"มิน อ่อง หล่าย" ถูกกีดกันเข้าประชุมอาเซียน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน จัดการประชุมฉุกเฉิน และมีมติหนึ่งออกมา ซึ่งไม่ค่อยจะได้เห็นนักจากกลุ่มประเทศที่ยึดถือนโยบาย หรือหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในซึ่งกันและกัน นั่นคือ ชาติสมาชิกเห็นพ้องกันว่า จะไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ แต่จะเชิญ “ผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง” เข้าร่วมประชุมแทน

สุทธิชัย หยุ่น : "มิน อ่อง หล่าย" หักดิบอาเซียน

กองกำลังติดอาวุธประชาชน ปะทะทหารเมียนมา เสียชีวิต 18 ราย

ถือเป็นการหักหน้าพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายอย่างมาก และในวันนี้ (18 ต.ค.64) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG รัฐบาลเงาที่จัดตั้งโดยคนในรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี ที่ถูกทหารยึดอำนาจ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความชื่นชมในการตัดสินใจล่าสุดของอาเซียน

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงาของเมียนมาออกแถลงการณ์ผ่านทางทวิตเตอร์ระบุว่า พวกเขาชมเชยการตัดสินใจของอาเซียนว่าเป็นการดำเนินการที่เข้มแข็งมาก

การออกมาแถลงของรัฐบาลเงาเมียนมาเกิดขึ้นหลังรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จัดประชุมฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ ได้ข้อสรุปว่า พวกเขาจะเชิญ "ผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง" ของเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ คำแถลงไม่ได้เอ่ยชื่อพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย หรือระบุว่าจะเชิญใครเข้าร่วมแทน แต่โดยนัยแล้ว คำแถลงนี้หมายความว่าผู้นำรัฐบาลเมียนมาจะไม่ได้รับเชิญให้ร่วมการประชุม แถลงการณ์ได้มีการระบุถึงการดำเนินการตามฉันทามติ  5 ข้อที่ผู้นำอาเซียนเคยเห็นตกลงกันไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนว่ามีความคืบหน้าไม่มากพอ

 

ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปกติอาเซียนไม่ทำแบบนี้ ฉันทามติ 5 ข้อคืออะไร แล้วทำไมอาเซียนจึงไม่พอใจเมียนมา ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนเมษายน อาเซียนจัดประชุมสุดยอดผู้นำ โดยวาระใหญ่และเร่งด่วนที่สุดตอนนั้นคือ วิกฤตการเมืองและมนุษยธรรมในเมียนมา หลังจากที่กองทัพที่นำโดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของนางอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์  หลังการยึดอำนาจประชาชนทั่วประเทศก็ลุกฮือประท้วง นายพลมินอ่องหล่ายสั่งให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ใช้อาวุธจริงทั้งหนักและเบายิงเข้าใส่ประชาชน

ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร มีผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้กับกองทัพแล้ว 1,049 ราย และมีผู้ถูกจับกุมกว่า 7,000 คน เมียนมายืนอยู่บนขอบของรัฐล้มเหลว เพราะเจอทั้งวิกฤตการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด ตอนนั้นยูเอ็นก็ทำอะไรไม่ได้ รวมถึงการคว่ำบาตร เพราะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นอย่างจีนและรัสเซียขวางไว้ ผู้คนจึงคาดหวังให้อาเซียนเข้ามาคลี่คลาย เพราะถือว่าใกล้ชิดกับเมียนมา

อาเซียนจัดประชุมสุดยอดผู้นำเมื่อปลายเดือนเมษายน ในการประชุมอาเซียนครั้งนั้น เป็นครั้งแรกที่พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่ก่อการรัฐประหารเพื่อเข้าร่วมประชุม

 

ที่ประชุมมีข้อตกลงที่เรียกว่า ฉันทามติ 5 ข้อออกมา

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2.การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)

5.ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ปัญหาคือ เมียนมาไม่ยอมทำตามสักข้อ รวมถึงข้อ 5

 

ผู้แทนพิเศษที่อาเซียนแต่งตั้ง คือ เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน ถูกกีดกัน โดยรัฐบาลทหารเมียนมาบ่ายเบี่ยงที่จะให้ผู้แทนพิเศษอาเซียน ได้พบปะกับนางอองซาน ซูจี โดยอ้างว่าไม่สามารถให้พบกับบุคคลที่อยู่เป็นผู้ต้องหาในคดีหนักหลายคดีได้ นี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อาเซียนไม่พอใจ เป็นที่มาของมติไม่เชิญพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะมีขึ้นปลายเดือนนี้

ท่าทีของอาเซียนแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้น และเท่ากับเป็นการหักหน้าพลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่ายอย่างชัดเจน

รอยเตอร์รายงานว่า พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายแสดงผิดหวังอย่างมากต่อการตัดสินใจของอาเซียน และล่าสุดในวันนี้ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมาออกแถลงการณ์ ระบุว่า ที่ผ่านมากองทัพพยายามสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย รวมถึงวิจารณ์อาเซียนว่า ไม่ได้รวมการยั่วยุและความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามเข้าไปพิจารณาด้วย

นอกเหนือจากจะไม่ให้ผู้แทนพิเศษเข้าพบกับนางอองซานซูจีแล้ว ข้อตกลงอื่น ๆ ที่เมียนมาทำไว้กับอาเซียนก็ดูเหมือนถูกเพิกเฉยในทุก ๆ ข้อ

การปราบปรามของกองทัพยังส่งผลให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ด้วยการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่บรรดาคนรุ่นใหม่จำนวนมากไปฝึกอาวุธกับกองกำลังชาติพันธุ์เพื่อมาต่อสู้กับทหารเมียนมา ความขัดแย้งขยายวงกว้างมากขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติประกาศทำสงครามป้องกันตนเอง  มีเหตุสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ โจมตีสถานที่ทำการต่าง ๆ และปะทะกับตำรวจ-ทหาร โดยหลายครั้งกองกำลังประชาชนออกมาประกาศรับผิดชอบว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ

ส่วนการประท้วงก็ยังคงเกิดขึ้นทุกวัน เป็นเวลา 8 เดือนกว่าแล้วที่ชาวเมียนมาออกมาเปล่งเสียงต่อต้านรัฐประหารบนท้องถนน ภาพประท้วงจากนครย่างกุ้ง เมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมา ที่บรรดาผู้หญิงชาวเมียนมาออกมาระบุว่า พวกเธอจะขอต่อสู้จนตัวตาย ส่วนตามเมืองชนบทผู้คนก็ยังคงออกมาแสดงพลังอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่เมืองชเวโบ ในเขตซะไกง์ ทางตอนเหนือของประเทศ  ชาวบ้านออกมาเดินขบวน ชูธงสีแดงสนับสนุนพรรค NUG โดยระบุว่า วันนี้เป็นวันที่ 260 แล้ว ที่พวกเขาถูกกองทัพยึดอำนาจ

รายงานจาก AAPP องค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารชี้ว่า ขณะนี้มีคนถูกจับกุมมากกว่า 7,000 คน  และล่าสุด รัฐบาลทหารตัดสินใจปล่อยคนที่ถูกคุมขังครั้งใหญ่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐบาลเมียนมาเตรียมปล่อยผู้ประท้วงที่ถูกคุมขังมากถึง 5,600 ราย เพื่อต้อนรับเทศกาลตะดี้นจุ ซึ่งตรงกับช่วงวันออกพรรษาของบ้านเรา  ข่าวดังกล่าวถูกประกาศออกมาไม่กี่วันหลังมิน อ่อง หล่าย เพิ่งจะถูกอาเซียนออกฉันทามติไม่ให้เขาเข้าร่วมประชุม

ก่อนหน้านี้เมียนมาเคยปล่อยนักโทษราว 2,000 คน ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้นอกจากผู้ประท้วงแล้ว ยังรวมถึงผู้สื่อข่าวจำนวนมาก ที่ถูกจับกุมระหว่างรายงานข่าวการประท้วง

วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ยูเอ็นเปิดแถลงข่าว ระบุว่า มีความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ที่จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เพราะมีหลักฐานว่า กองทัพเมียนมาร์กำลังระดมกำลังเพื่อตอบโต้และกวาดล้างประชาชนรอบใหญ่ โดยเฉพาะในรัฐชิน

 

การปราบปรามและการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง รวมถึงการปิดทางไม่ให้ทูตพิเศษเข้าไปเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งคือฟางเส้นสุดท้ายที่อาเซียนตัดสินใจมีมติไม่เชิญพลเอาอาวุโสมินอ่องหล่ายเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ

กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ บอกว่า เป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่จำเป็น เพื่อธำรงความน่าเชื่อถือของอาเซียนเอาไว้ คำถามก็คือ แล้วใครจะเป็นคนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม

ในแถลงการณ์ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือรัฐบาลเงา ที่ออกมาเมื่อเช้ามีการปิดท้ายไว้ว่า หวังว่าอาเซียนจะยอมรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของเมียนมา หมายความว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติมีความหวังว่าจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมแทน

 

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ระบุว่า คงเป็นไปได้ยาก ถึงแม้อาเซียนจะตัดสินใจหลุดออกจากกรอบและธรรมเนียมเดิม แต่ก็คงไปไม่ไกลถึงการรับรองรัฐบาลเงาด้วยการให้เป็นผู้แทนที่ชอบธรรมเข้าร่วมประชุม

แล้วตัวแทนของรัฐบาลเมียนมาจะเป็นใครในการประชุมสุดยอดอาเซียนปลายเดือนนี้ ชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาด้านเมียนมาของไครซิสกรุ๊ป คาดเดาว่า ผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองน่าจะหมายถึงบุคคลที่มีตำแหน่งต่ำกว่าระดับรัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ