จีน ส่งเครื่องบินรบลุกล้ำไต้หวัน เกือบ 150 ลำ ใน 4 วัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตั้งแต่ช่วงต้นปี จีนแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อไต้หวัน ทั้งแบนสินค้าทางการเกษตร แบนผลไม้หลายอย่าง ส่งผลให้เกษตรกรไต้หวันเดือดร้อนอย่างหนัก ด้าน “สี จิ้น ผิง” ออกมาประกาศในวันครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อต้น ก.ค. ว่า จีนจะขยี้ไต้หวันให้ย่อยยับหากคิดแยกตัวเป็นอิสระ ตามมาด้วยการส่งเครื่องบินรบเข้าเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวานนี้ (4 ต.ค.64) ส่งเครื่องบินรบเข้ามา 56 ลำ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่เคยตรวจพบ

จีนจัดโชว์ชุดใหญ่ อวดโฉมยานรบ-โดรน-เครื่องบินขับไล่ล่องหนสุดล้ำ

จีน ประณาม สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ร่วมสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ชี้นำโลกกลับสงครามเย็น

กระทรวงกลาโหมของไต้หวันแถลงว่า เครื่องบินรบของจีนจำนวน 56 ลำ ได้รุกล้ำเข้าเขต ADIZ ซึ่งเป็นเขตแสดงตนป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันเมื่อวานนี้  รายละเอียดของแถลงการณ์นี้ระบุว่า เครื่องบินรบจีนที่ปรากฏตัวในน่านฟ้าของไต้หวันในคราวนี้มีอากาศยานศักยภาพสูงหลายประเภท เช่น  เครื่องบินขับไล่ไอพ่น J-16 จำนวน 34 ลำ  เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น H-6 ที่มีความสามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์อีก 12 ลำ เครื่องบิน SU-30 จำนวน 2 ลำ รวมถึง เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ Y-8 จำนวน 2 ลำ

นับเป็นการรุกล้ำที่มีจำนวนเครื่องบินมากที่สุด นับตั้งแต่ไต้หวันเริ่มสังเกตพบความเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวจากจีนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว  โดยฝูงบินที่ประกอบไปด้วยอากาศยานรบทั้ง 56 ลำ บินอยู่บนเขต ADIZ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวัน

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นิยาม ADIZ หรือ Air Defense Identification Zone ว่า คือ “ขอบเขตน่านฟ้า (Airspace) ที่อากาศยานซึ่งเข้ามาในเขตจะต้องพร้อมแสดงตน และระบุตำแหน่งที่อยู่ เป็นเขตที่อยู่ใต้การควบคุมการบิน กรณีของไต้หวัน ได้มีการประกาศเขต ADIZ ขึ้นมา เพื่อแสดงเจตจำนงว่า เครื่องบินใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินพาณิชย์หรือเครื่องบินทหาร หากจะเข้าเขตนี้ต้องแสดงตน

สำหรับไต้หวัน ADIZ ถือเป็นเขตป้องกันภัยทางอากาศ อย่างไรก็ตามไม่ใช่เขตน่านฟ้า รัฐที่ประกาศไม่มีอำนาจอธิปไตยเหนือห้วงอากาศ เหมือนกับในดินแดนตัวเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ และยิ่งเป็นการประกาศจากเพียงไต้หวันแต่เพียงฝ่ายเดียว จีนจึงไม่เคยยอมรับเขตป้องกันภัยทางอากาศนี้เลย หลังตรวจจับเครื่องบินรบของจีนได้ กระทรวงกลาโหมของไต้หวันประกาศแจ้งเตือนทางวิทยุให้เครื่องบินเหล่านั้นหันลำกลับ และออกจากบริเวณ ADIZ ทันที ก่อนจะเตรียมพร้อม และประจำการระบบขีปนาวุธป้องกันทางอากาศ เพื่อเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของจีน

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของไต้หวันเปิดแถลงข่าว ระบุว่า ไต้หวันจำเป็นต้องยกระดับการป้องกันภัยสูงสุดเพื่อรับมือกับท่าทีที่แข็งกร้าวและการคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ของจีน

ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นพันธมิตรของไต้หวันได้ออกมาตำหนิการกระทำของจีนทันที กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ที่คัดค้านการที่จีนส่งเครื่องบินรบของตนเข้าไปบินในน่านฟ้าของไต้หวัน โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวทางการทหารนั้นมีแต่จะสั่นคลอนเสถียรภาพและทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดสูงยิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากนั้นโฆษกทำเนียบขาว เจน ชากี ก็ออกมาแถลงข่าว แสดงความเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อกิจกรรมทางการทหารของจีน โดยระบุว่านี่คือการยั่วยุที่จะทำให้ความมั่นคงของภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยง และขอให้จีนยุติการกระทำดังกล่าว

ในการแถลง โฆษกทำเนียบขาวระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้สนับสนุนไต้หวันทั้งทางด้านการค้าและการทหารเพื่อรักษาสันติภาพในภูมิภาค และสหรัฐยืนยันจะเดินแนวทางนี้ต่อไป

ทั้งนี้เป็นการประกาศชัด ๆ ว่า วอชิงตันจะปกป้องไต้หวัน แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ กับไต้หวันไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ หลังจากเมื่อปี 1979 สหรัฐฯตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน และเลือกเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งแทน

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าสหรัฐฯจะไม่ได้ยอมรับไต้หวันอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีกฎหมายกำหนด และรับรองให้สหรัฐฯช่วยเหลือไต้หวันป้องกันตนเองได้หากจำเป็น

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ย่ำแย่ลง สหรัฐฯเริ่มให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับไต้หวันมากขึ้น  โดยในปีที่แล้ว สหรัฐฯ ส่งมอบความช่วยเหลือทางการทหารมูลค่า 5,100 ล้านดอลลาร์ให้กับไทเป และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลไบเดนก็เพิ่งขายอาวุธล็อตใหญ่ให้ไต้หวัน แน่นอนทำให้จีนไม่พอใจ เพราะถือว่า สหรัฐฯแทรกแซงกิจการภายในของจีน แต่สหรัฐฯ ยืนยันว่า ที่ต้องทำเพราะมีพันธสัญญากับไต้หวัน และที่สำคัญเพื่อช่วยรักษาสันติภาพความมั่นคงในภูมิภาค

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีนต่อไต้หวัน เฉพาะทางการทหาร เพิ่งจะเข้าเดือนตุลาคมได้เพียง 4 วัน แต่จีนส่งเครื่องบินรบเข้ามาในเขต ADIZ ของไต้หวันแล้วจำนวน 149 ลำแล้ว

เมื่อวานนี้ 4 ตุลาคม จีนเครื่องบินรบ 56 ลำเข้ามา วัน 3 ตุลาคม พบเครื่องบินจากจีน 16 ลำ วันที่ 2 ตุลาคม ไต้หวันตรวจพบเครื่องบินรบจากกองทัพจีน 39 ลำรุกล้ำเข้ามา และวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันชาติจีน จีนส่งเครื่องบินรบเข้ามาใน ADIZ จำนวน 38 ลำ

ส่วนเดือนที่แล้วคือ เดือนกันยายน จีนก็มีการส่งเครื่องบินฝูงใหญ่เข้ามาเช่นดัน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 กันยายน ฝูงบินรบของกองทัพอากาศจีนจำนวน 24 ลำ รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ H-6 เข้าเขต ADIZ วนเวียนไปทั่วทางใต้ของไต้หวันก่อนที่จะบินกลับไปทางตะวันออก ถ้านับจากเดือนกันยายนที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา จีนส่งเครื่องบินเข้ามาใกล้กับไต้หวันทั้งหมด 814 ลำแล้ว

 

ไต้หวันทำอะไรบ้างกับการที่จีนส่งเครื่องบินเข้ามา

สิ่งที่ไต้หวันทำคือ ส่งเครื่องบินขึ้นไปสกัด สั่งให้ระบบต่อต้านมิสไซล์ทางอากาศเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว พร้อม ๆ กับปฏิบัติการด้านอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ในการซ้อมรบประจำปีของไต้หวันไต้หวัน มีการจำลองสถานการณ์ในบริบท "การถูกรุกราน” ด้วยการฝึกซ้อมของกองพลยานเกราะและการฝึกซ้อมของนำฝูงเครื่องบินขับไล่ลงจอดบนทางหลวง ก่อนจะการประกาศเพิ่มงบประมาณทางการทหารอีก 9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพไต้หวันได้เผยแพร่วิดีโอโปรโมทในเฟซบุ๊ก เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพในการป้องกันน่านฟ้าของตนเอง

ใจความท่อนหนึ่งในวิดีโอดังกล่าวระบุว่า เมื่อเผชิญกับการรุกรานและการยั่วยุจากศัตรูของเรา เราจะไม่ประณีประณอม ความตั้งใจในการป้องกันอธิปไตยของเรานั้นแน่วแน่

ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนรอบนี้เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังสหรัฐฯ ไฟเขียวขายอาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหม่ให้ไต้หวัน จีน และไต้หวัน คือ จุดร้อนของการเมืองในภูมิภาค ตั้งแต่จีน และไต้หวันแบ่งแยกกันในช่วงสงครามกลางเมืองในทศวรรษที่ 1940 รัฐบาลปักกิ่งยืนยันมาตลอกว่าจะนำเกาะไต้หวันกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของจีนให้ได้ในช่วงเวาใดเวลาหนึ่งและจะใช้กำลังหากจำเป็น

ขณะที่ไต้หวันไม่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน เพราะถือว่าตนเองมีการปกครอง การเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง รวมถึงกองทัพด้วย โดยไต้หวันมีทหารประจำการอยู่ราว 300,000 นาย

 

 

ญี่ปุ่นขอแก้ปัญหาไต้หวันแบบสันติ จับตาท่าทีผู้นำใหม่

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวันที่ร้อนระอุขึ้น มีเสียงจากอีกชาติสำคัญที่มีบทบาทในภูมิภาค นั่นคือ ญี่ปุ่น ประเทศที่เพิ่งจะมีผู้นำคนใหม่

โทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นจีน-ไต้หวันว่า ญี่ปุ่นคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาทางออกอย่างสันติได้

อย่างไรก็ตามทางญี่ปุ่นจะจับตาความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายต่อไป พร้อมระบุว่า การจัดการภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะสามารถเสริมความสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

โทชิมิตสึ โมเตกิ กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่

คิชิดะ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งจุดยืนของตัวเขาต่อจีนนั้น คิชิดะ เคยระบุว่า ญี่ปุ่นจะยังคงเจรจาทางการค้ากับประเทศจีนต่อไป อย่างไรก็ตามผู้นำคนใหม่ยืนยันว่า ญี่ปุ่นต้องเปล่งเสียงต่อความพยายามของจีนในการขยายอิทธิพลครอบครองทะเลจีนใต้

ต้องติดตามกันต่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นภายใต้ผู้นำคนใหม่ต่อจีนจะเป็นอย่างไร

หลังที่ผ่านมา ภายใต้การนำของโยชิฮิเดะ ซูงะ อดีตนายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนไม่ค่อยดีนัก เนื่องจาก ซูงะ สนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยย้ำ

นอกจากนั้นเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็เพิ่งจะแสดงท่าทีต้อนรับ ที่ไต้หวันต้องกาเข้าร่วมกับ ข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ CPTPP

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ