคนที่ FBI ต้องการตัว ค่าหัวหลายร้อยล้านบาท

ตาลีบัน ประกาศชัยชนะ ชักธงใหม่ขึ้นในปัญจชีร์

ใครเป็นใครบ้างในรัฐบาลใหม่ มาดูโฉมหน้าอีกครั้งสำหรับคนสำคัญในรัฐบาลใหม่และเป็นคนที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับชาติตะวันตก อย่าง สหรัฐฯ และอียู

คนแรกคือ โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบันและได้รับความไว้เนื้อเชื้อใจมากที่สุดจากผู้นำตาลีบันคนแรก โมฮัมเหม็ด โอมาร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ มุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำตาลีบันรุ่นแรกที่เสียชีวิตไปแล้ว

 

โดย ฮัสซัน อัคฮุนด์ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศเมื่อครั้งที่ตาลีบันเคยครองอำนาจคราวที่แล้วระหว่างปี 1996 ถึง 2001 ถูกมองว่าเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้นำรัฐบาลในขณะนี้ เพราะเขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางด้านศาสนามากกว่าด้านการทหาร การแต่งตั้งเขาถูกมองว่าเป็นการประนีประนอมหลังจากมีรายงานความขัดแย้งในกลุ่มตาลีบันระหว่างสมาชิกที่มีแนวคิดสายกลางกับแนวคิดสุดโต่ง ปัจจุบันชื่อของเขาอยู่ในลิสต์รายชื่อคว่ำบาตรของสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่า UN Sanction

 

คนสอง คือ ซิราจุดดิน ฮักกานี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำเครือข่ายฮักกานี ซึ่งเป็นกองกำลังที่อยู่ภายใต้ร่มธงของตาลีบัน เครือข่ายฮักกานีถูกสหรัฐขึ้นบัญชีว่า เป็นกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ และเป็นกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลไกดา กลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังการโจมตีใหญ่หลายครั้งในช่วงที่สหรัฐประจำการในอัฟกานิสถาน 20 ปีที่ผ่านมา  ส่วนตัว ซิราจุดดิน ผู้นำของกลุ่มก็อยู่ในรายชื่อคนที่ FBI ต้องการตัว

นี่คือส่วนหนึ่งของบุคคลในรัฐบาลใหม่ตาลีบันที่ทำให้หลายประเทศต้องคิดหนักว่าจะจัดความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานอย่างไร ยังไม่นับรวมถึงความหลากหลายของคนในรัฐบาล ที่หากดูตอนนี้มีเฉพาะบรรดาคนหน้าเดิม ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำหรือผู้ก่อตั้งกลุ่มตาลีบันเท่านั้น ไม่มีผู้หญิงร่วมในรัฐบาล และทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พัชตุน กลุ่มเชื้อชาติที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ไม่มีชนกลุ่มน้อยอย่าง ชาวทาจิก เข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ตำแหน่งสำคัญ ๆ จะเป็นของสมาชิกกลุ่มตาลีบัน แต่ดูเหมือนว่าตาลีบันเองก็ต้องการคนทำงานนอกเหนือจากพวกพ้องของตน

 

ล่าสุดสำนักข่าวอัลจาซีรา เผยบทสัมภาษณ์พิเศษ จาก ฮัสซัน อัคฮุนด์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ระบุว่า ทางรัฐบาลตาลีบันขอให้บรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐบาลชุดที่แล้วกลับมาทำงานตามปกติ โดยตาลีบันขอรับรองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ พร้อมยืนยันว่า ช่วงเวลาแห่งการนองเลือดและความขัดแย้งในอัฟกานิสถานได้สิ้นสุดลงแล้ว

ส่วนปฏิกิริยาของนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลใหม่เป็นอย่างไร เริ่มจากสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้มีเสียงกัวลจากสมาชิกบางคนในรายชื่อคณะรัฐบาลที่อยู่ในลิสต์เฝ้าระวัง บางคนมีค่าหัวด้วย  ล่าสุดมีเสียงจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงย้ำถึงความกังวล และเปรยว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องดูที่การกระทำในระยะยาว มากกว่าถ้อยแถลงที่ออกมา

 

สหรัฐฯ กังวลรัฐบาลใหม่อัฟกัน ชี้การกระทำสำคัญกว่าคำพูด

เมื่อคืนที่ผ่านมา แอนโทนี่ บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เดินทางไปที่ฐานทัพสหรัฐฯ แรมสไตน์ ในประเทศเยอรมนี เพื่อหารือกับพันธมิตรในสหภาพยุโรปและปากีสถานว่า จะมีท่าทีอย่างไร และจะจัดความสัมพันธ์อย่างไรหลังจากได้เห็นโฉมหน้าของรัฐบาลตาลีบัน หลังการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขึ้นแถลงข่าว พูดถึงความกังวลเกี่ยวกับประวัติและความเชื่อมโยงของคนบางคนในรัฐบาลใหม่

โดย ระบุว่า ประชาคมโลกจะตัดสินตาลีบันจากการกระทำ ไม่ใช่คำพูด และตาลีบันต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำเพื่อให้ได้รับความชอบธรรม การรับรอง และความช่วยเหลือจากประชาคมโลก

ในการแถลงข่าว ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีที่อยู่ที่นั่นด้วยระบุว่า โฉมหน้าของรัฐบาลตาลีบันและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานนี้ไม่ใช่สัญญานบวก  และอาจเป็นปัญหาในการที่นานาชาติจะให้ความร่วมมือหรือความช่วยเหลือ

ท่าทีของชาติตะวันตกเต็มไปด้วยความระมัดระวัง เพราะถึงแม้จะรับกลุ่มตาลีบันได้ แต่การที่ตาลีบันยังมีความสัมพันธ์กลับกลุ่มที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นภัยคุกคาม ก็นำมาซึ่งความกังวล เช่น กลุ่มก่อการร้ายอย่างเครือข่ายฮักกานี ที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายอีกกลุ่มคือ อัลกออิดะห์ ผู้ก่อเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001

อย่างไรก็ตาม ตาลีบันอาจไม่ต้องกังวลมากนักต่อท่าทีของชาติตะวันตกที่ไม่ค่อยพอใจกับรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน เพราะมีมหาอำนาจโลกอย่าง จีน แสดงท่าทีสนับสนุนอยู่ ท่าทีของจีนชัดเจนกว่ามาก เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และอียู

 

จีนประชุมกับชาติเอเชียกลาง อ้าแขนรับตาลีบัน

ทันทีที่มีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลตาลีบัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงทันทีว่า พร้อมติดต่อสื่อสาร ให้ความช่วยเหลือ และร่วมมือกับรัฐบาลตาลีบัน และในวันที่สหรัฐฯ ประชุมกับพันธมิตรตะวันตก จีนก็มีการจัดประชุมกับประเทศที่อยู่รายรอบอัฟกานิสถานทันที โดยเป็นการประชุมระดับเดียวกัน คือ การประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมที่จีนจัดคือ ปากีสถาน อิหร่าน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถาน หลังการประชุม หวัง อี้  รัฐมนตรีต่างประเทศจีนแถลงข่าวให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าอัฟกานิสถานด้วยการบริจาควัคซีน 3 ล้านโดส หลังจากก่อนหน้านี้ได้ให้เงินช่วยเหลือ 31 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทให้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเงินช่วยเหลือจากต่างชาติก้อนแรกหลังตาลีบันขึ้นสู่อำนาจ

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนระบุว่า เป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่ต้องช่วยประคับประคอง นำทางให้การเมืองอัฟกานิสถานเข้มแข็ง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีคนหลากหลายมากกว่านี้ เพื่อให้ตาลีบันสามารถตัดขาดจากกลุ่มก่อการร้ายได้อย่างสิ้นเชิง

แถมท้ายด้วยการบอกว่า สหรัฐฯและชาติตะวันตกต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และสหรัฐฯ คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานมากกว่าประเทศอื่น ๆ

หลังการประชุมของจีน ในวันนี้โฆษกตาลีบันออกมาให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน ย้ำอีกครั้งถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับรัฐบาลตาลีบัน โดยระบุว่า จีนคือพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของตาลีบันในการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน

ในขณะที่จีนเดินเกมชัดเจน ท่าทีของชาติตะวันตกยังเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ยังไม่กล้าประกาศรับรองเนื่องจากความสัมพันธ์ของตาลีบันกับกลุ่มที่ชาติตะวันตกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่จะถอยห่าง ไม่สนใจเลยก็ไม่ได้ เพราะจะเสียผลประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในเอเชียกลางไป เพราะเรื่องของอัฟกานิสถานเป็นประเด็นการเมืองภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม แต่ความยุ่งยากไม่ใช่อยู่แต่เฉพาะสหรัฐฯ หรือชาติตะวันตกเท่านั้น มีการวิเคราะห์ว่า ทางกลุ่มตาลีบันเองก็มีความยุ่งยากเช่นเดียวกัน กับการเปลี่ยนสภาพของกองกำลังให้มาเป็นรัฐบาลซึ่งต้องอาศัยทักษะอีกแบบหนึ่ง มีความพยายามนำคนกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมรัฐบาล และเพื่อให้หน้าตาของรัฐบาลเป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับการคัดค้านภายในกลุ่ม โดยเฉพาะปีกที่มีความคิดสุดโต่ง

สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ในกลุ่มตาลีบันที่มีตั้งแต่กลุ่มสายกลางจนถึงกลุ่มสุดโต่ง ที่ประกาศไม่ยอมแบ่งอำนาจกับกลุ่มอื่นๆ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิเสรีภาพกับผู้หญิง จึงเป็นที่มาของการแต่งตั้ง

เป็นความยุ่งยากที่ต้องจัดการให้ได้ เพราะอัฟกานิสถานในวันนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างมาก หลักฐานอย่างหนึ่งคือ การลุกขึ้นมาประท้วงของผู้หญิง ซึ่งภาพแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นในคราวที่ตาลีบันปกครองประเทศเมื่อปี 1996 การประท้วงของผู้หญิงเกิดขึ้นแบบประปรายตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ตาลีบันยึดคาบูลได้แล้ว แต่ก็เริ่มใหญ่ขึ้นและมีคนมาร่วมมากขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

 

ผู้หญิงออกมาประท้วงตาลีบัน เพิ่มกฎใหม่ห้ามเล่นกีฬา

เช่น ในกรุงคาบูล ผู้หญิงหลายร้อยคนออกมาประท้วงตามท้องถนน เรียกร้องให้ตาลีบันรักษาสัญญาว่าจะคงสิทธิเสรีภาพของพวกเธอในการทำงานและการศึกษาเอาไว้ เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้หญิงที่ออกมาไม่กลัวกับการเผชิญหน้ากับกองกำลังตาลีบันที่มีอาวุธ และมีความวุ่นวายเกิดขึ้นเนื่องจากกองกำลังตาลีบันยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่

แต่การประท้วงก็ยังมีให้เห็นต่อ นี่คือภาพการประท้วงของผู้หญิงในเมืองมาซาร์ ไอชาราฟ ในจังหวัดบัลช์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ พวกเธอออกมาเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง ทั้งส่วนร่วมขั้นพื้นฐานคือ สิทธิในการเลือกตั้งหรือเลือกผู้นำด้วยตัวเอง ร่วมถึงสิทธิและส่วนร่วมในรัฐบาล

พวกเธอไม่กลัวที่จะเปิดหน้าให้สัมภาษณ์ ที่บางคนบอกว่า โฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ตาลีบันที่มีเฉพาะผู้ชายกลุ่มอำนาจเดิม เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

การออกมาประท้วงเช่นนี้มีความเสี่ยงอย่างมาก  ก่อนหน้านี้ปรากฏภาพของผู้ประท้วงวิ่งหนีกันอุตลุด เพราะจู่ ๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้น ล่าสุดมีภาพใหม่เผยออกมา แสดงให้เห็นว่า สมาชิกตาลีบันจ่อปลายกระบอกปืนไปยังผู้ประท้วงที่เป็นผู้หญิง

ความพยายามในการควบคุมประชาชนและสยบเสียงประท้วงด้วยอาวุธปืนไม่ใช่ทั้งหมด เพราะล่าสุด เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีรายงานว่าตาลีบันประกาศกฎใหม่ ห้ามไม่ให้ประชาชนนำป้ายต่าง ๆ ที่ยังไม่ผ่านการตรวจรับรองโดยรัฐบาลออกมาประท้วง รวมถึงการลงถนนประท้วงใด ๆ ก็ต้องขออนุญาตทางการก่อนด้วย ในวันเดียวกันยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับผู้หญิงประกาศเพิ่ม

ก่อนหน้านี้ตาลีบันระบุว่า ให้ผู้หญิงเข้าเรียนได้ แต่มีเงื่อนไขคือที่นั่งต้องแบ่งแยกระหว่างสองเพศ มีม่านกั้น และหากเป็นคลาสที่มีแต่นักเรียนหญิงก็ควรจะสอนโดยอาจารย์ที่เป็นผู้หญิง หรืออนุโลมให้สอนโดยชายอาวุโสที่มีความประพฤติดีได้

เงื่อนไขทั้งหมดนี้เกิดขึ้น โดยที่ผู้เรียนที่เป็นผู้หญิงต้องคลุมฮิญาบ นิกอบ หรือบุรกา ใด ๆ ก็ตามให้ดูเรียบร้อย

ล่าสุดตาลีบันระบุว่า พวกเขาประกาศแบนผู้หญิงจากการเล่นคริกเกต และกีฬาอื่น ๆ ทุกชนิด คำประกาศมาจาก อาห์มาดุลเลาะห์ วาซิก คณะกรรมการด้านวัฒนธรรมของตาลีบัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว SBS ของออสเตรเลีย โดยให้เหตุผลว่า การเล่นกีฬาจะทำให้ผู้หญิงเปิดเผยเนื้อหนัง และแต่งกายไม่เหมาะสมกับกฎอิสลาม

นับเป็นเงื่อนไขใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อควบคุมผู้หญิง ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ในอัฟกานิสถานต่อว่า ข้อกำหนดนี้จะยิ่งทำให้ผู้คนออกมาประท้วงตาลีบันกันมากขึ้นหรือไม่

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ