อดีตพนง.แฉ เฟซบุ๊กทำร้ายผู้คน ไม่สนสังคมเท่าผลกำไร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ระเบิดลูกใหญ่ถล่มใส่ บ.เฟซบุ๊ก หลังอดีตพนักงานออกมาแฉว่า ใช้อัลกอริทึมสนับสนุนความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างผลกำไร ข่าวล่าสุดเกิดขึ้นหลังเฟซบุ๊กเพิ่งเผชิญกับปัญหาระบบล่ม และอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทั้ง สว.รีพับลิกัน และเดโมแครต เห็นตรงกันว่า ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

อดีตลูกจ้างชี้ "เฟซบุ๊ก" เป็นอันตราย

ไม่ใช่ครั้งแรก รวมเหตุ “เฟซบุ๊กล่ม” เคยใช้งานไม่ได้เกือบ 1 วันเต็ม

เมื่อคืนที่ที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐอเมริกา ฟรานเซส ฮอแกน อดีตผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์ของบริษัทเฟซบุ๊กขึ้นให้การต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของวุฒิสภาสหรัฐฯ คำให้การของเธอเสมือนการโยนระเบิดใส่ โซเชียลมีเดีย ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก โดยฟรานเชส ระบุว่า บริษัทเฟซบุ๊กได้ทำร้ายผู้คนมากมาย และสร้างความแตกแยก ผ่านอัลกอริทึมที่เฟซบุ๊กเริ่มใช้เมื่อปี 2018 โดยอัลกอริทึมนี้จะคัดกรองเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง หรือ Hate Speech เพื่อให้ผู้ใช้เห็นในฟีด

ฟรานเชส ระบุอีกว่า เหตุผลที่เฟซบุ๊กคัดกรองเนื้อหาเหล่านี้ให้ผู้ใช้เนื่องจากพบว่า เป็นเนื้อหาที่กระตุ้นให้ผู้ใช้รู้สึกโกรธ และเมื่อรู้สึกโกรธ พวกเขาก็จะใช้เวลาอยู่ในเฟซบุ๊กนานกว่าเนื้อหาที่ให้ความรู้สึกกลางๆ

สิ่งที่ฟรานเซส ฮอแกน ให้ข้อมูล สวนทางกับนโยบายของเฟซบุ๊กที่ย้ำมาตลอดว่า พวกเขาพยายามสร้างสังคมที่ปราศจากความเกลียดชัง การแบ่งแยก และการเลือกปฏิบัติ

คำให้การในสภาของอดีตผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์ของบริษัทเฟซบุ๊กเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมง หลังรายการ 60 Minutes ของช่อง CBS เพิ่งจะเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของเธอในประเด็นเดียวกัน  และเกิดขึ้นหลังเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพิ่งจะเผชิญกับปัญหาระบบล่มไปนานหลายชั่วโมง รวมถึงอินสตาแกรม และวอทแอพก็ล่มเช่นกัน

ตัวอย่างที่ฟรานเซส ฮอแกน ยกขึ้นมากล่าวสนับสนุนข้อกล่าวหาของเธอที่มีต่อเฟซบุ๊กคือ กรณีการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด โดยระบุว่า หลังผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนชี้ว่า โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะ เฟซบุ๊กกลับปิดระบบ Safeguards Designed เพื่อเอื้อให้ข้อมูล ตลอดจนข่าวปลอมแพร่กระจายบนโลกออนไลน์ พร้อมมองว่า สิ่งที่เฟซบุ๊กทำ จุดให้เกิดเหตุม็อบผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้ารัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา

ส่วนกรณีการสนับสนุน Hate Speech ที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีชาวโรฮิงญา  ทหารเมียนมาปราบปรามและไล่ประหัตประหารชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ส่งผลให้เกิดคลื่นผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลถึง 700,000 คน หนีไปยังบังกลาเทศเพื่อนบ้าน ปี 2018 ผู้สอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติชี้ว่า เฟซบุ๊กมีส่วนช่วยในการเผยแพร่ข้อความและเนื้อหาแสดงความเกลียดชัง ซึ่งนำไปสู่การเกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้เฟซบุ๊กเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ Hate Speech ที่ผู้ใช้มุ่งเป้าไปที่ชาวโรฮิงญา เพื่อใช้ในการดำเนินคดีกับทางการเมียนมา ในข้อกล่าวหาว่า การกวาดล้างดังกล่าวเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กยังไม่ได้ส่งข้อมูลให้ โดยอ้างว่าต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

 

ข้อมูลล่าสุดที่ถูกนำมาเปิดเผยนี้ บรรดาสื่อมวลชนและสังคมอเมริกันให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลจากคนวงใน ฟรานเซส ฮอแกน ไม่เพียงมีความเชี่ยวชาญ หากยังเคยทำงานให้กับเฟซบุ๊ก และเธอกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะรู้สึกเจ็บปวดกับนโยบายของเฟซบุ๊กที่กำลังทำร้ายผู้คน

ปัจจุบันฟรานเซส ฮอแกน อายุ 37 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Data จากรัฐไอโอวา และจบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยโอลิน รัฐแมสซาชูเซตส์ รวมถึงมีวุฒิปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มีประสบการณ์ในบริษัทเทคโนโลยีมาแล้ว 15 ปี เคยทำงานให้บริษัทกูเกิล, พินเทอเรส และแอพพลิเคชัน เยลป ส่วนเฟซบุ๊ก เคยมีประสบการณ์เป็นอดีตผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์นาน 2 ปี

นอกจากนั้นฟรานเซส ฮอแกน ยังกล่าวอ้างถึงแพลตฟอร์มอินสตาแกรม ที่ปัจจุบันเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของว่า กำลังทำให้เด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กสาวรู้สึกไม่พึงพอใจกับรูปร่างของตัวเองมากยิ่งขึ้น  ซึ่งทั้งหมดเป็นความตั้งใจเพื่อผลกำไร และขยายจำนวนผู้ใช้ให้มากขึ้น พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาเข้าปกป้องผู้คน รวมถึงควบคุมเฟซบุ๊ก

สว. ทั้งฝั่งรีพับลิกันและเดโมแครตก็เห็นตรงกันว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทั้งสองพรรคต้องร่วมมือกัน ซึ่ง ริชาร์ด บลูเมนธัล สว. จากพรรคเดโมแครต ระบุว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะตรวจสอบประเด็นนี้ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง เฟซบุ๊กจะเผชิญกับบทลงโทษ

โซเชียลมีเดีย ทำให้คนเสพติดไม่ต่างจากเหล้า บุหรี่

นอกเหนือจากการใช้อัลกอริทึมและนโยบายที่ส่งเสริมความเกลียดชังและสร้างความแตกแยกแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เฟซบุ๊กถูกพิจารณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้ใช้เสพติด ไม่ต่างจากเหล้าและบุหรี่ การเปรียบเทียบนี้มาจากคำกล่าวของ ริชาร์ด บลูเมนธัล สว. จากพรรคเดโมแครต และประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับการเสพติดโซเชียลมีเดีย

 

ทำไมคนเราจึงเสพติดโซเชียลมีเดีย?

มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า สมองของคนที่เสพติดโซเชียลมีเดียไม่ต่างจากสมองของผู้ที่ติดยาเสพติด หนึ่งในทฤษฎีที่น่าสนใจระบุว่า โซเชียลมีเดียวเกี่ยวข้องกับระบบการให้รางวัลของสมอง ที่วิวัฒนาการขึ้นเพื่อให้มนุษย์แสวงหาทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด  โซเชียลมีเดียช่วยให้ผู้ใช้สุขใจจากสารโดปามีนที่ร่างกายหลั่งออกมา ยิ่งพึงพอใจ ผู้คนก็ยิ่งเสพติดมากขึ้น ผลที่ได้จึงเป็นภาพของ ผู้ใช้ที่ไถเฟซบุ๊กอย่างไร้จุดหมายวันละสิบนาทีไปจนถึงหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากสมองต้องการสิ่งที่ได้จากการไถเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตามยังไม่ชัดเจนว่า การเสพติดโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เพราะโซเชียลมีเดียไม่เหมือนกับบุหรี่หรือสารเสพติด แต่ที่ชัดเจนคือส่งผลต่อสภาพจิตใจ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ซึ่งจุดนี้ ฟรานเซส ฮอแกน ชี้ว่า อายุขั้นต่ำของผู้ใช้อินสตาแกรมควรอยู่ที่ 16 หรือ 18 ปี ไม่ใช่ 13 ปี เนื่องจากมีข้อมูลวิจัยในกลุ่มเด็กสาวระบุว่า ร้อยละ 13 มองว่า อินสตาแกรมมีส่วนให้เกิดการฆ่าตัวตาย รวมถึงอีกร้อยละ 17 ระบุว่า รูปภาพในอินสตาแกรมกระตุ้นให้เกิดนิสัยที่ไม่ดีต่อการกิน และนำมาสู่โรคอื่นๆ

ประเด็นอินสตาแกรมส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กวัยรุ่นกำลังเป็นที่พูดถึงในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพิ่งจะระงับแพลตฟอร์ม อินสตาแกรมสำหรับเด็กที่กำหนดมาเพื่อผู้ใช้อายุ 10-12 ปีโดยเฉพาะ  โดยคาดว่าที่ต้องระงับ เพราะเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าว The Wall Street Journal เพิ่งจะเผยแพร่บทความงานวิจัยที่ระบุว่า แพลตฟอร์มอินสตาแกรมก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพจิตใจของวัยรุ่น โดยเฉพาะบรรดาเด็กสาว

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ