
ระดับการตัดไม้ทำลายป่า “แอมะซอน” ของบราซิล สูงสุดในรอบ 15 ปี
เผยแพร่
ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก “ป่าแอมะซอน” ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังคงถูกรุกคืบทำลายอย่างต่อเนื่อง
สถาบันเพื่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมแห่งแอมะซอน (Imazon) สถาบันวิจัยอิสระของบราซิล ร่วมกับระบบแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่า (DAS) ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลการตัดไม้ทำลายป่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. 2021 ที่ผ่านมา และเปรียบเทียบกับข้อมูลจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020
พวกเขาพบว่า เมื่อเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2020 การตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนเพิ่มขึ้น 33% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021 นี้
โลกร้อนจริงหรือไม่? ดูชัด ๆ หลังมีกระแสไม่เชื่อในหลายประเทศทั่วโลก
นักวิทย์ชี้ “กองทัพและการทหาร” อีกหนึ่งตัวการสำคัญทำให้โลกร้อน
เปิดแนวคิด “เมืองฟองน้ำ” แนวทางรับมืออุทกภัยของนักวิชาการจีน
การวิเคราะห์ยังพบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. แอมะซอนสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 2.4 ล้านเอเคอร์ (มากกว่า 9,700 ตร.กม.) หรือขนาดประมาณ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา เฉพาะในเดือน ต.ค. เดือนเดียวมีพื้นที่เกือบ 200,000 เอเคอร์ (ราว 810 ตร.กม.) ถูกทำลายไป
ด้านโฆษกของสถาบันอวกาศและการวิจัยแห่งชาติของบราซิล (NISR) บอกว่า รายงานประจำปีอย่างเป็นทางการของหน่วยงานในการสรุปสถานการณ์ตัดไม้ทำลายป่าระหว่างเดือน ส.ค. 2020-ก.ค. 2021 ได้ถูกส่งไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. แล้ว
โดยข้อมูลทางการเบื้องต้นระบุว่า การตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอนของบราซิลเพิ่มสูงขึ้น 22% ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006 หรือในรอบ 15 ปี
หน่วยงานวิจัยอวกาศของบราซิล INPE บันทึกการทำลายป่าในช่วง ส.ค. 2020-ก.ค. 2021 โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม PRODES พบว่า พื้นที่ป่าแอมะซอนกว่า 13,235 ตร.กม. ถูกทำลายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์ของ Imazon เสียอีก
การวิเคราะห์ของ Imazon และรายงานประจำปีของ INPE เกิดขึ้นหลังจากผู้นำและผู้แทนระดับโลกจากเกือบ 200 ประเทศมารวมตัวกันที่กลาสโกว์เมื่อต้นเดือนนี้เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26
ในการประชุมสุดยอดดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ป่ารวมกันมากกว่า 85% ของโลกได้ให้คำมั่นว่า จะยุติการตัดไม้ทำลายป่า จะฟื้นฟูป่าและความเสื่อมโทรมของดินภายในปี 2030
บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ร่วมกับโคลอมเบีย อินโดนีเซีย แคนาดา รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งประเทศเหล่านี้มีผืนป่าที่สำคัญของโลก โดยสหรัฐฯ และจีนร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงนี้ด้วย
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดว่า อนุญาตให้มีการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่โบลโซนาโรเข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2019
ป่าไม้ที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความสำคัญต่อการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชในแอมะซอนจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักความร้อนหลายพันล้านตันจากชั้นบรรยากาศในแต่ละปี ซึ่งสามารถชดเชยสิ่งที่มนุษย์ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้
แต่เมื่อป่าไม้ถูกตัดหรือเสื่อมโทรมลง พวกมันจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ การตัดไม้ทำลายป่าคิดเป็นประมาณ 10% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของโลก ตามรายงานของ Rainforest Alliance
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณของป่าที่ถูกไฟป่าเผาทำลายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2050 และจะกินพื้นที่ป่าถึง 16% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่า จ.นครราชสีมาถึง 12 เท่า
อธิบดีกรมอุทยานฯ ขู่จับคู่ “โจโฉ-คมฉาน” หากเข้าป่าไม่ได้รับอนุญาต หวั่นทำลายธรรมชาติ
เกาหลีใต้ติดโควิดทุบสถิติใหม่ หลังคลายมาตรการ "อยู่ร่วมกับไวรัส"
สาเหตุหลักที่ป่าแอมะซอนถูกทำลาย เกิดจากการใช้ไฟเพื่อเผากลบพื้นที่การเกษตรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว และการทำลายป่าไม้เพื่อทำปศุสัตว์ ทำให้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน เพราะจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น จากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ในปัจจุบัน พื้นที่บางส่วนของของป่าแอมะซอนได้กลายเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเดิมที่คอยดูดซับ
เรียบเรียงจาก CNN / The Guardian
ภาพจาก AFP / Getty Image
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline