ถอดรหัส “Squid Game” สื่อบันเทิงที่ตีแผ่ด้านมืดมนุษย์และสังคมเกาหลีใต้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเกาหลีศึกษา ถึงแนวคิดเบื้องหลัง และกระแสที่เกิดขึ้นจากซีรีส์ดังระดับโลกอย่าง “Squid Game”

Squid Game (สควิดเกม)” ซีรีส์เกาหลีทางเน็ตฟลิกซ์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ทุบสถิติซีรีส์ยอดผู้เข้าชมสูงสุดของเน็ตฟลิกซ์ ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น ระทึกใจ สะท้อนสังคม ทำให้มีบทวิเคราะห์ออกมาไม่น้อย

รายการ “เรื่องใหญ่” พูดคุยกับ ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยศึกษาอยู่ที่เกาหลีใต้หลายปี มีผลงานแปลวรรณกรรม “แดจังกึม” และเป็นล่ามให้นายกฯ เมื่อครั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้มาเยือน ถึงกระแสเกี่ยวกับ Squid Game

กระแสซีรีส์ “Squid Game” ทำต่างชาติแห่เรียนภาษาเกาหลี

"นักวิจารณ์หนัง"มอง ซีรี่ย์ดัง Squid Game กล้าตีแผ่สังคม

ส่องความสำเร็จ "Squid Game" แรงส่งซีรีส์เกาหลีให้คนทั่วโลกรู้จักมากขึ้น  

Squid Game ประสบความสำเร็จ เพราะเสียดสีความเป็นจริงในสังคม

ดร.ไพบูลย์บอกว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์แรกที่โลกพูดถึงเกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้ภาพยนตร์เรื่อง “ปรสิต (Parasite)” ซึ่งได้รับรางวัลระดับโลก ก็เคยเป็นที่ชื่นชมของทั้งโลกมาแล้ว ยังไม่นับวงการเพลงเคป็อป หรือกระทั่งกระแส ลิซ่า Black Pink เหล่านี้ล้วนเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่เกาหลีใต้โยนออกมาแล้วสร้างกระแสไปทั้งโลก

Squid Game เป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวของคน 456 ที่มีปัญหาเรื่อง “หนี้สิน” ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ครู สถาปนิก มาเฟีย หรือแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มที่มีอยู่จริงในสังคมเกาหลีใต้ เป็นกลุ่มคนที่ฉากหน้าอาจดูดีแต่จริง ๆ ชีวิตเขาเต็มไปด้วยภารความกดดัน

ซีรีส์หยิบยกเอาตัวละครเหล่านี้มาเดินเรื่อง โดยเล่าถึงคนที่มีหนี้สินเหล่านี้ได้รับข้อเสนอให้มาเล่นเกมอันตราย ทุกครั้งที่มีคนเสียชีวิต ยอดเงินเดิมพันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีเพียงผู้เล่นคนสุดท้ายเท่านั้นที่จะได้รบเงินทั้งหมด 4.56 หมื่นล้านวอน (ราว 1.3 พันล้านบาท) ไป

“จุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้นอกจากความตื่นเต้น มันยังเอาชีวิตจริงมาบอกเพราะว่า พระเอกตัวเดินเรื่องคนสุดท้ายหมายเลข 456 เมื่อเข้าไปเล่นเกม เขาเจอเพื่อนเก่า มีสามีที่มาเจอภรรยา มีญาติ ๆ มาเจอกันแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกคนต้องการเงิน 4 หมื่นล้านวอน ต้องการจะเป็นที่หนึ่ง ฉะนั้นในเรื่องราวจะมีทั้งการร่วมมือกันกำจัดคนอื่น พอถึงที่สุดแล้วก็เหลือพระเอกกับเพื่อนรัก จะต้องฆ่ากัน ไม่งั้นตัวเองจะไม่ได้เงิน นั่นหมายความว่าทุกคนพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของตัวเอง ฉะนั้นถ้าจะถามผม ผมว่าตัวละครทุกตัวมันเป็นตัวสะท้อนอาชีพของคนเกาหลี อันนี้มันอาจจะเป็นปรากฏการณ์ว่า สังคมเกาหลีกำลังบีบคนให้เป็นแบบนี้หรือเปล่า” ดร.ไพบูลย์กล่าว

ประธานศูนย์เกาหลีศึกษาเล่าว่า เกาหลีใต้เพิ่งเติบโตขึ้นมาไม่ถึง 50 ปี เกาหลีใต้เพิ่งพ้นจากภาวะสงครามประมาณยุคปี 1950-1960 เป็นยุคที่เกาหลียับเยินจากสงคราม แล้วเกาหลีใต้พยายามที่จะดำเนินนโยบายให้คนทำงานหนักโดยให้ค่าแรงต่ำ ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ฉะนั้นเกาหลีใต้ดำเนินนโยบายค่าแรงต่ำมาโดยตลอด 30 ปี

มาถึงยุคปี 2000 เกาหลีใต้เริ่มมองว่า นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตแล้วอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจะรุ่ง อุตสาหกรรมบันเทิง ฉะนั้นกฎหมายเกาหลีใต้เพิ่งจะมาเปลี่ยนจากการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ให้เหลือ 5 วันไม่นานมานี้ เพราะต้องการให้คนไปใช้จ่ายเงิน ไปดูหนัง ไปดูเคป็อป

“อย่างไรก็ดี สังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมที่เน้นความสำเร็จ ปัจจุบันเกาหลีใต้จะบอกว่า เราทุกคนเท่ากันหมด แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เท่ากัน เพราะว่าความสำเร็จต่างหากที่เป็นตัวชี้วัด” ดร.ไพบูลย์บอก

เขาเล่าต่อว่า การแข่งขันในเกาหลีใต้มีมาตั้งแต่ระดับประถม ต้องสอบเข้าโรงเรียนที่ดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี จบมาก็ต้องไต่เต้าเข้าไปสู่บริษัทใหญ่ ๆ ในระดับ Top 10 เช่น ฮุนได ซัมซุง ฉะนั้นทุกวิชาชีพเราจะต้องพร้อมที่จะเหยียบคนอื่นอยู่เสมอ

ดังนั้นเกาหลีใต้จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการซ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก หรือแม้แต่ในวงการบันเทิงเอง การจะเป็นศิลปินได้อย่าง ลิซ่า Black Pink จะต้องก้าวข้ามคู่แข่งหลายร้อยหลายพันคนกว่าจะประสบความสำเร็จ เส้นทางความสำเร็จของคนในเกาหลีใต้ในว่าจะในแวดวงใดก็ตาม รายทางจะเต็มไปด้วยคนที่พ่ายแพ้

ซีรีส์ Squid Game ซึ่งเป็นเกมเอาชีวิตรอดเพื่อชิงเงินรางวัล มีคนตายมากมายระหว่างการแข่งขัน จึงเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่นำมาตีแผ่ถึงการแข่งขันเอาชีวิตรอดของชาวเกาหลีใต้

ข้อสังเกตหนึ่งคือ ซีรีส์ Squid Game ไม่ได้โด่งดังจากการสอดแทรกวัฒนธรรมเกาหลีจ๋า ๆ มากขนาดนั้น แต่โด่งดังเพราะมีแก่นของ “สัจธรรมที่เป็นจริงในโลกสากล” คือเรื่องของ “ความไม่เท่าเทียม” “ความเป็นมนุษย์”

ดร.ไพบูลย์บอกว่า “ซีรีส์คือภาพความโหดร้ายในสังคมเกาหลีใต้ สื่อเกาหลีมีความน่าตื่นเต้นเหมือนกับที่หนังไทยหรือฮอลลีวูดทำได้เหมือนกันหมด แต่สิ่งที่เกาหลีทำคือ มันเอาชีวิตของคนธรรมดา ความจริงที่เป็นสากล ความเป็นมนุษย์เรา มาชำแหละตีแผ่” จึงเข้าถึงใจคนได้ง่าย

เกาหลีใต้ทำได้ ไทยทำไม่ได้

ประธานศูนย์เกาหลีศึกษาเล่าว่า สังคมเกาหลีใต้มีเสรีภาพทางด้านสื่อบันเทิงมาก “วงการบันเทิงเกาหลีมาถึงจุดนี้ได้คือผู้กำกับหรือคนบันเทิงเขาอ่านธรรมชาติของมนุษย์ขาด แล้วเขาดึงมิติพวกนี้ดึงเรื่องพวกนี้มาขยาย ประเทศอื่นสังคมอื่นก็มีปัญหาอย่างนี้เหมือนกัน มันคือจิตของมนุษย์ มันคือด้านมืดของมนุษย์ เราพร้อมที่จะร่วมมือกับเพื่อนเพื่อทำลายกลุ่มอื่น เราพร้อมรวมกันทั้งประเทศเพื่อทำลายประเทศเพื่อนบ้าน มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามว่าใครเป็นมิตรหรือใครเป็นศัตรู”

ดร.ไพบูลย์มองว่า หลักหนึ่งของผู้สร้างสรรค์ซีรีส์ Squid Game น่าจะต้องการสะท้อนสังคม ยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่เล่าถึงกลโกงของผู้พิพากษา หรือตำรวจชั่ว ซึ่งหากเป็นในประเทศไทยอาจจะไม่ได้ฉาย

ที่เกาหลีใต้ตีแผ่ด้านมืดของทุกสถาบันผ่านสื่อได้อย่างนี้ เกิดจากการ “ปลดล็อก” ใน 2 ด้าน

หนึ่งคือ “ปลดล็อกกฎหมาย” เกาหลีใต้รองรับเสรีภาพการแสดงออกเท่าที่ไม่ละเมิดคนอื่น ฉะนั้นสื่อบันเทิงทุกอย่างของเกาหลีใต้จะถูกเซ็นเซอร์เป็นไปได้ยากมาก

โดยสื่อบันเทิงเกาหลีใต้ในยุคของรัฐบาลทหารยุค 1980-1990 ก็มีการแบนไม่ให้ฉายสื่อบันเทิงต่างชาติ ให้ฉายแต่สื่อบันเทิงเกาหลีที่เชิดชูหรือ “อวย” ทหารหรือรัฐบาล จนสิ้นสุดในปี 1993

“พอปลดล็อกสื่อบันเทิงต่างชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนังต่างชาติเข้ามาโดยทันที คนเกาหลีก็มองว่าต้องสร้างสื่อบันเทิงที่เสรีสุดโต่งแบบนั้นเหมือนกัน” ดร.ไพบูลย์กล่าว

อีกหนึ่งคือ “ปลดล็อคในเชิงความคิด” โดยเกาหลีใต้ไม่มีศาสนาประจำชาติ การนับถือศาสนาไม่ใช่ส่วนสำคัญในชีวิต ไม่นับถือก็ได้ มากกว่า 50% ของปรนเกาหลีใต้ไม่มีศาสนา

“ความที่ไม่มีศาสนานี้อย่าไปมองในแบบคนไทยว่า คนไม่มีศาสนาเป็นคนป่าคนเถื่อน การไม่มีศาสนาคือการปลดพันธนาการตัวเองจากการที่จะต้องคิดมากในเชิงศาสนา ฉะนั้นถ้าเกาหลีจะลุกขึ้นมาพูดถึงพระเป็นชู้กับสีกาก็ไม่ใช่เรื่องแปลก การนับถือศาสนาบางทีจะมีบางอย่างที่เราไม่กล้าแตะในบางเรื่องด้วยความคิดเชิงจริยธรรมหรืออะไรก็แล้วแต่” ดร.ไพบูลย์บอก

เขาเสริมว่า เมื่อการห้ามในเชิงกฎหมายก็ถูกปลดล็อก การห้ามในเชิงความคิดที่มากับศาสนาก็ถูกปลดล็อก ฉะนั้นจึงทำให้สื่อบันเทิงของเกาหลีใต้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ดร.ไพบูลย์บอกว่า “ในสังคมเกาหลีใต้ จะคำพูดหนึ่งว่า ‘ทุกสิ่งมีสองหน้าเสมอมนุษย์เรามีทั้งด้านดีและด้านมืด’ หมอดีก็มีหมอเลวก็มี แต่จะทำอย่างไรไม่ให้คนเลวมากขึ้น เราก็ต้องตีแผ่ ถ้าเราไม่พูดมันคุณจะรู้ไหมว่าตำรวจกับอัยการใช้วิธีนี้ร่วมมือกันโกง”

ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีใต้ยกตัวอย่างว่า กรณีในประเทศไทย เราไม่มีทางรู้เลย เรารู้ต่อเมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าสื่อเปิดเผยก่อน ว่ามีการทรมานผู้ต้องหา มีการโกงทรัพย์สิน มีการหลอกประมูลสร้างรายได้ส่วนตัว คนก็อาจจะรู้เท่ากันและช่วยกันป้องกันรับมือได้

“สื่อบันเทิงเขาจินตนาการไปได้เรื่อย ๆ เอาเข้าจริงผมว่าเป็นการป้องกันทางหนึ่งเหมือนกัน ในเมื่อสื่อบันเทิงเขาจินตนาการไปไกลแบบนี้ ในสังคมจริงตำรวจกับอัยการก็จะไม่กล้าทำการทุจริตอย่างในสื่อ เพราะคนที่คิดจะโกงจริงก็จะรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว สิ่งที่คิดไว้มันอยู่ในสื่อเรียบร้อยแล้ว คนต้องรู้แน่” ดร.ไพบูลย์กล่าว

เมื่อย้อนกลับมามองสื่อบันเทิงไทย หากจะทำสื่อที่สะท้อนเสียดสีหรือวิพากษ์วารณ์สังคมหรือสถาบันองค์กรต่าง ๆ มักจะถูกห้าม ทั้งในเชิงกฎหมาย ระเบียบข้อกำหนด หรือถูกตั้งคำถามทางจริยธรรม

ท่ามกลางกระแสต้องการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของไทย บางทีผู้มีอำนาจอาจต้องลองมองแล้วว่า บางครั้งการเล่าความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ยังทรงอำนาจกว่าการบอกเล่าวัฒนธรรมทื่อ ๆ ตรง ๆ เสียอีก

สควิดเกมคนดูเกิน 100 ล้านบัญชี ทุบสถิติเน็ตฟลิกซ์

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ