ร้อนระอุ! จีน ประณาม สหรัฐฯ-แคนาดา ส่งเรือรบเข้าช่องแคบไต้หวัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ยังคงร้อนระอุ เริ่มตั้งแต่จีนส่งเครื่องบินรบเข้าน่านฟ้าของไต้หวัน ตามมาด้วยวิดีโอแสดงแสนยานุภาพทางทางการทหารของไต้หวันที่ตั้งใจปล่อยออกมา เพื่อส่งสารถึงจีนโดยเฉพาะ ล่าสุดทั้งสองชาติเดินหน้าการซ้อมรบทางการทหาร ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากชาติพันธมิตร จีนทำการซ้อมรบกับรัสเซีย ส่วนไต้หวันก็ประกาศจะซ้อมรบประจำปี และในเวลาเดียวกันนี้ พันธมิตรสำคัญของไต้หวันคือ สหรัฐฯ ก็มีการส่งเรือรบผ่านช่องแคบไต้หวันซึ่งทำให้จีนไม่พอใจมากและออกมาประณาม

จีน ส่งเครื่องบินรบลุกล้ำไต้หวัน เกือบ 150 ลำ ใน 4 วัน

สหรัฐฯ ยังคงทหารในไต้หวัน แม้ตัดสัมพันธ์ทางการแล้ว

จีนส่งเครื่องบินรบยั่วยุไต้หวัน ไม่พอใจสานสัมพันธ์สหรัฐฯ

เมื่อวานนี้ จีนออกมาประณามสหรัฐฯ และแคนาดา จากการส่งเรือรบแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายสันติภาพ และความมั่นคงของภูมิภาค

โดยเรือรบที่แล่นผ่านคือ เรือ USS Dewey เรือพิฆาตชั้นอาร์เลห์เบิร์ก ติดชีปนาวุธนำวิถี ส่วนฝั่งแคนาดาเป็นเรือฟริเกต HMCS Winnipeg โดยทั้งสองลำแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันตั้งแต่วันที่ 14 – 15 ต.ค. ที่ผ่านมา

 

ช่องแคบไต้หวัน คือ น่านน้ำความกว้าง 180 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนในจีนแผ่นดินใหญ่ และเกาะไต้หวัน ช่องแคบนี้เป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ และเป็นเส้นทางเดินเรือขึ้นเหนือจากทะเลจีนใต้ไปยังทะเลจีนตะวันออก ที่ว่าเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ของทะเลจีนใต้ เพราะพื้นที่นี้ยังคงมีข้อพิพาท และเปราะบางต่อความขัดแย้ง สหรัฐฯ ระบุให้ช่องแคบไต้หวันเป็นน่านน้ำสากล ส่วนจีนมองว่าช่องแคบนี้คือส่วนหนึ่งของน่านน้ำตน จากนโยบายจีนเดียวที่ผนวกรวมไต้หวันด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจีนออกมาประณามกิจกรรมทางการทหารในช่องแคบไต้หวัน

ด้านฝั่งสหรัฐฯ ย้ำว่า กิจกรรมทางการทหารที่เกิดขึ้นมีเพื่อสนับสนุนเสรีภาพของไต้หวัน และสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรแล่นเรือรบผ่านช่องแคบไต้หวันบ่อยครั้ง

 

ความไม่พอใจของจีนถูกแสดงออกผ่านการส่งเครื่องบินรบเข้าไปยังเขตของไต้หวัน รายงานจากกระทรวงกลาโหมของไต้หวันระบุว่า เมื่อวานนี้ ที่ผ่านมาจีนส่งเครื่องบิน 3 ลำเข้ามาในเขต ADIZ เป็นเครื่องบินรบ J-16 จำนวน 2 ลำ และเป็นเครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำอีก 1 ลำ  ไม่เพียงแค่น่านน้ำที่เป็นพื้นที่พิพาท แต่ยังรวมถึงน่านฟ้าเช่นกัน  ไต้หวันกำหนดเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ หรือ ADIZ ไว้รอบเกาะ ซึ่งหากเครื่องบินใด ๆ บินเข้ามาต้องแสดงตน

แต่ที่ผ่านมาจีนมักส่งเครื่องบินรบเข้ามา โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมามีมากเป็นพิเศษ มากที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม ที่ส่งมามากถึง 56 ลำในวันเดียว แต่หากรวมตั้งแต่ต้นปีจำนวนครื่องบินจีนที่เข้ามาในเขตป้องกัยภัยทางอากาศของไต้หวันจะมีมากถึง 600 ลำ

ไต้หวันโต้กลับด้วยการส่งเครื่องบินขับไล่ ไล่เครื่องบินจีนออกไป มีการใช้สงครามจิตวิทยาด้วย เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไต้หวันได้เผยแพร่วิดีโอโปรโมทในเฟซบุ๊ก เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพในการป้องกันน่านฟ้าของตนเอง  ใจความท่อนหนึ่งในวิดีโอดังกล่าว ระบุว่า เมื่อเผชิญกับการรุกรานและการยั่วยุจากศัตรูของเรา เราจะไม่ประนีประนอมต่อความตั้งใจในการป้องกันอธิปไตยของเรานั้นแน่วแน่

ช่วงนี้ไต้หวันซ้อมรบถี่ขึ้น ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการซ้อมรบจำลองสถานการณ์ในบริบท"การถูกรุกราน”  และการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หนึ่งในนั้นคือการลงจอดของเครื่องบินรบบนทางหลวง ก่อนจะการประกาศเพิ่มงบประมาณทางการทหารอีก 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด สำนักข่าว Focus Taiwan รายงานว่า ทางกองทัพอากาศไต้หวันจะดำเนินการฝึกซ้อมรบประจำปีตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม ไปจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม โดยระบุว่า เครื่องบิน F-16, Mirage-2000s และอากาศยานอื่น ๆ จะเข้าร่วมการฝึกซ้อมด้วย รวมถึงมีพลทหารภาคพื้นดินด้วยเช่นกัน

ขณะที่ไต้หวันพยายามยกระดับศักยภาพทางการทหารของตน เพื่อรับมือกับแรงกดดันจากจีน ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก

ด้านจีนก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง 2 อย่าง อย่างแรกคือ การทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สร้างความประหลาดใจ และกังวลใจให้กับหลายชาติรวมถึงสหรัฐฯ

 

จีน-รัสเซีย ซ้อมรบร่วมด้วยเทคโนโลยีทางการทหารชั้นสูง

ภาพการซ้อมรบร่วมกันระหว่างจีนและรัสเซียในทะเลญี่ปุ่น การฝึกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ถึงวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ในโครงการที่ชื่อว่า Joint Sea 2021 โครงการซ้อมรบระหว่างจีนกับรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ รัสเซียบอกว่า ทำร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2005  แต่ปีที่แล้วระงับเพราะการระบาดของโควิด อย่างไรก็ตามที่ใหม่ คือ การซ้อมรบในครั้งนี้มีผู้สังเกตว่า นี่เป็นครั้งแรกที่จีนส่งเทคโนโลยีทางการทหารชั้นสูงอย่าง เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ และเรือพิฆาตไปร่วมฝึกรบกับรัสเซียด้วย

นักวิเคราะห์ มองว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณไปยังบรรดาชาติตะวันตก เนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางความร้อนระอุในทะเลจีนใต้ จากกรณีความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน

มีรายงานว่า ระหว่างการซ้อมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กองเรือรัสเซียพบว่ามีเรือของสหรัฐฯ แล่นป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ จึงได้ขับไล่ออกไป  แต่ทางสหรัฐฯ ปฏิเสธรายงานดังกล่าว

ที่ผ่านมาทั้งจีน และรัสเซียแสดงตัวชัดเจนว่า เป็นพันธมิตรกัน มีความเห็นและจุดยืนหลายเรื่องตรงกันในหลายประเด็นร้อนที่มักจะขัดกับสหรัฐฯ เช่น ประเด็นการรัฐประหารในเมียนมา โดยระหว่างการประชุมของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ทั้งสองชาติใช้สิทธิวีโต้ส่งผลให้ทาง UNSC ไม่สามารถประณามคณะรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย และจำต้องแก้ไขถ้อยคำในแถลงการณ์ให้ดู่อนโยนลง หรือในกรณีของอัฟกานิสถาน ที่ทั้งสองชาติแสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการบุกอัฟกานิสถาน ตลอดจนการถอนกำลังออกล่าสุดที่ส่งผลให้เกิดภาพความวุ่นวายของการอพยพ

 

คาดจีนซุ่มทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

นอกเหนือจากการขนอาวุธล้ำสมัยมาฝึกกับรัสเซีย ความเคลื่อนไหวอีกอย่างของจีนคือ การทดสอบขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิกหรือขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง

รายงานจากสำนักข่าว Financial Times อ้างอิงแหล่งข่าวทางการทหารระบุเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาจีนได้ทดสอบขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิกเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการทดสอบให้ขีปนาวุธโคจรรอบโลก ก่อนจะยิงเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนด แต่แหล่งข่าวรายงานว่า ขีปนาวุธที่ทดสอบยิงพลาดเป้าไปราว 32 กิโลเมตร  ยังไม่มีภาพยืนยัน รวมถึงยังไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานล่าสุดนี้ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง หมายความว่าศักยภาพด้านอาวุธของจีนล้ำหน้าไปมาก

โลกเพิ่งจะได้ยืนชื่อของขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิกไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากเกาหลีเหนืออ้างว่าได้ทดสอบอาวุธนี้  ความน่ากลัวของมันคือ อาวุธนี้เร็วกว่าเสียงถึง 5 เท่า ปกติแล้วอากาศยานที่เร็วกว่าเสียงเรียกว่า ซูเปอร์โซนิก ทำความเร็วที่ 343 เมตรต่อวินาที แต่ไฮเปอร์โซนิกยกระดับมากกว่านั้น เพราะเร็วกว่าซูเปอร์โซนิกถึง 5 เท่า

เร็วแค่ไหน? คาดกันว่าหากยิงขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิกจากกรุงปักกิ่งไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี จะใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมง สี่สิบนาทีเท่านั้น  และความเร็วระดับนี้ส่งผลให้ยากที่ระบบป้องกันจะตรวจจับได้ทัน

อาวุธทรงประสิทธิภาพนี้ ปัจจุบันมีสหรัฐฯ จีน และรัสเซียเป็นประเทศหลักที่กำลังเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธแบบนี้ นอกจากรายชื่อนี้คาดกันว่ายังมีอีก 5 ชาติ เช่น เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้  และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา รัสเซียเองก็เพิ่งจะเผยภาพการทดสอบขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิกครั้งแรก  ขีปนาวุธมีชื่อว่า เซอกอน ถูกยิงจากเรือดำน้ำ รัสเซียอ้างว่าการทดสอบประสบความสำเร็จไปด้วยดี และนี่คืออาวุธที่ไม่มีใครเทียบได้

ความคืบหน้าด้านอาวุธ และความสัมพันธ์ที่กระชับขึ้นระหว่างจีนและรัสเซีย เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความกังวลจากชาติตะวันตก  ภาพสะท้อนที่ชัดที่สุด คือ การที่ซีไอเอเปิดหน่วยงานใหม่ ที่จะทำภารกิจเกี่ยวกับจีนโดยเฉพาะ

 

สหรัฐฯ ตั้งหน่วยงานใหม่ จับตา-วิเคราะห์ "จีน" โดยเฉพาะ

ย้อนไปวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา หน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ระบุว่า พวกเขาเตรียมที่จะเปิดหน่วยงานใหม่ เพื่อดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับจีนโดยเฉพาะ

โดยรายงานจาก วิลเลียม เบิร์น ผู้อำนวยการซีไอเอ ชี้ว่า แผนงานดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการเสริมสร้างคาวมแข็งแกร่งในการรับมือกับภัยคุกคามแห่งศตวรรษที่ 21 นั่นคือ การที่จีนดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์

รัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดย โจ ไบเดน ยังคงมองว่าจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับในรัฐบาลสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงมีความกังวลต่อการขยายอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ด้านหนังสือพิมพ์ The People's Liberation Army Daily ของจีน ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อแผนกใหม่ของซีไอเอ พร้อมเรียกร้องให้ชาวจีนลุกขึ้นทำสงครามประชาชน เพื่อต่อสู้กับความพยายามของสหรัฐฯ ที่มุ่งจารกรรมข้อมูลและตักตวงผลประโยชน์ของชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ