วิกฤตชายแดนโปแลนด์ตึงเครียด “เบลารุส” ขู่ตัดพลังงานให้EU


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์ผู้อพยพที่ชายแดนโปแลนด์-เบลารุสยังคงตึงเครียด หลังจากสหภาพยุโรปกล่าวหาว่า เบลารุสและรัสเซียร่วมมือกันดึงให้ผู้อพยพจากตะวันกลางเข้ามายังชายแดนของโปแลนด์เพื่อให้ผู้อพยพเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง และมีการขู่ประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับเบลารุสเพิ่มเติม เบลารุสก็สวนสหภาพยุโรปกลับทันที ล่าสุดคือ การขู่ที่อาจทำให้ทั้งสหภาพยุโรปต้องลำบากอย่างหนัก

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค ผู้นำเบลารุส เปิดแถลงข่าวแสดงความไม่พอใจที่โปแลนด์และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่เหลือขู่จะทำการคว่ำบาตรทางการค้าเพิ่มเติม

เขาบอกว่า ถ้าเป็นแบบนั้นจริง เบลารุสอาจจำเป็นต้องตัดเส้นทางขนส่งก๊าซจากรัสเซียที่ลำเลียงผ่านท่อในประเทศไปยังประเทศในสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปพึ่งพาพลังงานอย่างก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก โดยร้อยละ 40 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในทวีปมาจากรัสเซีย

สงครามไฮบริดบนชายแดนโปแลนด์-เบลารุส

นายกฯโปแลนด์ กล่าวหา “ปูติน” อยู่เบื้องหลังวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ชายแดนเบลารุส

และ 1 ใน 5 ของจำนวนนี้ต้องลำเลียงผ่านเบลารุสท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นหลักเป็นของบริษัทรัสเซียที่ชื่อว่า ก๊าซพรอม มีความยาวประมาณ 4,600 กิโลเมตร เริ่มต้นจากคาบสมุทรยามาล ทางตอนเหนือของรัสเซีย ผ่านเบลารุส ก่อนจะไปสิ้นสุดที่เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้กระจายก๊าซธรรมชาติสู่ทวีปยุโรป

คำขู่ของลูคาเชนโคที่จะตัดท่อนำส่งก๊าซธรรมชาติจึงทำให้อียูกังวลเป็นอย่างมาก เพราะขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้พลังงานสูง การยุติการส่งก๊าซธรรมชาติเข้ายุโรปจึงหมายถึงหายนะ

หลังการประกาศขู่ของเบลารุสว่าจะระงับการส่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรป รัสเซียยังไม่มีท่าทีใดๆออกมาอย่างไรก็ตาม ยังวางใจไม่ได้ เพราะในอดีต รัสเซียเคยใช้วิธีนี้กับยูเครนมาแล้ว

เมื่อช่วงปี 2008 ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียสั่งให้ให้บริษัทก๊าซพรอมหยุดส่งก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศยูเครนเพราะไม่พอใจที่ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูเชนโก ผู้นำยูเครนในขณะนั้นมีนโยบายเอนเอียงไปทางสหภาพยุโรป

การยุติส่งก๊าซธรรมชาติให้ยูเครนในคราวนั้นส่งผลให้ 18 ประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากยูเครนคือจุดผ่านของท่อก๊าซก่อนเข้าไปในประเทศยุโรปที่เหลือ

การที่เบลารุสออกมาขู่แบบนี้ เกิดขึ้นหลังจากสหภาพยุโรปประกาศว่าจะมีการคว่ำบาตรเบลารุสเพิ่มเติมหลังเบลารุสใช้ผู้อพยพเป็นเกมเดินพันทางการเมือง

สหภาพยุโรปคว่ำบาตรทางการค้ากับเบลารุสตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากประธานาธิบดีลูคาเชนโคให้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงการสืบทอดอำนาจของเขา

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค เป็นผู้นำเบลารุสมาต่อเนื่องถึง 27 ปีแล้ว นับตั้งแต่เบลารุสประเทศเอกราชเมื่อปี 1994 ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ลูคาเชนโคชนะเลือกตั้งอีกครั้ง ขึ้นเป็นผู้นำต่อสมัยที่ 6 แต่ประชาชนไม่พอใจ ระบุว่าลูคาเชนโคโกงเลือกตั้งและออกมาประท้วงใหญ่ แต่ลูคาเชนโคใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนอย่างหนัก สหภาพยุโรปไม่พอใจจึงประกาศคว่ำบาตร

ส่วนการขู่ความบาตรเพิ่มเติมครั้งใหม่นี้ก็เกิดขึ้นหลังวิกฤตผู้อพยพ มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากอียูอาจทยอยออกมาเร็วที่สุดคือในสัปดาห์หน้า

มาตรการที่คาดว่าจะใช้ เช่น ระงับสายการบินระหว่างประเทศที่บรรทุกผู้อพยพมาจากต่างประเทศ และจะมาลงจอดที่สนามบินในเบลารุส 

โดยสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของตุรกีเปิดเผยว่า ได้เพิ่มความเข้มงวดในการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินต่อบางเส้นทาง สำหรับพลเมืองชาวอิรัก ซีเรียและเยเมน ขณะที่อิรักระบุว่า ได้จัดหาเที่ยวบินสำหรับรับตัวพลเมืองอิรักกลับจากเบลารุสแล้ว

นอกจากนี้ มีรายงานว่า อียูอาจกำลังพิจารณาที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อสายการบินเอโรโฟลทของรัสเซียด้วย หลังพาผู้อพยพเดินทางไปเบลารุส แต่ทางสายการบินปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ส่วนสายการบินเบลาเวีย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของเบลารุส ถูกอียูสั่งห้ามไม่ให้ใช้น่านฟ้าของอียูตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังเที่ยวบินหนึ่งของสายการบินไรอันแอร์ถูกบังคับให้เปลี่ยนทิศทางไปที่กรุงมินส์ของเบลารุส และมีการจับกุมนักข่าวบนเครื่องลำดังกล่าว

 

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวหาว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย อยู่เบื้องหลังการวางแผนนี้  ล่าสุดรัสเซียออกมาปฏิเสธ

ผู้ช่วยผู้แทนพิเศษของรัสเซียประจำสหประชาชาติได้ยืนยันว่า รัสเซียไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเบลารุสในการเปิดทางให้ผู้อพยพเข้ามา และระบุว่า แผนการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และกล่าวหาประธานาธิบดีลูคาเชนโคของเบลารุสว่า กำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในภูมิภาค

ถึงแม้รัสเซียจะปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่หลายคนไม่ค่อยเชื่อ หลังจากเมื่อวานนี้มีเครื่องบินรบของรัสเซียบินอยู่เหนือน่านฟ้าเบลารุสอีกครั้ง

เครื่องบินทิ้งระเบิด “ตู-22เอ็ม3” เป็นหนึ่งในเครื่องบินรบของรัสเซียที่มีศักยภาพสูงมาก และรัสเซียมักใช้ในภารกิจทางการทหารในต่างประเทศ เช่นในสงครามซีเรียที่รัสเซียสนับสนุนด้านกองกำลังให้กับประธานาธิบดีอัลอัสซาด อากาศยานดังกล่าว 2 ลำบินอยู่เหนือน่านฟ้าของเบลารุสเมื่อวันที่ 11 พ.ย.

นักวิเคราะห์ระบุว่า นี่เป็นการส่งสัญญานจากประธานาธิบดีปูตินผู้นำรัสเซียว่า รัสเซียจะยืนอยู่ข้างเบลารุสไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ส่วนสถานการณ์บริเวณชายแดนโปแลนด์ยังตึงเครียดผู้อพยพที่กำลังเผชิญสภาพอากาศหนาวจัด พวกเขาต้องก่อไฟเพื่อเอาชีวิตรอดกลางป่า ไม่สามารถเดินทางเข้ายุโรปหรือกลับไปยังประเทศบ้านเกิดได้

ผู้อพยพจำนวนมากเป็นเด็ก นอกจากจะต้องเจอความหนาวทารุณ ยังเสี่ยงตกอยู่ในสภาพอดอยาก

ภาพจากกล้องตรวจจับความร้อน กระทรวงกลาโหมโปแลนด์เผยแพร่วิดิโอ จุดสีขาวในภาพคือกลุ่มผู้อพยพที่เดินเลียบแนวชายแดนโปแลนด์-เบลารุสอย่างต่อเนื่อง พวกเขาตั้งค่ายพักพิงชั่วคราว และพยายามเดินเท้าให้ถึงชายแดนโปแลนด์ภายในข้ามคืน

แต่ถึงแม้ว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศจะยังไม่ลดละ ภายในพื้นที่ชายแดนโปแลนด์ องค์กร NGO กำลังตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพ

พวกเขากำลังรวบรวมของใช้จำเป็น เช่น อาหาร ยารักษาโรค และเสื้อกันหนาว สำหรับผู้อพยพที่จะต้องอาศัยอยู่ภายในพื้นที่เปิดโล่ง ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัด

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ