
ศาลทหารเมียนมาตัดสินจำคุก 11 ปี "แดนนี เฟนสเตอร์" นักข่าวอเมริกัน
เผยแพร่
นักข่าวอเมริกันในเมียนมาถูกตัดสินโทษจำคุก 11 ปี ฐานฝ่าฝืนกฎหมายคนเข้าเมือง เข้าร่วมการชุมนุมผิดกฎหมาย และยั่วยุต่อต้านกองทัพเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
วันนี้ (12 พ.ย.) ศาลทหารเมียนมาพิพากษาจำคุก 11 ปี นักข่าวชาวอเมริกันวัย 37 ปี แดนนี เฟนสเตอร์ ปัจจุบันเขาเป็นบรรณาธิการอำนวยการของ “ฟรอนเทียร์เมียนมา” และก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่ที่ “เมียนมานาว (Myanmar Now)” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีจุดยืนต่อต้านเผด็จการและการใช้ความรุนแรง
เฟนสเตอร์ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมามานานกว่า 5 เดือน เขาถูกปฏิเสธการประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำอินเซน เมืองย่างกุ้ง เรือนจำที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา นับตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 24 พ.ค.
เมียนมา ตั้งข้อหาก่อการร้ายนักข่าวอเมริกัน เสี่ยงถูกจำคุก 40 ปี
เมียนมาเคือง ไม่ได้ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ชี้ทำลายความเท่าเทียม
รัฐบาลเมียนมา ปล่อยนักโทษต้านรัฐประหารกว่า 5,000 คน
ในการไต่สวนของศาล ทนายของเฟนสเตอร์กล่าวว่า เฟนสเตอร์ถูกตัดสินว่ามีความผิด 3 กระทง คือ ละเมิดวีซ่า-กฎหมายคนเข้าเมือง เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มผิดกฎหมาย และการยั่วยุภายใต้มาตรา 505a แห่งประมวลกฎหมายอาญาของเมียนมา เผยแพร่ความคิดเห็นที่ “ก่อให้เกิดความกลัว” หรือ “ข่าวเท็จ” ให้เกิดการต่อต้านกองทัพ ซึ่งทั้งหมดกองทัพเมียนมาเป็นผู้ตั้งข้อหา
เฟนสเตอร์เป็นหนึ่งในนักข่าวประมาณ 100 คนที่ถูกกองทัพเมียนมาคุมขังตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ปัจจุบัน มีนักข่าวอีกประมาณ 30 ชีวิตที่ยังอยู่หลังลูกกรง
ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เขาถูกแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 กระทง คือ ปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล และก่อการร้าย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต
ข้อกล่าวหาแรกอยู่ในมาตรา 124a แห่งประมวลกฎหมายอาญาของเมียนมา ซึ่งกำหนดให้มีโทษจำคุก 7-20 ปี หากผู้ใดพยายามสร้างความเกลียดชัง ดูหมิ่น หรือก่อให้เกิดความละอายแก่รัฐบาลและกองทัพ
อีกข้อกาอยู่ภายใต้มาตรา 50a ของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งระบุว่า การติดต่อกับกลุ่ม “ผู้ก่อการร้าย” ที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด ถือเป็นอาชญากรรม เฟนสเตอร์อาจถูกจำคุกอย่างน้อย 10 ปีหรือโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต
ใน 2 ข้อหาใหม่นี้จะมีการพิจารณาแยกกันต่างหาก
ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงมีการฟ้องร้องบรรณาธิการอำนวยการของฟรอนเทียร์เมียนมา เฟนสเตอร์ถูกจับที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งขณะพยายามเดินทางออกจากประเทศเพื่อไปเยี่ยมครอบครัวของเขาที่สหรัฐอเมริกา
ด้านต้นสังกัดอย่าง ฟรอนเทียร์ เมียนมา กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กว่า “รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการพิจารณาคดี”
โทมัส คีน บรรณาธิการบริหารของฟรอนเทียร์เมียนมากล่าวว่า “ทุกคนที่ฟรอนเทียร์ผิดหวังและคับข้องใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ เราแค่ต้องการเห็น แดนนี ถูกปล่อยตัวโดยเร็วที่สุดเพื่อที่เขาจะได้กลับบ้านไปหาครอบครัวของเขา”
เยอรมนีติดโควิด-19 วันละครึ่งแสน มีผลกระทบการท่องเที่ยวไทยหรือไม่?
ฟรอนเทียร์เมียนมาเผยว่า ที่เฟนสเตอร์ถูกตั้งข้อกล่าวเหล่านี้ น่าจะสืบเนื่องมาจากเขาเคยทำงานให้กับสื่อที่ถูกกองทัพแบนอย่างเมียนมานาว แต่ฟรอนเทียร์เมียนมากล่าวว่า เฟนสเตอร์ได้ลาออกจากเมียนมานาวแล้วตั้งแต่เดือนก.ค. 2020 ก่อนเกิดรัฐประหาร และในช่วงเวลาที่เขาถูกจับกุมในเดือน พ.ค. 2021 เขาได้ทำงานร่วมกับฟรอนเทียร์เป็นเวลา 9 เดือนแล้ว
คีนกล่าวว่า “ไม่มีมูลเหตุใด ๆ ที่จะต้องตัดสินลงโทษแดนนีในข้อกล่าวหาเหล่านี้ ทนายของเขาชี้แจงอย่างชัดเจนต่อศาลแล้วว่า เขาลาออกจากเมียนมานาวและทำงานให้กับฟรอนเทียร์ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว”
ด้าน ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการของฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า “เหตุผลของการตัดสินโทษที่โหดร้ายและล่วงละเมิดสิทธินี้มี 2 ประการ คือ เพื่อข่มขู่นักข่าวที่เหลืออยู่ในเมียนมาด้วยการลงโทษเฟนสเตอร์ ขณะเดียวกันก็ส่งข้อความไปยังสหรัฐฯ ว่า กองทัพไม่พอใจการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และจะตอบโต้กลับด้วยการใช้การทูตตัวประกัน”
เขาเสริมว่า “งานวารสารศาสตร์ไม่ใช่อาชญากรรม และไม่ควรได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ แดนนี เฟนสเตอร์ และนักข่าวในเมียนมาจำนวนมากที่ยังถูกคุมขัง ควรได้รับการปล่อยตัวโดยด่วน”
ขณะที่ ทางการสหรัฐฯ กดดันรัฐบาลทหารให้ปล่อยตัวเขา ในคำแถลงก่อนการพิจารณาคดี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า “การกักขังเฟนสเตอร์อย่างไม่ยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกเห็น กองทัพเมียนมาควรดำเนินขั้นตอนปล่อยตัวเขาทันที”
แต่กระนั้น โฆษกกองทัพยืนยันว่า เฟนสเตอร์จำเป็นต้องถูกควบคุมตัว และสหรัฐฯ ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline