นักวิทย์ชี้ “กองทัพและการทหาร” อีกหนึ่งตัวการสำคัญทำให้โลกร้อน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิทยาศาสตร์รายงานว่า “กองทัพและการทหารทั่วโลก” มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกร้องให้มีการควบคุมมลพิษจากภาคส่วนนี้

นักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อรับผิดชอบต่อโลก (SGR) ออกมาเตือนว่า กิจกรรมทางการทหารและการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพเป็นหนึ่งในผู้ก่อมลพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทั่วโลกกลับหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ไม่ต้องการลดการปล่อยมลพิษจากกลุ่มนี้

หากรวมกิจกรรมทางทหารและการใช้อุปกรณ์ของกองทัพทั่วโลกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คาดว่ามีส่วนในการสร้างมลพิษถึง 6% ของการปล่อยมลพิษทั้งหมดทั่วโลก

"ธารน้ำแข็ง" ธรรมชาติที่กำลังละลายหายไปเพราะโลกร้อน

โลกจะยังคงร้อนขึ้น 2.4 องศาฯ ต้องลดก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งใน 10 ปี

สื่อนอกจวก ผู้นำโลกประชุม COP26 แก้ปัญหาโลกร้อน แต่นั่งเจ็ตส่วนตัวมาเพียบ

โดย SGR ระบุว่า ใน 6% นี้ แบ่งได้อีกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือมลพิษจากฐานทัพต่าง ๆ 40% และมลพิษจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการทหาร 60% พร้อมยกตัวอย่างมลพิษจากอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น

  • การใช้รถฮัมวี (รถหุ้มเกราะ) 1 ครั้ง จะเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 260 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • เครื่องบินรบ F-35 จะปล่อยก๊าซ 27,800 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • เครื่องบินติดอาวุธนิวเคลียร์ B-2 จะปล่อยก๊าซถึง 251,400 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

พวกเขาอธิบายว่า นี่เป็น “ช่องโหว่ขนาดใหญ่” ในข้อตกลงปารีส คือรัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกองทัพหรือภาคกลาโหม หรือก่อนหน้านี้ ในพิธีสารเกียวโต หรือบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายผูกพันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ประกาศใช้ในปี 2005 ก็ระบุว่า การทหารหรือกองทัพจะได้รับการยกเว้นจากเป้าหมายลดการปล่อบก๊าซโดยอัตโนมัติ โดยเกิดจากการล็อบบี้จากรัฐบาลสหรัฐฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการเรียกร้องว่า เมื่อผู้นำทั่วโลกตั้งเป้ารักษาโลกใบนี้ไว้ไม่ให้มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็ควรรวมกิจกรรมทางการทหารไว้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีลดการปล่อยคาร์บอนด้วย เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำลังบ่อนทำลายความพยายามในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ดร.สจวร์ต พาร์กินสัน กรรมการบริหารของ SGR กล่าวว่า เมื่อรายจ่ายทางการทหารทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น ช่องโหว่ก็จะยังเพิ่มขึ้นตาม

“การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกองทัพมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ในข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีรายจ่ายทางทหารในระดับสูง เช่น สหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และฝรั่งเศส” เขากล่าว

พาร์กินสันเสริมว่า “ด้วยรายจ่ายทางทหารที่ยังคงเพิ่มขึ้น คาดว่าช่องโหว่นี้จะเติบโตจนเห็นได้ชัดในเวลาที่การปล่อยมลพิษจากภาคส่วนอื่น ๆ ลดลง ประเทศเหล่านี้จะมีความจริงจังจัดการกับปัญหานี้มากน้อยเพียงใดนั้น จะส่งผลต่อการดำเนินการในภาคส่วนอื่นและในประเทศอื่น ๆ ด้วย”

ข้อตกลงที่เกิดขึ้น หลังประชุม COP26 ผ่านไปครึ่งทาง

กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมของกองทัพสหราชอาณาจักรต่อปีอยู่ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่ SGR ประมาณการว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ 11 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตัวเลขดังกล่าวเท่ากับที่รถยนต์จำนวน 6 ล้านคันปล่อยออกมาในแต่ละปี

ส่วนบริษัทผลิตอาวุธในสหราชอาณาจักรที่มีการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ BAE Systems ซึ่งปล่อยมลพิษคิดเป็น 30% ของอุตสาหกรรมอาวุธของสหราชอาณาจักร

รายงานล่าสุดจาก SGR และ Conflict and Environment Observatory ประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกองทัพสหภาพยุโรปในปี 2019 อยู่ที่ 24.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยฝรั่งเศสมีส่วนรับผิดชอบประมาณ 1 ใน 3 ของมลพิษทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 56 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ SGR ประเมินว่า ตัวเลขจริงน่าจะอยู่ที่อย่างน้อย 205 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โครงการ Cost of War ของมหาวิทยาลัยบราวน์ ระบุไว้เมื่อปี 2019 ว่า “กองทัพสหรัฐฯ เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

SGR กล่าวว่า ตัวเลขทั้งหมดข้างต้นเป็นการประเมินแบบเคสที่ดีที่สุดแล้ว และยังไม่ได้นับรวมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการสู้รบในสงคราม ตัวอย่างเช่น สงครามอิรักก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 141 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 4 ปีแรก (2003-2007) ตามรายงานของ Oil Change International

 

พาร์กินสันเสริมว่า “หลายประเทศไม่ได้รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางการทหาร หรือบ้างรายงานแค่ตัวเลขบางส่วน ดังนั้น อาจเกิดการ ‘โยกย้ายตัวเลข’ เช่น มลพิษจากเครื่องบินรบ อาจถูกนำไปซ่อนรวมไว้ในมลพิษจากการบินพาณิชย์ หรือมลพิษจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการทหารอาจไปรวมอยู่ในหัวข้อกว้าง ๆ อย่างภาคอุตสาหกรรม มลพิษจากการสร้างฐานทัพอาจซ่อนอยู่ในหัวข้ออาคารสาธารณะ เป็นต้น ... แท้จริงแล้ว ไม่ใช่แค่ประชาชนที่ไม่รับรู้ตัวเลขจริง ๆ เชื่อว่าแม้แต่ผู้กำหนดนโยบายหรือนักวิจัยอย่างเรา ๆ ก็ไม่อาจทราบตัวเลขที่แท้จริงเช่นกัน”

แม้ว่าประเด็นเรื่องมลพิษจากภาคการทหารจะไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ในเมืองกลาสโกว์ แต่ก็มีการประท้วงเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรหรือประเทศอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับการลดมลพิษจากการทหาร เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อันยา นานนิง รามามูธี นักรณรงค์กลุ่มผู้รักความสงบแห่งชาติของสหภาพปฏิญาณสันติภาพ กล่าวว่า “ฉันคิดว่ามีหลายคนด้วยซ้ำที่ไม่ได้ตระหนักว่า ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทหารไม่ได้รวมอยู่ในข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซ เราได้เห็นรายจ่ายทางการทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในสหราชอาณาจักร ซึ่งมากที่สุดในรอบเกือบ 70 ปี ในขณะที่เราอยู่ในวิกฤตสภาพอากาศเช่นนี้ พวกเขาให้คำมั่นไว้อย่างหนึ่ง แต่ลงมือทำจริงอีกอย่างหนึ่ง”

ล่าสุด ได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลการปล่อยมลพิษของกองทัพ “Military Emissions Gap” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ติดตาม วิเคราะห์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางการทหาร”

จีน ผ่านมติประวัติศาสตร์ ปูทาง “สี จิ้นผิง” นั่ง ปธน.ตลอดชีวิต

เรียบเรียงจาก SGR / The Guardian

ภาพจาก AFP

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ