เปิดสาเหตุ นานาชาติตั้งเป้าอุณหภูมิโลก ไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เสียงเรียกร้องให้ลงมือทำกำลังดังขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะจากผู้นำของโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองหรือความคิด แต่รวมถึงคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ออกมาเรียกร้อง ก่อนที่จะไปดูว่า การประชุม Cop26 จะทำตามเรียกร้องร้องได้หรือไม่ เรามาดูก่อนว่า ทำไมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ประชาคมโลกจึงสัญญากันว่าจะร่วมกันทุกทางเพื่อไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แล้วถ้าเกินจะเกิดอะไรขึ้น? ทำไมนานาชาติจึงตั้งเป้าอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศา และทำไมจึงต้องเป็น 1.5 องศาเซลเซียส

UN เผยรายงานอุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส

เผยภาพจำลองระดับน้ำในเมืองทั่วโลก หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส

อีกครั้งที่ผู้นำโลกมารวมตัวกันรับมือภัยคุกคามที่อันตรายที่สุด ไม่ใช่สงคราม เชื้อโรค หรือการรุกรานจากต่างดาว หากคือสิ่งธรรมดาอย่างสภาพอากาศ ที่ขณะนี้กำลังผกผันอย่างสุดขั้วจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น นับตั้งแต่ข้อตกลงปารีสถือกำเนิดขึ้นในปี 2015 จากการประชุม Cop21 ทุก ๆ ปี ผู้นำประเทศจะมารวมตัวกันแบบนี้

วาระการประชุมที่กำลังเกิดขึ้นคือ Cop26 ในประเด็นเร่งด่วนว่า มนุษยชาติเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีในการแก้ไขปัญหา และตลอดหลายปีที่ผ่านมาโลกยังไม่เข้าใกล้เป้าหมายในการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รายงานจาก เลขาธิการแห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกออกมาย้ำถึงความจริงข้อนี้ หนึ่งวันก่อนที่การประชุม Cop26 ในเมืองกลาสโกว์จะเริ่มขึ้น

ทำไมต้อง 2 องศาเซลเซียส? เพราะนี่คือหัวใจหลักในข้อตกลงปารีส ตามข้อตกลงในปี 2015 นานาชาติจะร่วมกันจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงจะป้องกันไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากสภาพอากาศ  เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยประเทศไทยที่สูงแตะ 30 องศาเซลเซียส ตัวเลข 1.5 และ 2 องศาฯ อาจดูไม่มากนัก แต่ที่จริงนี่คือค่าเฉลี่ย

แน่นอนว่ามีพื้นที่ร้อนถึง 50 องศาเซลเซียสอย่าง ในทะเลทราย หรือหนาวสุดขั้วระดับติดลบ แต่เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์หมายถึงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก  การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างบ้าคลั่งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมาแล้ว 1 องศาเซลเซียส

ปัจจุบันอุณหภูมิโลกอยู่ที่เกือบ 1 องศาเซลเซียส งานวิจัยจากหลายสถาบันชี้ว่า ด้วยอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันโลกจะก้าวสู่ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 ขณะที่บางงานวิจัยก็มองในแง่ร้ายกว่านั้นว่าอาจเกิดขึ้นในปี 2024

อย่างไรก็ตามข่าวดีคือ 1.5 องศาเซลเซียสก็ยังดีกว่า 2 องศาเซลเซียสมากนัก เพราะสำหรับระบบนิเวศ หากอุณหภูมิโลกแตะ 2 องศาเซลเซียส ปะการังในท้องทะเลจะล้มตายจนเกือบหมด แต่หากแตะเพียง 1.5 องศาเซลเซียส บางสายพันธุ์ยังคงอยู่รอด ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส คาดกันว่าร้อยละ 18 ของแมลงจะสูญพันธุ์ แต่หากลดลงมา 0.5 องศาเซลเซียส อัตราการสูญพันธุ์จะลดเหลือร้อยละ 6

สำหรับมนุษยชาติ ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นราว 10 เซนติเมตร และทวีเป็น 20 เซนติเมตรหากอุณหภูมิโลกสูงถึง 2 องศาเซลเซียส พื้นที่ ๆ มีฝนตกก็จะยิ่งพบฝนมากขึ้น พื้นที่ ๆ มีน้ำท่วมก็จะยิ่งท่วมบ่อยครั้ง ยังไม่นับรวมพายุที่จะพัดถล่มถี่ขึ้น รุนแรงขึ้นไปด้วย แต่ที่สำคัญคือความร้อน เพราะร้อยละ 14 ของประชากรโลกจะเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงทุก ๆ 5 ปี จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเพิ่มเป็นร้อยละ 37 หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของโลก หากอุณหภูมิโลกแตะ 2 องศาเซลเซียส

โรเบิร์ต วอลตาร์ด นักอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า แบบจำลองที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินนั้นยังต่ำกว่าความเป็นจริงที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะในยุโรปที่ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนปีละหลายพันคนอยู่แล้ว ที่เลวร้ายเป็นทวีคูณ แม้ความต่างของค่าเฉลี่ยมีเพียงครึ่งองศาฯ ก็เพราะหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าในพื้นที่อื่น ๆ อุณหภูมิเฉลี่ยต้องสูงกว่านี้มาก เช่น อินเดียอาจร้อนขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียส ในขณะที่อาร์กติกอาจร้อนขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียส

และที่สำคัญคือ หากโลกร้อนถึง 2 องศาเซลเซียส นานาชาติจะได้เห็นคลื่นผู้ลี้ภัยจำนวนไม่ต่ำกว่า 150 ล้านคน กระจัดกระจายแสวงหาที่อยู่ใหม่ ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคซับซาฮารา เอเชียใต้ และลาตินอเมริกา พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประชาคมโลกต้องช่วยกันหยุดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะสูงกว่านั้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส หายนะจะมากกว่าเท่าตัว

อย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องง่ายในการป้องกันไม่ให้โลกแตะถึงเลข 1.5 องศาฯ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี และแบบจำลองจาก Carbon Brief แสดงให้เห็นว่า ยิ่งหลายปีผ่านไป ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องลดลงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ย้อนไปปี 2000 หากลดลงปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนฯ เพียงร้อยละ 3 ก็ช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2050 แล้ว แต่เมื่อทำไม่ได้ ข้ามมาปี 2019 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดจึงเพิ่มเป็นร้อยละ 15 จากกรอบเวลาที่น้อยลง

ปัจจุบันอัตราลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่โลกต้องทำให้ได้อยู่ที่ร้อยละ 45 จากปี 2010 และต้องทำให้ได้ก่อนปี 2030 หากต้องการบรรลุเป้าหมายไม่ให้โลกร้อนถึง 1.5 องศาเซลเซียส เท่านั้นยังไม่พอ ก่อนถึงปี 2050 นานาชาติควรบรรลุค่า net zero หรือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น

ยังไม่สายที่จะเยียวยาสภาพอากาศ แต่ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนที่สุด ก่อนที่มนุษยชาติจะเลยจุดที่สามารถแก้ไขได้

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ