"ไทย" ขึ้นพาดหัวสื่อระดับโลก ส่งออก "ถุงมือยางใช้แล้ว" ไปหลายประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สื่อนอกรายงาน ไทยส่งออก “ถุงมือการแพทย์มือสอง” ที่ผ่านการ “ย้อมแมว” ไปยังหลายประเทศ เฉพาะที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ คาดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านชิ้น

สำนักข่าวต่างประเทศ CNN รายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนว่า สหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกนำเข้า “ถุงมือแพทย์ใช้แล้ว” จากไทยเพื่อนำไปใช้ต่อในประเทศของตน

โดยสื่อต่างประเทศได้ลงพื้นที่สำรวจโกดังแห่งหนึ่งในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ พบว่า โกดังดังกล่าวเต็มไปด้วยถุงขยะที่ใส่ถุงมือแพทย์ใช้แล้วไว้ข้างใน ซึ่งถุงมือบางชิ้นสกปรกอย่างเห็นได้ชัด บางชิ้นเคยเปื้อนเลือดมาก่อน

บุกค้น รง.ถุงมือยาง “เสี่ยท็อป” คาดเอี่ยวฉ้อโกง 100 ล้านบาท

ปคบ.บุกทลายโกดังผลิตถุงมือยางเถื่อน 37 ตัน

ขยายผลผลิต"ถุงมือยาง"ส่งตปท.หวังฟันกำไร

ใกล้ ๆ กันยังพบชามพลาสติกที่เต็มไปด้วยสีย้อมสีน้ำเงินและถุงมือสองสามชิ้น เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยบุกเข้าไปในโรงงานในเดือน ธ.ค. พบว่า มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อพยายามทำให้ถุงมือแพทย์ที่ผ่านมาการใช้งานแล้วกลับมาดูใหม่อีกครั้ง

ยังมีโกดังอีกจำนวนมากที่ยังคงเปิดดำเนินการในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งพยายามหาเงินจากความต้องการถุงมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และประเทศไทยได้บรรจุถุงมือแพทย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานจำนวนหลายล้านชิ้นเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนถุงมือการแพทย์ทั่วโลกซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะคลี่คลาย

การสืบสวนของ CNN ที่ใช้เวลานานหลายเดือนพบว่า ถุงมือการแพทย์ปลอมและถุงมือมือสองหลายสิบล้านชิ้นได้มาถึงสหรัฐฯ แล้ว ตามบันทึกการนำเข้าและผู้จัดจำหน่ายที่ซื้อถุงมือนี้ และนั่นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็ง เจ้าหน้าที่ในสหรัฐฯ และไทยกำลังทำการสอบสวนในทางคดีอาญาเพิ่มเติม

ดักลาส สไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ บอกว่า ถุงมือการแพทย์เป็น “สินค้าที่อันตรายที่สุดในโลกในขณะนี้”

เขากล่าวว่า “มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีเข้ามาในสหรัฐฯ จำนวนมาก ทั้งถุงมือสกปรก ถุงมือมือสอง และถุงมือคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เหล่านี้หลั่งไหลเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างไม่รู้จบ ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางเพิ่งจะเริ่มเข้าใจถึงปัญหา”

ท่ามกลางความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยจากการใช้ถุงมือการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทางการสหรัฐฯ ได้พยายามรับมือกับการค้าที่ผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อบังคับการนำเข้าอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ถูกระงับชั่วคราวในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ และยังคงถูกระงับจนถึงทุกวันนี้

ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. ของปีนี้ บริษัทแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ได้เตือนหน่วยงานของรัฐบาลกลาง 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานศุลกากรและป้องกันพรมแดนสหรัฐฯ (CBP) และองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ว่าบริษัทฯ ได้รับการจัดส่งถุงมือแพทย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่จนถึงเดือน ก.ค. ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด และบริษัทในไทยก็ยังสามารถส่งออกถุงมือมือสองได้อีกนับสิบล้านชิ้นในเดือนถัดมา

FDA บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในแต่ละเคสได้ แต่กล่าวว่า “ได้ดำเนินการหลายขั้นตอนในการค้นหาและหยุดการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการอนุมัติ โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเราในการตรวจสอบ ตรวจสอบ และทบทวนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ทั้งที่นำเข้ามาและการค้าภายในประเทศ”

เชื่อคนร้ายเจาะเพดานชิงทอง เป็นชาวต่างด้าว

ความต้องการที่สูงขึ้น เท่ากับโอกาสโกงที่มากขึ้น

ในช่วงต้นปี 2020 ความต้องการอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) พุ่งทะลุปรอทเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และราคาถุงมือการแพทย์อยู่ในระดับสูง แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มักใช้ถุงมือการแพทย์ที่เป็นยางไนไตรล์ในการตรวจผู้ป่วย โดยมาตรฐานของ FDA จะไม่อนุญาตให้ใช้ถุงมือการแพทย์ที่ทำจากยางลาเท็กซ์หรือยางไวนิล เพราะมีคุณภาพต่ำกว่า

ความต้องการถุงมือยางไนไตรล์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ ส่งผลให้รัฐบาลและโรงพยาบาลทั่วโลกต่างแย่งชิงกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และบริษัทหลายสิบแห่งที่ต้องการสร้างผลกำไรอย่างรวดเร็วก็มองเห็นโอกาสนี้

เมื่อปลายปีที่แล้ว ทาเร็ก เคอร์เชน นักธุรกิจจากไมอามี สั่งซื้อถุงมือการแพทย์มูลค่ารวม 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 66 ล้านบาท) จากบริษัทสัญชาติไทยชื่อ Paddy the Room เพื่อที่เขาจะได้ขายต่อให้กับผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ

“เราเริ่มได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าที่แสดงความไม่พอใจอย่างมาก พวกเขาตะโกนตะคอกใส่เราว่า คุณทำลายพวกเรา” เขาเล่า

หลังได้รับคำร้องเรียน เคอร์เชนตัดวินใจตรวจสอบสินค้าด้วยตัวเขาเองเมื่อตู้คอนเทนเนอร์ตู้ที่ 2 จากไทยมาถึงไมอามี

“ถุงมือเหล่านี้เป็นถุงมือใช้แล้ว แต่ถูกเอามาล้าง มาย้อมสี บางชิ้นสกปรก บางชิ้นมีคราบเลือด บางชิ้นมีเครื่องหมายระบุวันที่เมื่อ 2 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ ... ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลย” เขาบอก และเสริมว่า เมื่อเกิดเรื่อง ก็ได้แจ้งปัญหาไปยัง CBP และ FDA เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหา

จากการวิเคราะห์ของ CNN เกี่ยวกับการนำเข้าถุงมือการแพทย์แสดงให้เห็นว่า มีผู้จัดจำหน่ายรายอื่นในสหรัฐฯ ซื้อถุงมือเกือบ 200 ล้านชิ้นจาก Paddy the Room ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ และไม่ชัดเจนว่า เกิดอะไรขึ้นกับถุงมือเหล่านั้นบ้างหลังจากที่พวกมันเข้าสหรัฐฯ มาได้ ในกรณีเลวร้ายที่สุด คือมีการนำถุงมือการแพทย์เหล่านั้นไปใช้ในทางการแพทย์จริง

มีบริษัท 2 เจ้าที่บอกกับ CNN ว่า การสินค้าถุงมือการแพทย์ที่มาจากไทยไม่ได้มาตรฐาน และบางครั้งไม่ใช่ถุงมือที่เป็นยางไนไตรล์ด้วยซำ บริษัท Uweport บอกว่า พวกเขาไม่สามารถขายต่อถุงมือยางให้บริษัททางการแพทย์ได้ตามแผนที่วางไว้ แต่นำไปขายในราคาที่ต่ำกว่าให้กับโรงงานแปรรูปอาหาร โรงแรม และร้านอาหารในสหรัฐฯ แทน

อีกบริษัทหนึ่งคือ US Liberty LLC มีประสบการณ์คล้ายกันมาก โดยไม่ได้ซื้อถุงมือการแพทย์จาก Paddy the Room แต่ซื้อจากบริษัทเวียดนามอีกแห่งหนึ่งซึ่งส่งถุงมือที่มีรู มีคราบ ขาด และมีสีต่างกันมาให้

ด้าน หลุยส์ ซิสกิน ผู้ประกอบการชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ซื้อถุงมือการแพทย์จาก Paddy the Room เล่าว่า บริษัท AirQueen ของเขาดำเนินการสั่งซื้อถุงมือการแพทย์มูลค่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 90 ล้านบาท) และจ่ายเงินล่วงหน้า 100% เต็ม

ปรากฏว่า ถุงมือส่วนใหญ่ที่เขาซื้อไม่ใช่ยางไนไตรล์ แต่เป็นลาเท็กซ์หรือไวนิลเกรดต่ำ และถุงมือจำนวนมากสกปรกมากและเป็นของมือสอง ซิสกินบอกว่า ไม่มีทางที่เขาจะส่งถุงมือที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ไปยังโรงพยาบาลแน่นอน

รวบแล้วแก๊ง "เสื้อฮู้ด" ป่วนเชียงใหม่

“นี่เป็นปัญหาด้านความปลอดภัยโดยสิ้นเชิง... สำหรับผม การที่บริษัทเหล่านี้ไม่เคยถูกขึ้นบัญชีดำเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก” เขากล่าว

Paddy the Room ยังเคยส่งรายงานการตรวจสอบอ้างว่า ถุงมือที่ส่งมามีคุณภาพสูง แน่นอนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของปลอม

เช่นเดียวกับเคอร์เชน ทางซิสกินได้แจ้งปัญหากับทางการสหรัฐฯ เช่นกันเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยติดต่อทั้ง FDA และ CBP อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

นับจากเดือน ก.พ. ที่เคอร์เชนและซิสกินแจ้งปัญหาไป มีรายงานพบว่า สหรัฐฯ ยังคงนำเข้าถุงมือการแพทย์จาก Paddy the Room เข้ามามากถึง 28 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือถุงมือมากกว่า 80 ล้านชิ้น

การเข้ามาของถุงมือการแพทย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานในสหรัฐฯ ทำได้ง่ายขึ้นจากการระงับกฎระเบียบการนำเข้าชั่วคราวของ FDA

ในแถลงการณ์ FDA ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้นำเข้าอุปกรณ์หรือชุดป้องกันทางการแพทย์ได้ภายใต้กฎที่ผ่อนคลายขึ้น ตราบใดที่สินค้าเป็นไปตามมาตรฐาน

แต่สหรัฐฯ มีการตรวจสอบสินค้าการแพทย์ที่มาถึงท่าเรือของสหรัฐฯ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถุงมือแพทย์มือสองหรือที่ปนเปื้อนก็มักจะไม่ถูกตรวจพบจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

ล่าสุดในเดือน ส.ค. FDA ได้แจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ท่าเรือทั้งหมดอย่างเป็นทางการว่า การขนส่งจาก Paddy the Room ควรถูกกักไว้โดยไม่ต้องตรวจสอบคุณภาพ แต่ใช้เวลาถึง 5 เดือนหลังจากที่เคอร์เชนและซิสกินแจ้งปัญหาไป

เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (DHS) ยืนยันว่า ยังคงมีการสอบสวนทางอาญาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น

CBP บอกกับ CNN ว่าได้ยึดหน้ากากอนามัยปลอมจำนวน 40 ล้านชิ้นและรายการ PPE อื่น ๆ อีกนับแสนรายการ มันบอกว่าได้ยึดการจัดส่งถุงมือบางส่วน แต่ไม่ได้ติดตามปริมาณการชัก

ไมค์ โรส เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษด้านสืบสวนของ DHS กล่าวว่า ฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ DHS ได้เปิดตัวโครงการ Operation Stolen Promise เพื่อปราบปรามชุด PPE ปลอมโดยเฉพาะ ซึ่งโรสกล่าวว่าประสบความสำเร็จดี ขณะนี้ได้ดำเนินคดีไปแล้วมากกว่า 2,000 ราย

“ผมคิดว่า DHS เป็นแบบอย่างให้กับทั่วโลกในการประสานความพยายามระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหยุดการนำเข้า ธุรกรรม และกิจกรรมทางอาญาอื่น ๆ โดยรอบทั้งหมด” โรสกล่าว

คอนเฟิร์ม“ลิซ่า” ร่วมงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ภูเก็ต

ความเคลื่อนไหวในไทย

CNN รายงานว่า ด้าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยเอง ก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้ทันกับกลโกงการค้าถุงมือไนไตรล์มือสอง

เมื่อเจ้าหน้าที่บุกค้น Paddy the Room เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว พวกเขาพบกองถุงขยะที่เต็มไปด้วยถุงมือหลากสี หลากวัสดุ หลากคุณภาพต่างกัน คนงานในโกดังเก็บถุงมือเก่าที่ถูกทำให้ใหม่ใส่กล่องของ “ศรีตรัง” ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือที่มีชื่อเสียงและถูกกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งทางศรีตรังบอกกับ CNN ว่า ไม่เคยทำธุรกิจกับ Paddy the Room

แต่การบุกค้นจับกุมครั้งนั้นไม่ได้ทำให้ Paddy the Room ปิดตัวลงไป สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. บอกกับ CNN ว่า หลายเดือนต่อมา อย. ได้บุกเข้าไปในโรงงานที่คล้ายกัน

“พวกเขาเพียงย้ายไปที่อื่น ไปที่โกดังอื่น แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะความต้องการถุงมือการแพทย์ยังสูงอยู่ ยังมีลูกค้ารออยู่อีกมาก” เธอบอก

CNN ได้ลองติดต่อไปยัง Paddy the Room และบริษัทหุ้นส่วน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

อย.ไทยยังกล่าวว่า ได้ดำเนินการตรวจค้นโรงงานต่าง ๆ อย่างน้อย 10 ครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และยึดถุงมือการแพทย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานและถุงมือที่ใช้แล้วได้จำนวนมาห และการบุกค้นบางครั้งยังพบคนงานกำลังขัดถุงมือที่ใช้แล้วด้วยมือเปล่า ๆ ในอ่างล้างและย้อมด้วยสีผสมอาหาร

สุภัทราเสริมว่า ถุงมือที่ใช้แล้วจำนวนมากเหล่านี้อาจถูกนำเข้ามาจากจีนหรืออินโดนีเซีย “ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ มีความต้องการอย่างมากทั้งจากโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป ปริมาณถุงมือที่ผิดกฎหมายที่เราพบมีมหาศาล”

สุภัทรากล่าวว่า มีเครือข่ายบุคคลและบริษัททุจริตในประเทศไทยที่ทำงานร่วมกันเพื่อทำกำไรด้วยวิธีที่ผิดจากความต้องการถุงมือการแพทย์ หนึ่งในบริษัทเหล่านั้นคือ SkyMed ซึ่งเป็นแบรนด์ที่บริหารโดยอดีตนายทหารไทย โดยกล่องที่มีฉลาก SkyMed ถูกพบในการบุกจับโรงงานของ Paddy the Room เมื่อเดือน ธ.ค.

เปิดคลิปชายโดดใส่รถก่อนขโมยรถแท็กซี่

ตามข้อมูลของ อย. บริษัทดังกล่าวมีใบอนุญาตนำเข้าถุงมือทางการแพทย์ที่ผลิตในเวียดนาม แต่บันทึกระบุว่า SkyMed ไม่เคยนำเข้าถุงมือทางการแพทย์มายังประเทศไทยเลย และบริษัทไม่ได้ผลิตถุงมือของตัวเองด้วย

CNN ติดต่อไปยัง SkyMed แต่ไม่ได้รับการตอบกลับเช่นกัน

รายของ CNN นี้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้วทั่วโลก การส่งออกถุงมือการแพทย์มือสองจึงเป็นเรื่องที่ทางการไทยจะต้องจับตาดูและลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนใกล้ชิด

ในอดีตเราเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก (ซึ่งตอนนี้อันดับร่วงลงมาแล้ว) ณ วันนี้เราคงไม่อยากถูกตราหน้าว่า เป็นผู้ส่งออกถุงมือการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานอันดับ 1 ของโลกกระมัง

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก อย.

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ