โลกจะยังคงร้อนขึ้น 2.4 องศาฯ ต้องลดก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งใน 10 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




งานวิจัยชี้ โลกจะยังคงร้อนขึ้นในระดับน่ากังวล แม้หลายประเทศให้สัญญาแก้ปัญหา ชี้ต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

มหาสมุทรโลกเสียหายหนักช่วงโควิด-19 มี "ขยะโควิด" ถูกทิ้ง 2.6 หมื่นตัน

ข้อตกลงที่เกิดขึ้น หลังประชุม COP26 ผ่านไปครึ่งทาง

UN เผยรายงานอุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส

งานวิจัยใหม่จากกลุ่มติดตามการดำเนินการด้านสภาพอากาศ (CAT) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ชี้ว่า โลกจะยังเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสอยู่ดี แม้จะมีคำมั่นสัญญาลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจากนานาประเทศในการประชุม COP26 ก็ตาม

โดย CAT ประเมินว่า อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 2.4 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้หรือปี 2100 ซึ่งจะเกินกว่าที่ข้อตกลงปารีสระบุว่า โลกจำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และสูงกว่าเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสที่จะเป็นระดับที่ปลอดภัยกว่ามาก

ซึ่งในระดับการเพิ่มขึ้น 2.4 องศาเซลเซียสนี้ สภาพอากาศสุดขั้วจะเกิดในหลายพื้นที่มากขึ้น ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน และพายุ จะรุนแรงขึ้น CAT ระบุว่า พูดโดยง่ายคือ “จะเกิดความหายนะไปทั่วโลก”

การประมาณการนี้ของ CAT สวนทางโดยสิ้นเชิงกับการคาดการณ์ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ระดับอุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นเพียง 1.8-1.9 องศาเซลเซียส หลังหลายประเทศตั้งเป้าจะปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

แต่ CAT ประเมินจากเป้าหมายระยะสั้นของประเทศต่าง ๆ บิล แฮร์ หัวหน้าผู้บริหารของ Climate Analytics ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่อยู่เบื้องหลัง CAT กล่าวว่า “เรากังวลว่า บางประเทศกำลังทำให้คนเชื่อว่า COP26 สามารถทำให้เป้าหมายเพิ่มอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 เป็นเรื่องง่ายที่ใกล้จะสำเร็จแล้ว แต่มันไม่ใช่ มันยังอีกไกลมาก และพวกเขากำลังมองข้ามความจำเป็นในการตั้งเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030”

การประชุม COP26 มีเป้าหมาย 2 ประการ หนึ่งคือเป้าหมายระยะยาวในการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลกในช่วงปี 2050 และสองคือแผนระยะสั้น NDC ลดการปล่อยมลพิษจนถึงปี 2030

แต่ CAT กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลงประมาณ 45% หรือเกือบครึ่งของระดับปัจจุบันให้ได้ภายในทศวรรษนี้ หรืออีกไม่ถึง 10 ปี เพื่อให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ประเทศที่รับผิดชอบการปล่อยมลพิษทั่วโลกประมาณ 90% ได้ลงนามเพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ส่วนใหญ่ขอเป็นภายในปี 2050 สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในปี 2060 สำหรับจีน และภายในปี 2070 สำหรับอินเดีย

แต่แผนการระยะสั้นของประเทศเหล่านี้กลับยังไม่เพียงพอ เพราะหากในระยะสั้น ไม่เกิน 20 ปี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังสูงอยู่ โลกอาจร้อนขึ้นเกินเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสก่อนที่เป้าหมายระยะยาวจะสำเร็จเสียอีก

“เป็นเรื่องดีที่ประเทศต่างๆ มีเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว แต่พวกเขาจำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นด้วย” แฮร์กล่าว

นักวิเคราะห์ยังพบช่องว่างระหว่างสิ่งที่นานาประเทศบอกว่าจะทำ กับแผนการจริง ๆ ของพวกเขา หากคำนึงถึงนโยบายและมาตรการในปัจจุบัน อุณหภูมิโลกอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 2.7 องศาเซลเซียส

นิคลัส โฮเน หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “ความตั้งใจในระยะยาวของนานาประเทศนั้นดี แต่การดำเนินการในระยะสั้นยังไม่เพียงพอ”

ล่าสุดในสัปดาห์ที่ 2 ของการประชุม COP26 เริ่มมีบางประเทศที่ต้องการการดำเนินการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เช่น เสนอให้ประเทศต่าง ๆ แก้ไขแผนระยะสั้น NDC เป็นประจำทุกปี หากไม่สอดคล้องกับหลัก 1.5 องศาเซลเซียสจะต้องปรับแก้

แฮร์บอกว่า ไม่ใช่แค่ CAT เท่านั้นที่ได้ผลการประเมินแบบนี้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เอง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากอิงจากเป้าหมายระยะยาว ระดับอุณหภูมิโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับที่เราต้องการ

แฮร์กล่าวว่า เป้าหมายระยะยาวของหลายประเทศขาดความน่าเชื่อถือ เช่น บราซิล ออสเตรเลีย และรัสเซีย เพราะแผนระยะสั้นของพวกเขาไม่ได้นำไปสู่แผนระยะยาว โฮเนเสริมว่า ประเทศต่าง ๆ ควรแก้ไข NDC ของตนทุกปี

รายงานของ CAT ระบุว่า เป้าหมายปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ของ 40 ประเทศคิดเป็น 85% ของการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก แต่มีเพียง 6% เท่านั้นที่มีแผนการเป็นรูปธรรม

“เป็นเรื่องดีที่เหล่าผู้นำอ้างว่าพวกเขามีเป้าหมายปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ แต่ถ้าพวกเขาไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ก็ต้องขอบอกตรง ๆ ว่าเป้าหมายปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์เหล่านี้ก็เป็นแค่ลมปากเท่านั้น” แฮร์กล่าว

รวมวรรคทองของบรรดาผู้นำระดับโลกจากการประชุม COP26 ใครพูดอะไรบ้าง?

นายกฯ แสดงทัศนะในเวทีโลก COP26 ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 2065

ทั้งนี้ CAT รายงานว่า สถานการณ์ในแง่ดีที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือ อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.8 องศาเซลเซียส แต่จะต้องมีการดำเนินการที่กล้าหาญและรวดเร็วภายในปี 2030 แต่ ณ ปัจจุบัน CAT ประเมินว่า เป้าหมายและแผนงานระยะสั้นด้านสภาพอากาศของประเทศต่าง ๆ ยังคงไม่เพียงพอ

 

เรียบเรียงจาก CNN / The Guardian

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ