วิจัยพบไวรัส 71 ชนิดในตลาดค้าสัตว์ของจีน ชี้เป็นภัยอันตรายในอนาคต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมวิจัยสำรวจสัตว์ที่นำมาวางขายในตลาดจีน พบไวรัสสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึง 71 ชนิด เตือนอาจนำไปสู่การระบาดของโรคอุบัติใหม่อื่นในอนาคตได้อีก

เป็นที่ทราบกันดีว่า สัตว์และสัตว์ป่าที่ขายในตลาดสดในจีนมีความเชื่อมโยงกับการเกิดของโรคระบาดต่าง เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส (SARS) รวมถึงอาจจะเป็นต้นตอของโควิด-19 ด้วย

ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากจีน สหรัฐฯ เบลเยียม และออสเตรเลีย ได้ทำการสำรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์ที่มีการซื้อขายขายและบริโภคในประเทศจีน โดยทำการสุ่มวิเคราะห์สัตว์ในตลาดค้าสัตว์ทั่วประเทศ 1725 ตัว จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 5 อันดับ (Order) 16 สายพันธุ์ (Species)

สหรัฐฯ พบโควิด-19 กลายพันธุ์ “E802D” ดื้อต่อยา “เรมดิซิเวียร์”

ความสำคัญ “หน่วยความจำภูมิคุ้มกัน” สัมผัสเชื้อโควิด-19 ก็อาจไม่ติดเชื้อ

ข้อมูลการขายสัตว์ป่า “ตลาดเมืองอู่ฮั่น” ความหวังใหม่สืบหาต้นตอโควิด-19

จากการวิเคราะห์ พบไวรัสสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึง 71 ชนิด และมีถึง 18 ชนิดที่ถือว่า “มีความเสี่ยงสูง” ต่อมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ

ผลการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (12 พ.ย.) ระบุว่า “ชะมด” มีจำนวนชนิดไวรัสมากที่สุด ซึ่งในอดีตชะมดเคยเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของโรคซาร์สเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ทีมวิจัยไม่พบเชื้อที่คล้ายกับโควิด-19 ในการสำรวจ แต่นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสัตว์บางตัวที่มีเชื้อไวรัสซึ่งก่อนหน้านี้เคยคิดว่ามีอยู่แค่ในมนุษย์เท่านั้น

ศ.เอ็ดเวิร์ด โฮล์มส นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “การศึกษานี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทำไมการค้าสัตว์ป่าและตลาดที่ขายสัตว์เป็น ๆ จึงอาจเป็นสาเหตุการระบาดของโรคต่าง ๆ ไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคต ... งานวิจัยฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เองก็แพร่เชื้อไวรัสไปยังสัตว์อื่น ๆ ได้ มีการแพร่เชื้อรับเชื้อแบบสองทางอย่างชัดเจน”

การตรวจสอบอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับความหลากหลายและความชุกของไวรัสที่เกี่ยวข้องกับสัตว์มีกระดูกสันหลังในตลาดค้าสัตว์จีน ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินว่า สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หรือสปีชีส์ใดมีศักยภาพสูงสุดในการเป็นพาหะของไวรัสที่อาจทำให้เกิดการระบาดได้ในอนาคต

สัตว์ป่าที่ถูกจับในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติหรือเพาะเลี้ยงในฟาร์มมีการค้าขายทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหาร ขนสัตว์ ส่วนประกอบยาแผนโบราณ นำมาเป็นสัตว์เลี้ยง และนำไปโชว์ในสวนสัตว์ เฉพาะการค้าขายในปี 2016 ตลาดในประเทศจีนมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 5.2 แสนล้านหยวน (2.6 ล้านล้านบาท)

จีนสั่งห้ามการค้าหลังจากเกิดโควิด-19 และต่อมารัฐบาลได้สั่งห้ามการบริโภคสัตว์ป่าด้วย โดยให้เหตุผลเรื่องสภาพสุขอนามัยที่ไม่ดีและการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างสัตว์และมนุษย์ ตลอดจนความหลากหลายของสายพันธุ์ในตลาดค้าสัตว์มีชีวิตและร้านอาหารที่จำหน่ายสัตว์ป่า ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์สำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

ฉั่วซู ศาสตราจารย์ด้านสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยการเกษตรหนานจิง หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ในบรรดาไวรัสสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายสิบชนิดที่ระบุได้ มีอยู่ถึง 45 ชนิดที่ยังไม่เคยมีการค้นพบหรือศึกษามาก่อน

นอกจากนี้ สัตว์หลายชนิดที่ทีมวิจัยนำมาวิเคราะห์ ส่วนมากพบได้ในรายการสินค้าของตลาดขายส่งอาหารทะเลหัวหนานในอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดครั้งแรกของโควิด-19

ในบรรดาการค้นพบไวรัสหลายชนิด นักวิทยาศาสตร์ยังพบไวรัสตับอักเสบอีและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H9N2 ในตัวแบดเจอร์และชะมดเป็นครั้งแรก โดยไวรัสไข้หวัดนกชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากที่สุดในไก่และเป็ด และนำไปสู่การติดเชื้อจำนวนมากในจีน

นักวิทยาศาสตร์ยังพบเชื้อไวรัสจำนวนปานกลางถึงมาก ที่คาดว่ามีความจำเพาะต่อมนุษย์ จากตัวลิ่น ชะมด และหนูไผ่ รวมถึงโนโรไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของการอาเจียนและท้องเสีย และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี

นอกจากนี้ ทีมวิจัยระบุพบการแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ของไวรัสในสัตว์หลายชนิด เช่น พบไวรัสโคโรนาค้างคาวในชะมด พบไวรัสโคโรนานกในเม่น พบไวรัสโรคปอดสุกรในตัวลิ่น เป็นตเน

ศ.โฮล์มส กล่าวว่า การแพร่เชื้อจากค้างคาวไปยังชะมดเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง “ไวรัสสามารถแพร่จากชะมดมาสู่คนได้ และอาจจุดชนวนการระบาดใหญ่ครั้งใหม่ได้อย่างง่ายดาย”

เขาเสริมว่า รูปแบบการแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์แบบนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นสาเหตุการเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 “สัตว์ที่จำหน่ายในตลาดค้าสัตว์มีชีวิตมีเชื้อไวรัสอยู่หลายชนิด ... หากมีไวรัสที่ถูกต้อง ในสัตว์ที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย

 

เรียบเรียงจาก Bloomberg / งานวิจัยฉบับเต็ม

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ