รัฐบาลเมียนมา ปล่อยนักโทษต้านรัฐประหารกว่า 5,000 คน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากการออกมาต่อต้านรัฐประหารกว่า 5,000 คน หนึ่งในนั้นคือ นักแสดงชื่อดัง ซากานาร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นออก เผยเป็นข่าวที่น่ายินดี คนเหล่านี้ไม่ควรถูกจับตั้งแต่ตอนแรก ชี้การตัดสินใจปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ไม่ใช่เพราะว่ารัฐบาลทหารเมียนมากลับใจ แต่เกิดจากแรงกดดัน

เมียนมาเล็งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้นปีหน้า

กองกำลังติดอาวุธประชาชน ปะทะทหารเมียนมา เสียชีวิต 18 ราย

หน้าเรือนจำอินเส่ง หนึ่งในเรือนจำหลักของเมียนมา ซึ่งมักถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง บรรดาญาติของคนที่ถูกจับจากการประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารและการทำอารยะขัดขืนมาเฝ้ารอบรรดาคนที่พวกเขารักด้วยใจจดจ่อตั้งแต่ช่วงเย็นเมื่อวานหลังจากมีการประกาศจากรัฐบาลทหารเมียนมาว่าจะมีการปล่อยตัวคนเหล่านั้น

ทันทีที่รถผู้ต้องขังของเรือนจำผ่านรั้วออกมา พอบรรดานักโทษการเมืองลงจากรถ ก็มีเสียงตะโกนออกมาด้วยความยินดี  บางคนสวมกอดกันพร้อมกับร่ำไห้เพราะความดีใจ แต่บางคนก็ร้องไห้ เพราะไม่เห็นคนที่ตัวเองรักถูกปล่อยออกมา

ทอม แอนดรูว์ เจ้าหน้าที่พิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ทวีตข้อความขานรับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในเมียนมา ระบุว่า เป็นข่าวที่น่ายินดี อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ไม่ควรถูกจับตั้งแต่ตอนแรก และระบุด้วยว่า "การที่รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษไม่ใช่เพราะพวกเขาเปลี่ยนใจ แต่เป็นเพราะถูกกดดัน"

 

การปล่อยตัวนักโทษการเมืองเกิดขึ้น 3 วัน หลังที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน มีมติร่วมกันไม่เชิญ พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน  โดยระบุว่า เนื่องจากเมียนมาไม่สามารถทำฉันทามติ 5 ข้อที่เคยทำร่วมกันไว้ได้

โดยวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มอาเซียนได้ออกแถลงการณ์หลังการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ อาเซียนจะเชิญผู้แทนที่ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมืองของเมียนมาให้เข้าร่วมการประชุม

แถลงการณ์นี้เท่ากับเป็นการกีดกันทางอ้อมไม่ให้ผู้นำของรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอด โดยได้ให้เหตุผลว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ได้ตกลงกันไว้

ฉันทามติ 5 ข้อคือข้อตกลงอาเซียนทำร่วมกันเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในเมียนมาหลังการรัฐประหาร โดยตกลงกันไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนในคราวที่ประชุมสุดยอดผู้นำ โดยในคราวนั้น พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อการรัฐประหารเพื่อเข้าร่วมประชุมด้วย

ฉันทามติ 5 ข้อได้แก่

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2.การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)

5.ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แต่เมียนมาไม่ยอมทำตามสักข้อ รวมถึงข้อ 5 ที่รัฐบาลทหารเมียนมาบ่ายเบี่ยงไม่ให้ผู้แทนพิเศษอาเซียน เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไนเข้าพบนางอองซาน ซูจี โดยอ้างว่าไม่สามารถให้พบกับบุคคลที่อยู่เป็นผู้ต้องหาในคดีหนักหลายคดีได้

ส่วนข้ออื่น ๆ ก็ไม่คืบหน้า ความรุนแรงและการปราบปรามเกิดขึ้นต่อเนื่องและหนักขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นที่มาของการที่อาเซียนตัดสินใจไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าประชุมสุดยอดผู้นำ การตัดสินใจครั้งนี้นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมามักเลือกใช้แนวทางการเจรจา และยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการในประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า การถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสร้างความไม่พอใจและความผิดหวังให้กับพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย

เมื่อวานนี้ พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย เปิดแถลงข่าว พูดทำนองว่า ที่อาเซียนตัดสินใจไม่เชิญเขาเข้าร่วมประชุมเป็นการตัดสินที่พิจารณาจากข้อมูลที่ไม่รอบด้าน เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากทหาร แต่เกิดเนื่องจากการยั่วยุของฝ่ายตรงข้าม

หลังจากตำหนิ และต้องข้อสงสัยการตัดใจของอาเซียนกลาย ๆ แล้ว พลเอกมินอ่องหล่ายก็เล่นอีกบท คือ การประกาศปล่อยตัวนักโทษการเมือง 5,600 คน

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คาดกันว่า มีประชาชนมากกว่า 8,200 ราย ที่ถูกจับกุมคุมขัง มีตั้งแต่ผู้ประท้วงที่เป็นประชาชนคนธรรมดา ไปจนถึงนักกิจกรรม นักการเมือง นักสร้างภาพยนต์ ดารา น้องร้อง เซเลปและอินฟลูเอนเซอร์

 

"ไป่ ทาคน" และคนดังอีกหลายคน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

คนที่ตกเป็นข่าวมากที่สุดคือ ไป่ ทาคน นักแสดงและนายแบบวัย 24 ปี เป็นคนดังที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนทั้งในเมียนมาและประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพทั้งในการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนและในโลกออนไลน์ เขาถูกบุกจับกุมที่บ้านพักตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน และถูกคุมขังไว้ที่เรือนจำอินเส่ง

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพของเขาที่ร่างกายซูบผอม โดยรายงานระบุว่า เขามีอาการไม่สบายอยู่เพราะมีโรคประจำตัว ทั้งหอบหืด หายใจไม่ออก รวมถึงอาการข้อเท้าอักเสบ

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาคนที่ถูกปล่อยมาเมื่อคืนที่ผ่านมา ไม่มีชื่อของไป่ ทาคน  โดย ขิ่น หม่อง มินต์ ทนายความของเขาให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ไป่ ทาคน มีโอกาสได้รับการปล่อยตัว แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าเมื่อไหร่

อีกคนดังที่ถูกจับกุมคือ อินดราจ่อซิน ดาราภาพยนต์ชื่อดัง  เธอเพิ่งจะได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโอลเดนเบิร์กซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเยอรมนีจากผลงานเรื่อง What Happened To The Wolf? ภาพยนต์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสองคนซึ่งตกหลุมรักกันขณะที่ป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาลทั้งคู่  ในวันประกาศรางวัล อินดราจ่อซิน ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอินเส่ง โดยเธอถูกจับกุมตัวตั้งแต่เดือนเมษายนหลังออกมาประท้วงการยึดอำนาจ และในจำนวนคนที่ถูกปล่อยเมื่อคืนนี้ ไม่มีชื่อของ อินดราจ่อซิน เช่นเดียวกัน

ดารานักแสดงที่มีชื่อถูกปล่อยตัวคือ ซากานาร์ นักแสดงตลกชื่อดังที่มักแสดงมุกตลกเสียดสีรัฐบาลทหาร

สื่อท้องถิ่นของเมียนมารายงานว่า นอกจากซากานาร์แล้ว คนดังที่ถูกปล่อยตัวอีกคือ โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ