“พันธมิตรเรือดำน้ำ” ช่วยเสริมอธิปไตยไต้หวัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในขณะที่ชาติตะวันตกกำลังมีวิกฤตความสัมพันธ์หลังจากข้อตกลง ออคัส แต่ ไต้หวัน น่าจะยินดีที่สุดกับความร่วมมือครั้งนี้ เพราะตั้งแต่ต้นปี จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อไต้หวัน และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จีนเพิ่งจะส่งเครื่องบินรบหลายลำเข้ามาใกล้เกาะ ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาคำขอของไต้หวันเพื่อให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานร่วมของจีนกับไต้หวันในกรุงวอชิงตันดีซี ให้เป็นชื่อที่แสดงความเป็นเอกเทศมากขึ้น

จีน ประณาม สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ร่วมสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ชี้นำโลกกลับสงครามเย็น

จีนส่งเครื่องบินรบยั่วยุไต้หวัน ไม่พอใจสานสัมพันธ์สหรัฐฯ

สหรัฐฯ-อังกฤษ ช่วยสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ให้ออสเตรเลีย หวังต่อกร จีน

เป็นคำขอที่ยิ่งเพิ่มเติมความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีน ที่มีมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่ไต้หวันจะยินดีกับกิจกรรมทางการใด ๆ ในภูมิภาคที่จะเป็นการปกป้องอธิปไตยไต้หวัน รวมถึงความร่วมมือออคัส ที่ในท้ายที่สุดหนึ่งในประเทศสมาชิกอินโดแปซิฟิกก็จะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไว้ต่อกรกับจีน

ระหว่างจีนกับไต้หวัน ความตึงเครียดมีมาโดยตลอด สาเหตุหลักมาจากเรื่องเดียวคือ สถานะของไต้หวัน สำหรับจีน ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน  

“จีนจะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และไต้หวันจะกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของจีนอีกครั้ง”

คำประกาศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเมื่อต้นปี 2019 สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนที่ชัดเจนและแน่วแน่ของจีน

 

แต่ไต้หวันไม่ได้คิดแบบจีน สำหรับไต้หวัน ที่นี่คือรัฐที่ดำรงฐานะเป็นอิสระที่มีกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นของตนเอง ความพยายามของไต้หวันในการเป็นเอกเทศจากจีนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และความพยายามล่าสุด คือ การร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปลี่ยนชื่อสำนักงานคณะทูตในกรุงวอชิงตันดีซี จากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป หรือ Tecro เป็นสำนักงานชาติไต้หวัน

สำหรับจีน คือ การหยามเกียรติ เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาแถลงทันทีว่า สหรัฐฯ ต้องเลิกยุ่งเกี่ยวและตัดสายสัมพันธ์กับไต้หวัน สหรัฐฯ ต้องไม่ทำตามคำขอของไต้หวันในการเปลี่ยนชื่อสำนักงาน หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการยกระดับไต้หวัน เพราะคือการละเมิดนโยบายจีนเดียวที่สหรัฐฯ สัญญากับจีนไว้

นโยบายจีนเดียวเป็นผลพวงของสงครามกลางเมืองในจีนที่สิ้นสุดเมื่อปี 1949 ในคราวนั้นจีนคณะชาติที่นำโดย เจียงไคเช็ก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ถอยหนีพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงมายึดไต้หวันเป็นที่มั่น แรกเริ่มไต้หวันปกครองแบบพรรคเดียว ก่อนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังพรรคก๊กมินตั๋งยกเลิกกฏอัยการศึกในปี 1987 จากนั้นก็เร่งพัฒนาเศรษฐกิจจนรุดหน้า เพื่อเป็นป้อมปราการในการปกป้องตัวเอ งเนื่องจากขณะนั้นมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐฯ เปลี่ยนยุทธศาสตร์ความมั่นคง

ปี 1972 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เยือนจีนอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งของความพยายามถ่วงดุลอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น การเยือนครั้งนั้นเปิดทางไปสู่การเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 1979 และในปีเดียวกันสหรัฐฯ ได้ตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน เป็นที่มาของนโยบายจีนเดียว

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้คงความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการกับไต้หวันไว้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งที่ผ่านมาถูกใช้เป็นหน่วยงานทำการค้ารวมถึงการค้าอาวุธ

แต่ผ่านไป 40 กว่าปี ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ในแถบนี้เปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มร้าวฉาน ในขณะที่สัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันแนบแน่นขึ้น ในวันนี้เมื่อไต้หวันต้องการยกระดับสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปให้ขึ้นมาเป็นสำนักงานชาติไต้หวัน สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เป็นที่มาของความไม่พอใจ ที่จีนแสดงออกด้วยการส่งเครื่องบินรบเข้ามาในไต้หวัน

 

วันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา กระทวงกลาโหมไต้หวัน ระบุว่า จีนส่งฝูงเครื่องบินขับไล่ J-16 และเครื่องบินทิ้งระเบิด รุ่น H-6 ซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ จำนวน 4 ลำ รวมทั้งเครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำบินใกล้กับไต้หวัน

ฝ่ายไต้หวัน ได้ตอบโต้กลับด้วยการระดมเครื่องบินรบขึ้นเตือนและไล่ออกไปพร้อมกับเปิดระบบขีปนาวุธคอยติดตามสถานการณ์

วันถัดมา กระทรวงกลาโหมไต้หวัน ประกาศเพิ่มงบประมาณจัดซื้ออาวุธมูลค่า 9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือประมาณ 280,000 ล้านบาท เพื่อรับมือกับสิ่งที่ไต้หวันเรียกว่า ภัยคุกคามของศัตรูที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนไป

จากนั้นในวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ไต้หวันแสดงศักยภาพของกองทัพในการซ้อมรบประจำปี โดยมีภาพของประธานาธิบดีหญิงไช่ อิง เหวินในชุดทหารร่วมสังเกตการณ์ การฝึกซ้อมรบของไต้หวันมีมีการจำลองสถานการณ์ในบริบท "การถูกรุกราน" โดยเฉาพหากเกิดเหตุการณ์ที่จีนบุกโจมตีฐานทัพอากาศ เครื่องบินที่เข้าร่วมในการซ้อมมีทั้ง F-16 ของสหรัฐฯ และเครื่องบิน IDF ที่ไต้หวันผลิตเอง มีการจำลองสถานการณ์ให้เครื่องบินลงจอดบนทางหลวงเพื่อใช้ในกรณีที่รันเวย์ไม่สามารถใช้การได้

เหล่านี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย จะจับมือร่วมกันสร้างความมั่นคงในภูมิภาคในนามของข้อตกลง ออคัส ถึงแม้ข้อตกลงนี้กำลังสร้างความเดือดดาลให้กับฝรั่งเศส เพราะทำให้ออสเตรเลียยกเลิกสัญญาการซื้อเรือดำน้ำของตนและหันไปใช้เทคโนโลยีของสหรัฐแทน

ความสัมพันธ์ของชาติตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐและฝรั่งเศสกำลังอยู่ในระดับต่ำสุด แต่สำหรับไต้หวัน นี่คือการเพิ่มความมั่นคงให้อธิปไตยของเกาะ เพราะท่ามกลางภัยคุกคามจากจีน เรือดำน้ำนิวเคลียร์ ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ อาจทำให้จีนต้องคิดถี่ถ้วนมากกว่าเดิม ก่อนจะดำเนินนโยบายกดดัน หรือกีดกันไต้หวันในด้านต่าง ๆ ดังที่เคยทำมา

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ