
ญี่ปุ่นพบเคสประหลาด หายป่วยโควิด-19 เกิด “ภาวะทวารหนักอยู่ไม่สุข”
เผยแพร่
นักวิทย์ญี่ปุ่นรายงานพบอดีตผู้ป่วยโควิด-19 เกิด “ภาวะทวารหนักอยู่ไม่สุข (Restless Anal Syndrome)” คาดมีความเกี่ยวข้องกับโควิด-19
วารสารโรคติดเชื้อบีเอ็มซีได้เผยแพร่ข่าวสารว่า นักวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่นพบอดีตผู้ป่วยโควิด-19 เกิด “ภาวะทวารหนักอยู่ไม่สุข (Restless Anal Syndrome)” โดยผลเบื้องต้นระบุว่า ภาวะนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับโควิด-19
นักวิทยาศาสตร์รายงานว่า ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวมีอายุ 77 ปี มีอาการนอนไม่หลับและวิตกกังวลขณะติดเชื้อโควิด-19 และหลายสัปดาห์หลังหลายป่วย กลับเริ่มมีอาการไม่สบายและกระสับกระส่ายที่บริเวณทวารหนัก โดยผู้ป่วยรู้สึกอยากเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หากหยุดพักไม่ขยับเขยื้อนร่างกายจะรู้สึกแย่ลง
นักวิจัยพบ เซลล์ตับอ่อนติดเชื้อโควิด-19 อาจเป็นสาเหตุ "โรคเบาหวาน"
“ไบเดน” ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 ที่ทำเนียบขาว
ไฟเซอร์เริ่มการทดสอบทางคลินิกเฟส 2/3 “ยาเม็ด” รักษาโควิด-19
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าโควิด-19 ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทนี้ได้อย่างไร แต่ที่ผ่านมาเคยมีรายงานพบผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 บางส่วนมีปัญหาทางระบบประสาท เช่น กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré) ภาวะสมองล้า (Brain Fog) และการรู้สึกเสียวซ่า
ภาวะทวารหนักอยู่ไม่สุขนี้เป็นอาการที่แตกย่อยมาจากกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ซึ่งก็พบในผู้ป่วยโควิด-19 เพียงไม่กี่ราย นี่จึงนับเป็นรายงานผู้ป่วยรายแรกที่มีอาการภาวะทวารหนักอยู่ไม่สุขที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
อดีตผู้ป่วยอายุ 77 ปีรายนี้จัดอยู่ในประเภทผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว โดยมีอาการเจ็บคอ ไอ และมีไข้ต่ำ และรักษาอาการปอดอักเสบเล็กน้อย นอนไม่หลับ และวิตกกังวล แม้ว่าระบบทางเดินหายใจของเขาจะกลับมาเป็นปกติ 21 วันหลังจากเข้ารับการรักษา แต่อาการนอนไม่หลับและความวิตกกังวลยังคงอยู่
หลายสัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล เขาเริ่มรู้สึกไม่สบายตัวบริเวณทวารหนัก ทั้งที่ไม่เคยรู้สึกไม่สบายเช่นนี้มาก่อนจนกระทั่งติดเชื้อโควิด-19 และหายป่วย
นักวิทยาศาสตร์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีภาวะทวารหนักอยู่ไม่สุขหลังจากพิจารณาว่าอาการของเขาตรงกับเกณฑ์สำหรับโรคนี้ และไม่พบสาเหตุอื่น ๆ ผู้ป่วยไม่พบความผอดปกติของกระเพาะปัสสาวะหรือทวารหนักหรือการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การทดสอบทางระบบประสาทไม่พบความผิดปกติ และผู้ป่วยไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคขาอยู่ไม่สุขหรือภาวะแขนขากระตุก
อาการของผู้อดีตป่วยโควิด-19 รายนี้บรรเทาลงหลังจากได้รับการรักษาทุกวันด้วยยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) 1.5 มก. ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการชักและโรคตื่นตระหนก
นักวิทยาศาสตร์เน้นว่า ผลกระทบทางระบบประสาทในระยะยาวจากโควิด-19 นั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และยังไม่ชัดเจนว่าโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร พวกเขาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบผลกระทบดังกล่าวในระยะยาวเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างครบถ้วนมากขึ้นเกี่ยวกับกลไกการเกิด
ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว นักวิจัยพบว่า แม้แต่ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากไวรัสโควิด-19 ก็ยังมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทตั้งแต่การอักเสบของสมอง อาการเพ้อ ไปจนถึงความเสียหายของเส้นประสาทและโรคหลอดเลือดสมอง
เรียบเรียงจาก BMC Infectious Diseases
ภาพจาก AFP
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline