ไต้หวัน ชี้จีนคุกคามมากขึ้น วอนโลกปกป้องประชาธิปไตย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่องสำหรับความสัมพันธ์จีนกับไต้หวัน ตึงเครียดกันมาตั้งแต่ต้นปี หลังจากจีนส่งเครื่องบินรบเข้ามาในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันต่อเนื่อง มากที่สุดคือในวันที่ 4 ต.ค. ส่งมาถึง 56 ลำ มีทั้งเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ และถ้านับตั้งแต่ต้นปี จีนส่งเครื่องบินเข้าเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันแล้วมากกว่า 600 ครั้ง

จีน ส่งเครื่องบินรบลุกล้ำไต้หวัน เกือบ 150 ลำ ใน 4 วัน

สหรัฐฯ ยังคงทหารในไต้หวัน แม้ตัดสัมพันธ์ทางการแล้ว

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยันรวมชาติกับไต้หวันด้วยสันติวิธี

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ชิว  กว๋อ-เจิ้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไต้หวันให้สัมภาษณ์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันกำลังอยู่ในจุดที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 40 ปี และมีความเป็นไปได้ที่จีนจะมีความสามารถในการบุกยึดไต้หวัน ด้วยศักยภาพทางการทหารแบบเต็มรูปแบบในปี 2025 นี้ หรืออีก 4 ปีข้างหน้า  ล่าสุด ประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน ของไต้หวันให้สัมภาษณ์ย้ำอีกรอบกับสำนักข่าว CNN ระบุว่า ภัยคุกคามจากจีนมีเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ไช่ อิง เหวิน ผู้นำไต้หวันยังระบุด้วยว่า ไต้หวันจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของตนเอง เพราะประชากรไต้หวันทั้ง 23 ล้านคนต้องมีเสรีภาพแบบในสิ่งที่พวกเขาสมควรจะได้ ไต้หวันเปรียบเสมือนดวงประทีปแห่งประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการปกป้อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความความศรัทธาต่อคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าไต้หวันล้มเหลว นั่นหมายความว่า คนที่กำลังต่อสู้จะเกิดความคลางแคลงไจว่า การต่อสู้เพื่อคุณค่าของประชาธิปไตยจะยังเป็นสิ่งที่พวกเขาสมควรต่อสู้ต่อไปหรือไม่

ถอดรหัสการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ นี่คือการเรียกร้อง อ้อนวอนของไต้หวัน เพื่อให้ประชาคมโลกเข้ามาปกป้องท่ามกลางความแข็งกร้าวของจีนที่มีต่อไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ไต้หวันแยกตัวออกจากจีนมา 72 ปีแล้ว หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดย เหมา เจ๋อตง ได้รับชัยชนะประกาศตั้งสาธารณรัฐจีนยุคใหม่  ส่วนฝั่งพรรคก๊กมินตั๋งที่นำโดยเจียง ไคเช็คที่แพ้สงครามก็หนีไปไต้หวัน ตั้งชื่อเกาะแบบเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีนเช่นกัน จวบจนวันนี้ จีนยังคงไม่ยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน แม้ว่าในทางปฎิบัติแล้วไต้หวันจะมีองค์ประกอบครบทุกอย่างในฐานะประเทศ ๆ หนึ่ง

ไต้หวันกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงหลายครั้ง เพราะมีหลายประเทศที่ยอมรับอธิปไตย ขณะที่อีกหลายชาติก็ยึดหลักการจีนเดียว ปัจจุบันมีเพียง 16  ประเทศที่ยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน และนับว่าไต้หวันเป็นประเทศ ไม่ได้อยู่ภายใต้จีน โดยประเทศดังกล่าว คือ ประเทศเบลีซ กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส คิริบาส หมู่เกาะมาร์แชลล์ นาอูรู นิการากัว ปาเลา ปารากวัย เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ เอสวาตินี ตูวาลู และนครรัฐวาติกัน

 

สำหรับสหรัฐเคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่ในปี 1979 รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ตัดสัมพันธ์นี้ไปและหันมารับรองจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้นโยบายจีนเดียว หรือ One China Policy แต่การตัดสัมพันธ์ก็ไม่ถึงกับตัดแบบสิ้นเชิง เพราะสภาคองเกรสมีการผ่านกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน หรือ Taiwan Relations Act ซึ่งอนุญาตให้สหรัฐยังคงความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งที่รวมถึงการขายอาวุธให้ไต้หวันเพื่อป้องกันตนเอง

ส่วนที่ทางในองค์กรระหว่างประเทศไต้หวันก็ไม่ค่อยมี แม้แต่องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรการเมืองอย่างองค์การอนามัยโลก ไต้หวันเคยมีที่นั่งในองค์การสหประชาชาติเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ถูกบีบออกจากการเป็นสมาชิกเพื่อให้ที่นั่งกับจีนแผ่นดินใหญ่แทนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์กับสหรัฐและจีนไม่ค่อยดี นอกเหนือจากสงครามการค้า สหรัฐเริ่มไม่ไว้ใจจีนที่พยายามแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาค นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในช่วงนี้จึงเทน้ำหนักมาที่อินโดแปซิฟิกมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการทำข้อตกลงออคุสกับออสเตรเลียเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้เพื่อคานอำนาจกับจีน ส่วนท่าทีกับไต้หวัน ก็น่าสนใจ เพราะมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางสนับสนุนไต้หวันอย่างออกหน้าออกตามากขึ้นถ้าเทียบกับในยุคก่อน

 

เมื่อวันอังคาร ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 ปี ที่สหประชาชาติลงคะแนนรับรองจีนแผ่นดินใหญ่และขับไต้หวันออกจากการเป็นสมาชิก แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เขาเสียใจที่ไต้หวันถูกกีดกันออกจากเวทีระดับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ

บลิงเคน บอกว่า โลกเผชิญความซับซ้อนมากขึ้น และทุกฝ่ายควรต้องมีส่วนร่วมกัน รวมถึงประชาชน 24 ล้านคนในไต้หวันด้วย และที่สำคัญคือการพูดว่า การเข้าร่วมยูเอ็นของไต้หวัน “ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง”

คำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมีนัยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไต้หวันควรมีพื้นที่ในเวทีโลก แน่นอนจีนไม่พอใจออกมาตอบโต้บลิงเคนทันที

เมื่อวานนี้ หม่า เสี่ยวกวง โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันในกรุงปักกิ่ง บอกว่า สหประชาชาติเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสมาชิกเป็นรัฐอธิปไตย แต่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไต้หวันจึงไม่มีสิทธิ์หรือที่ทางในสหประชาชาติ

ดูเหมือนจีนจะเคืองสหรัฐมาก เพราะในวันเดียวกัน จ้าว หลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาอัดรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี บลิงเคนอีกรอบในประเด็นสหประชาชาติกับไต้หวัน

แต่ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีหลายประเทศแสดงท่าทีเข้าข้างไต้หวันมากขึ้น รวมถึงออสเตรเลีย หนึ่งในประเทศที่กำลังกังวลกับการขยายอิทธิพลของจีนโดยเฉพาะที่หลังบ้านตัวเองอย่างในประเทศหมู่เกาะแปชิฟิก เช่น ฟิจิ ปาปัวนิวกินี

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ช่วงที่จีนส่งเครื่องบินรบเข้าเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันแบบถี่ยิบ โทนี แอบบอต อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เดินทางมาใต้หวัน ยืนยันว่า ออสเตรเลียและสหรัฐฯ จะไม่ทิ้งให้ไต้หวันต่อสู้กับจีนอย่างโดดเดี่ยว

ทั้งหมดทั้งปวงเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่สำนักข่าวยักษ์ของสหรัฐเปิดเผยรายโดยอ้างแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐหลายคนโดยไม่เปิดเผยรายชื่อว่า สหรัฐได้ส่งหน่วยรบพิเศษและหน่วยนาวิกโยธินเข้าไปช่วยฝึกฝนกำลังพลของไต้หวัน อย่างลับ ๆ ตั้งแต่ปี 2020 มีทั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ฝึกซ้อมรบให้กับทหารราบ และส่วนนาวิกโยธิน หรือ Marine ฝึกรบให้กับหน่วนกองทัพเรือ มีการฝึกในปฏิบัติการซ้อมการแทรกซึมด้วยเรือโจมตีที่ฐานทัพเรือในเมืองเกาสง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน

ในสัมภาษณ์ของผู้นำไต้หวันกับ CNN คราวนี้ เป็นครั้งแรกที่เธอยอมรับว่า สหรัฐมีการส่งกำลังเข้ามาซ้อมรบให้ไต้หวันจริง โดยเธอระบุว่า สหรัฐส่งกองกำลังเล็ก ๆเข้ามา อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไช่ไม่ได้ระบุจำนวนบุคลากรของกองทัพสหรัฐว่ามีอยู่เท่าไหร่บนเกาะไต้หวัน เพียงแต่ระบุว่าไม่ได้มากแบบที่หลายคนคิด  เธอบอกว่า ไต้หวันกับสหรัฐมีความร่วมมือทางหทารอย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเองของไต้หวันจากการถูกรุกราน ปิดท้ายการให้สัมภาษณ์ด้วยการแสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐจะปกป้องไต้หวันอย่างเต็มที่

ซึ่งล่าสุดประธาธิบดีโจ ไบเดน ที่ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนในเวทีสหรัฐ-อาเซียนพลัสก็ประกาศเสียงดังว่า สหรัฐมีพันธะสัญญาที่มั่นคงดุจหินผาในการปกป้องไต้หวัน โดยเขาระบุว่า การกระทำของจีนต่อไต้หวันเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

เราได้เห็นความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันที่ก่อตัวตั้งแต่ต้นปี และดูเหมือนจะเข้มข้นมากมากขึ้นเรื่อย ๆ แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  พร้อม ๆ กับท่าทีที่ชัดเจนขึ้นของสหรัฐและพันธมิตรในอินโอแปซิฟิกไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือออสเตรเลียที่ประกาศว่า พร้อมปกป้องไต้หวันหากถูกคุกคาม

ด้านคนไต้หวันคิดเห็นอย่างไร?  หลายคนรู้สึกหวั่นกลัว แต่ยังคงมีความหวังว่าสันติภาพจะเกิดขึ้น  หนึ่งในนั้นที่เป็นอดีตทหารผู้เคยเป้นแนวหน้ารบกับทหารจีนบนเกาะจินเหมิน ด่านแรกของไต้หวันในการต่อสู้กับจีนเมื่อปี 1991 ระบุว่า จะคนจีนแผ่นดินใหญ่ หรือเป็นคนไต้หวันล้วนเป็นลูกหลายของจักรพรรดิจีนไม่ต่างกัน

ส่วนเจสสิกา เฉิน เจ้าของร้านน้ำชาวัย 52 ปีระบุว่า เธอต้องการเห็นจีนกับไต้หวันจับมือกันเสียที เพื่อที่คนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตบนความขัดแย้ง

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ