นักธุรกิจฮ่องกงดำน้ำตามเก็บกู้อวนจับปลาในทะเลรอบฮ่องกงมานับสิบปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ฮ่องกงชื่นชมนักธุรกิจวัยเกือบ 70 ปี ดำน้ำเก็บกู้ “อุปกรณ์ผี” ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลมาตลอดหลายสิบปี

ฮ่องกงมีประวัติศาสตร์การหาเลี้ยงชีพทางท้องทะเลมานานหลายร้อยปี จากชุมชนชาวประมงสู่ท่าเรือระหว่างประเทศที่สำคัญของโลก แต่ในอีกด้าน ใต้ผิวน้ำชายฝั่งทะเลของฮ่องกงกลับเต็มไปด้วยภัยคุกคามแฝงต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล

“อวนผี” หรือ “อุปกรณ์ผี” คืออุปกรณ์ตกปลาหรือการประมงที่ถูกทิ้งหรือเจ้าของทำหายไปในท้องทะเล ทำให้พวกมันลอยอยู่ในทะเล หากสัตว์ทะเลมาโดนก็อาจบาดเจ็บ ติดอยู่ในอวน หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ บางครั้งยังไปติดเรือหรือแม้แต่คุกคามนักดำน้ำ

ชาวหัวไทร ช่วยเต่าตนุยักษ์ ติดอวนประมง รักษาครีบขาหลัง รอปล่อยคืนทะเล

ชาวประมงช่วยกระเบนราหูติดอวน 12 ตัว

ชาวประมงสตูลช่วยชีวิต “เต่ากระ” ติดอวน

ชาวฮ่องกงรายหนึ่งเห็นปัญหานี้ และตัดสินใจจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เขาคือ แฮร์รี ชาน นักธุรกิจเกษียณวัย 68 ปี ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “นักล่าอวนผี” ได้ใช้เวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาในการเก็บกู้อุปกรณ์ประมงที่ทะเลขึ้นมา เขากล่าวว่า เขากำลังปฏิบัติภารกิจในการทำความสะอาดน่านน้ำและชายฝั่งโดยรอบของฮ่องกง

“ถ้าเราไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมและทะเลไว้ เราก็จะไม่มีสิ่งเหล่านี้อีกแล้ว” ชานกล่าว

อุปกรณ์ประมงเหล่านี้อาจไปจบลงในทะเลโดยบังเอิญ เช่น ถูกพายุพัด แต่บางครั้งอาจถูกทิ้งโดยเจตนา บ่อยครั้งเพื่อปกปิดหลักฐานการตกปลาที่ผิดกฎหมาย

นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาในฮ่องกงเท่านั้น จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในแต่ละปี จะมีอุปกรณ์ผีเหล่านี้กว่า 640,000 ตันตกลงลงไปในน่านน้ำทั่วโลกทุกปี หรือเท่ากับรถบัสมากกว่า 50,000 คัน

เมื่อปี 2018 ในการศึกษาที่ Great Pacific Garbage Patch ซึ่งเป็นที่เก็บขยะขนาด 1.6 ล้านตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของมวลขยะที่พบมาจาก ตาข่าย เชือก และอุปกรณ์ในการประมง

ลอเรนซ์ แม็กคุก ผู้อำนวยการด้านมหาสมุทรของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ฮ่องกงกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับชีวิตในทะเลและชีวิตผู้คน

แม็กคุกบอกว่า ในแต่ละปี คาดว่ามีโลมา แมวน้ำ เต่า และวาฬรวมกว่า 136,000 ตัวถูกอุปกรณ์ผีฆ่า ยังไม่นับปลาและสัตว์ทะเลขนาดเล็กอื่น ๆ อีกจำนวนนับไม่ถ้วน

อุปกรณ์ผีสามารถลดจำนวนประชากรปลาในบางพื้นที่ได้ถึง 30% ส่งผลกระทบต่อเสบียงอาหารและผลกำไรของอุตสาหกรรมการประมง ตลอดจนโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ปลา

ชานเล่าว่า เมื่อเขาพบตาข่ายแล้ว การถอดตาข่ายออกอาจใช้เวลา 3-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นงานที่อันตรายและทรหด แต่ชานซึ่งดำน้ำมาตั้งแต่ปี 1987 ดำน้ำมาแล้วมากกว่า 3,000 ครั้งจนถึงปัจจุบัน มีความกระตือรือร้นอย่างมาก และประสบการณ์ใกล้ตายที่ผ่านมาก็ไม่อาจหยุดยั้งเขาได้

“มีอยู่ 2-3 ครั้งที่ผมเกือบตายเพราะถูกอุปกรณ์ผีพันแข้งพันขา แต่โชคดีที่คู่หูของผมมาช่วยทัน” เขากล่าว

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชานได้สร้างทีมอาสาสมัครเล็ก ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยเขาในภารกิจทำความสะอาดน่านน้ำของฮ่องกง

เมื่อพวกเขาพบอุปกรณ์ผี ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควรเพราะน่านน้ำฮ่องกงไม่ได้ใสนัก พวกเขาก็จะใช้มีดหรือกรรไกรเพื่อปล่อยสัตว์ทะเลที่ติดอยู่ในนั้น หรือเก็บกู้จากหิน ปะการัง หรือก้นทะเลที่มันไปติดอยู่

โดยปกติ ชานจะออกมาดำน้ำเก็บกู้อุปกรณ์ผีเดือนละ 2 ครั้ง รวมทั้งทำความสะอาดชายหาดและชายฝั่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชานประเมินว่า พวกเขาเก็บกู้อุปกรณ์ผีได้มากกว่า 80 ตันแล้ว และบอกว่าเขามุ่งมั่นที่จะตามล่าพวกมันต่อไป

อดีตสมาชิกพรรคของ อองซาน ซูจี ถูกตัดสินโทษจำคุกเกือบร้อยปี

สถานบริการทางเพศออสเตรียเปิดฉีดวัคซีนโควิด

“การเป็นนักดำน้ำ มีหลายสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อปกป้องและช่วยเหลือทะเล” เขากล่าว

แม็กคุกกล่าวว่า ในขณะที่ “วีรบุรุษ” อย่างชานกำลังทำงานอย่างหนักในการรวบรวมอุปกรณ์ผี อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับนักดำน้ำก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

“ตาข่ายถูกออกแบบมาเพื่อจับสิ่งต่าง ๆ ใต้น้ำ และทำได้ดีมากในการทำเช่นนั้น มันง่ายมากที่จะอวนพันตัวคุณ และท้ายที่สุดอย่าลืมว่า เราอยู่ใต้น้ำ เรามีอากาศที่จำกัด” เขากล่าว

นั่นเป็นเหตุผลที่ WWF ฮ่องกงได้พัฒนาโปรแกรม “นักสืบอุปกรณ์ผี (Ghost Gear Detective)” ขึ้นมา โดยเชิญชวนนักดำน้ำและนักพายเรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจให้บันทึกตำแหน่งของอุปกรณ์ผีผ่านกระดานกันน้ำ โดยใช้อุปกรณ์ GPS แบบพกพาเพื่อระบุพิกัด ข้อมูลนี้จะถูกรายงานผ่านแอปเมื่อกลับขึ้นฝั่งมา

จากนั้น กรมวิชาการเกษตร การประมง และการอนุรักษ์ของรัฐบาลฮ่องกงจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อรวบรวมอุปกรณ์ผีร่วมกับทีมนักดำน้ำผู้เชี่ยวชาญ นับตั้งแต่เปิดตัวโปรแกรมในปี 2019 WWF ฮ่องกงกล่าวว่า เก็บกู้อุปกรณ์ผีได้แล้วอย่างน้อย 244 ชิ้น

“คุณค่าของการรวบรวมข้อมูลไม่ใช่แค่การเก็บกู้อุปกรณ์ผีเท่านั้น แต่ฐานข้อมูลนี้จะทำให้รัฐบาลและเราเองเข้าใจขนาดและลักษณะของปัญหามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการค้นหาแนวทางแก้ไข” แม็กคุกกล่าว

ในขณะที่การเก็บกู้อุปกรณ์ผีเป็นสิ่งจำเป็น การหยุดไม่ให้อุปกรณ์ตกปลาหรือประมงไปลงเอยในมหาสมุทรตั้งแต่แรกต่างหากคือกุญแจสำคัญ

การสร้างแรงจูงใจให้กับชาวประมงในการรักษาอุปกรณ์ของพวกเขาให้ดี สามารถช่วย “ป้องกันการทิ้งอุปกรณ์โดยเจตนาและไม่เจตนาได้” แม็กคุกกล่าว

รวมถึงหากมีเทคโนโลยีติดตามอุปกรณ์ตกปลา เช่น การติดแท็กอิเล็กทรอนิกส์ ป้ายระบุความถี่วิทยุ (RFID) จะสามารถช่วยตำรวจน้ำในการสแกนอุปกรณ์เพื่อให้แน่ใจว่ามาจากการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย เพื่อลดการทิ้งอุปกรณ์ผิดกฎหมายลงทะเลได้

ชานหวังว่า นโยบายของรัฐบาลที่ปรับปรุงแล้วจะขจัด “สาเหตุที่แท้จริง” สำหรับคนรุ่นอนาคตลงไปได้ และถึงแม้ขนาดของปัญหาบางครั้งอาจดูน่ากลัว แต่เขาบอกว่าตราบใดที่ยังมีอุปกรณ์ผีอยู่ในทะเล เขาก็จะดำน้ำต่อไป

“ผมอายุ 60 ปีแล้ว ผมได้ใช้เวลาทำในสิ่งที่อยากทำทุกวิถีทาง รวมถึงการเป็นนักประดาน้ำ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง อายุเป็นเพียงตัวเลข เราทำอะไรได้มากมาย ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่” ชานกล่าว

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก WWF Hong Kong

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ