"คุยกับหน.ศูนย์จีโนม" สาเหตุผู้ติดเชื้อโควิดญี่ปุ่นลดวูบ "ไวรัสสูญพันธุ์เอง" หรือ "วัคซีน"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยอดโควิด-19 ญี่ปุ่นรายวันลดจากหลักหมื่นเหลือหลักสิบใน 3 เดือน เกิดจาก “กลายพันธุ์จนสูญพันธุ์ไปเอง” หรือ “อัตราการฉีดวัคซีนที่สูง”

วันที่ 20 ส.ค. เป็นวันที่ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ วันเดียวพบถึง 25,992 ราย จนหลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์โควิด-19 ในญี่ปุ่น แต่แล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ญี่ปุ่นกลับรายงานพบผู้ติดเชื้อเพียง 44 ราย ต่ำที่สุดในรอบปีกว่า ๆ

อัตราการติดเชื้อที่ลดลงอย่างมากทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดการระบาดระลอก 5 ซึ่งเป็นระลอกใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และมีสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่แพร่เชื้อได้ดีเยี่ยมเป็นสายพันธุ์หลัก จึงสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันในระยะเวลาไม่นาน

ครั้งแรกของปี! ญี่ปุ่น พบไข้หวัดนกระบาด สั่งกำจัดไก่ทิ้ง 1.4 แสนตัว

ญี่ปุ่นงง ยอดโควิด-19 รายวันลดลง เตือนฤดูหนาวอาจเกิด “ฝันร้าย”

ญี่ปุ่นพบเคสประหลาด หายป่วยโควิด-19 เกิด “ภาวะทวารหนักอยู่ไม่สุข”

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า อาจเป็นไปได้ว่า “สายพันธุ์เดลตาเกิดการกลายพันธุ์จนสูญพันธุ์ไปเอง”

อิโนะอุเอะ อิทสึโร่ ศาสตราจารย์จากสถาบันพันธุศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น เสนอทฤษฎีที่ว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า nsp14-ExoN (เอ็กซอน) ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสโคโรนา “กลายพันธุ์มากเกินไป” จนท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่ ​​“การทำลายตัวเอง”

เมื่อนักวิจัยไปตรวจสอบเอนไซม์ nsp14 ที่มีหน้าที่แก้ไขข้อผิดพลาดของไวรัส พวกเขาพบว่า ตัวอย่าง nsp14 ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นดูเหมือนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมากมายในตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า “A394V”

“เราตกใจมากเมื่อเห็นการค้นพบนี้ สายพันธุ์เดลตาในญี่ปุ่นสามารถแพร่เชื้อได้สูงและกดข่มสายพันธุ์อื่น ๆ ไว้ แต่เมื่อมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น เราเชื่อว่าในที่สุดมันจะกลายเป็นไวรัสที่ผิดพลาด และไม่สามารถจำลองตัวเองได้ เราคิดว่า ณ จุดหนึ่งระหว่างการกลายพันธุ์ดังกล่าว มันกำลังมุ่งตรงไปสู่การสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ” อิโนะอุเอะกล่าว

เขาบอกว่า ทีมนักวิจัยจากสถาบันพันธุศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยนีงาตะ วางแผนที่จะตีพิมพ์การค้นพบของพวกเขาภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้

ด้าน ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความเห็นเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ว่า nsp14 ExoN เป็นเอนไซม์ที่สร้างขึ้นจากส่วนของ ORf1b ซึ่งคนละส่วนกับที่สร้างโปรตีนหนาม มีหน้าที่แก้ไขส่วนประกอบของไวรัส เช่นหากไวรัสมีรหัสพันธุกรรมผิด ก็จะช่วยแก้ไข เติมตัวที่ถูกต้องเข้าไป

“การแก้ไขนี้ไม่ใช่ให้แข็งแรงอ่อนแอ คล้ายกับเครื่องซีรอกซ์ สำเนาต้องถูกต้อง ถ้าขณะสร้างสำเนาไม่ถูก ก็แก้ให้ถูก เท่านั้นเอง” ดร.วสันต์กล่าว

เชาเสริมว่า ถ้าเอนไซม์ตัวนี้บกพร่องอย่างที่ทีมวิจัยของญี่ปุ่นบอกจริง ก็หมายความว่า มันจะไม่มี “คนพิสูจน์อักษร” เพราะเอนไซม์ตัวนี้มีชื่อเล่นว่า “Proofreading Enzyme”

“เหมือนเวลาเราพิมพ์งาน ก็ต้องมีการพิสูจน์อักษรว่าพิมพ์ผิดตรงไหนต้องแก้ตรงไหนหรือไม่ พอไม่มีเอนไซม์ตัวนี้ก็จะไม่มีการแก้ พอไม่มีการแก้จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งการกลายพันธุ์จำนวนมากไม่ใช่เรื่องดีสำหรับไวรัส เพราะจะทำให้ไวรัส ‘ทุพพลภาพ’ พอทุพพลภาพ การจะแพร่เชื้อหรือหลบหนีจากวัคซีนก็ทำได้ไม่ดี ก็จะหายไปในที่สุด” ดร.วสันต์กล่าว

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์บอกว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะโควิด-19 มีหลายสายพันธุ์ มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น คงอยู่ แล้วดับสูญไป เป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม มีจุดที่ ดร.วสันต์ให้ความสนใจและระบุว่าต้องรออ่านงานวิจัยที่จะตีพิมพ์อย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ นั่นคือ สำหรับสายพันธุ์เดลตา แบ่งเป็นสายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์ย่อยอีกราว 50 สายพันธุ์ จุดที่สงสัยคือ ต่อให้มีความบกพร่องของ nsp14 เกิดขึ้นกับสายพันธุ์ย่อย 1 ใน 50 หรือเกิดขึ้นกับสายพันธุ์หลัก มันก็พร้อมจะมีไวรัสตัวอื่นเข้ามาทดแทนอยู่ดี เป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า การหายไปของโควิด-19 สายพันธุ์หนึ่งจะทำให้สายพันธุ์อื่นมีโอกาสผงาดขึ้นมาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายรายรวมถึง ดร.วสันต์ เอง มองว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่นที่ลดลงนั้น “น่าจะเกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า”

โดยเมื่อช่วงเดือน ส.ค. ญี่ปุ่นมีประชากรฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสเพียง 50 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ล่าสุด ณ วันที่ 24 พ.ย. มีประชากรได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเกือบ 97 ล้านคน หรือ 77% ของประชากรทั้งประเทศ

“อย่างประเทศไทย พอฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล สถานการณ์ก็เริ่มเงียบ ส่วนตัวผมเองที่เฝ้าระวังสถานการณ์ที่สมุทรสาครกับปทุมธานี ก็ไม่ค่อยพบคนติดเชื้อเช่นกัน ฉะนั้น การติดเชื้อตามธรรมชาติและฉีดวัคซีนโควิด-19 มีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันการแพร่กระจาย แม้วัคซีนกันได้ไม่ 100% ก็ตาม” ดร.วสันต์กล่าว

โควิดระบาดหนัก สธ.ร่อนหนังสือด่วน แจ้งคำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แพทย์ทั้งประเทศ

ผู้ค้าจตุจักรค้านห้ามขายอาหาร 1 ธ.ค.นี้

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์เสริมว่า ในความเห็นส่วนตัวของตน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเป็นเรื่องของวัคซีนมากกว่าการกลายพันธุ์แน่นอน ตัวอย่างเช่นในยุโรป การระบาดจะมีผู้ติดเชื้อเป็นหย่อม ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ฉีดวัคซีน และอีกหย่อมที่กำลังเกิดขึ้นคือคนที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น หรือในสหรัฐฯ ก็คล้ายกัน รัฐที่คนฉีดวัคซีนจำนวนมากไม่ค่อยมีผู้ติดเชื้อ ส่วนรัฐที่คนไม่ค่อยฉีดวัคซีนจะติดเชื้อกันมาก

กระนั้น ก็มีหลายคนสนับสนุนทฤษฎีของอิโนะอุเอะ เพราะอธิบายการหายตัวไปอย่างลึกลับของสายพันธุ์เดลตาในญี่ปุ่นได้ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในโลกที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงเช่นเดียวกัน รวมทั้งเกาหลีใต้และประเทศตะวันตกบางประเทศ กลับกำลังประสบกับการระบาดระลอกใหม่

อูราโนะ ทาเคชิ ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยชิมาเนะ ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการวิจัยของอิโนะอุเอะ กล่าวว่า “การศึกษาแสดงให้เห็นว่าไวรัสที่มี nsp14 พิการ มีความสามารถในการจำลองตัวเองลดลงอย่างมาก ดังนั้นนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการลดลงอย่างรวดเร็วของผู้ป่วยรายใหม่ในญี่ปุ่น”

อิโนะอุเอะกล่าวว่า การสูญพันธุ์ตามธรรมชาติที่คล้ายคลึงกันนี้อาจสังเกตพบในต่างประเทศได้ แต่อาจจะยาก เนื่องจากแม้มีการค้นพบการกลายพันธุ์ที่คล้ายกันก่อนหน้านี้ใน 24 ประเทศทั่วโลก แต่ก็ไม่มีประเทศอื่นใดที่มีการกลายพันธุ์ของเอนไซม์ nsp14 ในไวรัสโควิด-19 มากเท่ากับในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถานการณ์ในญี่ปุ่นที่คลี่คลายลงอย่างน่าเหลือเชื่อนี้จะเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือวัคซีนโควิด-19 ประชาชนทั่วโลกยังไม่ควรการ์ดตก ยังควรเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด เร่งฉีดวัคซีนให้ครบ เฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ ๆ และการเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะนี่เป็นวิธีการที่ดีสุดในการป้องกันโควิด-19

เรียบเรียงจาก Japan Times

ภาพจาก AFP

หวั่นโควิดโผล่ซ้ำ ร้านอาหารกลางกรุงฯ เซ็นทรัลเวิลด์แจงคลัสเตอร์ Groove

ด่วน! “ลิซ่า BLACKPINK” ติดโควิด-19 สมาชิกอีก 3 คน รอผลตรวจ

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ