“ช่องแคบอังกฤษ” เส้นทางแสวงหาชีวิตใหม่ของผู้อพยพ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้อพยพเหล่านี้เป็นใครมาจากที่ไหน? และทำไมการข้ามช่องแคบอังกฤษจึงนำพวกเขาไปสู่ความตาย? นี่คือปัญหาเรื้อรังจากวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่เมื่อปี 2015 ที่เวลานั้นผู้คนจากตะวันออกกลางและแอฟริกาหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป ส่งผลให้พื้นที่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในปัจจุบัน ยังคงมีผู้อพยพตกค้างอีกหลายพันคน พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่า หรืออาคารร้าง ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ และกำลังรอวันที่จะข้ามช่องแคบอีกครั้ง

ช่องแคบอังกฤษ ทะเลที่กั้นระหว่างเมืองคาเล่ส์ของฝรั่งเศสกับเมืองโดเวอร์ของอังกฤษที่อยู่อีกฝั่งในช่วงฤดูหนาว จุดนี้ไม่เคยเมตตาปราณีต่อมนุษย์คนใดที่ต้องการจะฝ่าข้าม ถ้าคลื่นไม่แรง ลมไม่กระหน่ำจากทะเล ก็เผชิญกับอากาศหนาวเหน็บจับขั้วหัวใจ

แต่สำหรับคนจำนวนมาก หากเทียบกันแล้วอุปสรรคเหล่านี้ยังท้าทาย อันตรายและเจ็บปวดน้อยกว่าการที่ต้องถูกขังอยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง

ผู้​อพยพลักลอบเข้าอังกฤษผ่านอุโมงค์ช่องแคบ

เรือผู้อพยพล่มในช่องแคบอังกฤษ เสียชีวิต 27 ราย

อับดุลราฮิม หนุ่มน้อยวัย 17 ปีจากอัฟกานิสถาน คือหนึ่งในผู้อพยพที่ยอมเสี่ยงกับเส้นทางโหดหินเขาหลบหนีออกจากประเทศได้ในวันแรกๆ ที่ตาลีบันเข้าควบคุมอัฟกานิสถานอย่างสมบูรณ์เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

จุดหมายปลายทางคือ สหราชอาณาจักร หลบหนี รอนแรมอยู่เกือบเดือน และวันนี้เขาติดอยู่ที่เมืองคาเล่ส์ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส

ทะเลช่องแคบอังกฤษคืออุปสรรคใหญ่ การจะข้ามไปอีกฝั่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะกับคลื่นแรงในทะเล อากาศที่หนาวเย็นขึ้น แต่รวมถึงทั้งการตรวจตราที่เข้มงวดมากขึ้นจากทั้งสองฝั่ง

ในที่พักพิงชั่วคราวโย้เย้นี้ นอกจากอับดุลราฮิมที่มาจากอัฟกานิสถานแล้ว ยังมีฟายัด วัย 21 ปีจากซีเรีย เขาบอกว่าเจออุปสรรคมากมายกว่าจะมาถึงที่คาเล่ส์ได้

คาเล่ส์เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของผู้อพยพทั้งแต่ปี 2015ในคราวที่ผู้อพยพหลักหมื่นหลักแสนจากซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน ลิเบีย ลี้ภัยจากสงครามไหลทะลักเข้ายุโรป คนที่ต้องการไปสหราชอาณาจักรมักใช้ที่นี่เป็นทางผ่าน เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากอุโมงค์รถไฟใต้ทะเลที่เชื่อมต่อฝรั่งเศสและอังกฤษ หรือที่เรียกว่า “ยูโรทันแนล” เพียง 50 กิโลเมตร และไม่ไกลจากท่าเรือที่แล่นผ่านน่านน้ำระหว่างสองประเทศ

นายกฯโปแลนด์ กล่าวหา “ปูติน” อยู่เบื้องหลังวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ชายแดนเบลารุส

ที่ป่าละเมาะแห่งหนึ่ง ผู้อพยพจำนวนมหาศาลที่รอข้ามฝั่งเริ่มสร้างค่ายที่อยู่อาศัยกันเอง มีทั้งกระท่อม เต๊นฑ์ ตู้คอนเทนเนอร์ ค่ายแห่งนี้ดึงดูดผู้อพยพมามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า The Jungle ว่ากันว่าไม่มีที่ไหนที่สะท้อนความล้มเหลวของการรับมือกับผู้อพยพที่หลักทะลักเข้ามาในสหภาพยุโรปได้ดีเท่ากับที่นี่

แออัด ขาดสุขอนามัย เต็มไปด้วยความเครียดและการปะทะกันระหว่างวัยรุ่น ไปจนถึงปัญหาลักขโมยและข่มขืน ลุกลามบานปลายจนรัฐบาลฝรั่งเศสต้องรื้อถอนค่ายนี้เมื่อปี 2016

วันนี้ไม่มีค่ายให้อยู่ แต่ผู้อพยพจำนวนหนึ่งยังคงไม่ไปไหน ปัจจุบันทางการฝรั่งเศสคาดกันว่ายังเหลือผู้อพยพราว 2,000 คน

พวกเขานอนตามป่าละเมาะ สุมทุมพุ่มไม้ หรือที่ไหนก็ได้ที่ห่างจากสายตาของตำรวจที่คอยจับกุม จนเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดเข้าปกคลุม ภารกิจสำคัญของผู้อพยพก็จะเริ่มขึ้น นั่นคือการข้ามช่องแคบอังกฤษ

วิธีการข้ามมีหลากหลายช่องทาง และทุกทางอันตรายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีติดไปกับรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่ขึ้นเรือเฟอรี่ข้ามทะเล โดยต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าที่จะพาไปที่รถบรรทุกขนสินค้าที่ท่าเรือ

หากไม่มีเงินพอค่านายหน้า ผู้อพยพก็จะใช้วิธีลักลอบขึ้นไปบนรถบรรทุกแทน ส่วนบางคนใช้วิธีแอบเกาะหลังคารถไฟยูโรสตาร์ที่วิ่งลอดอุโมงค์ และทางสุดท้ายคือ การข้ามทะเลด้วยเรือยางเล็กๆ ผ่านนายหน้าในขบวนการค้ามนุษย์

หนทางนี้สั้นกว่าอุโมงค์ เพราะช่องแคบอังกฤษมีความกว้างเพียง 30 กิโลเมตร แต่ต้องเสี่ยงชีวิตกับคลื่นลมแรงและอากาศที่หนาวจัด

แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน มีไม่กี่คนที่รอดปลอดภัยมาถึงทะเลอีกฝั่ง คนจำนวนมากเสียชีวิตเพราะตกจากรถบรรทุก ตกจากรถไฟ หรือจมหายไปในทะเลที่เย็นเฉียบ ส่วนคนที่ยังข้ามไปไม่ได้ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ที่คาเล่ส์ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษมีกฏหมายที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นผู้อพยพ

อีกหนึ่งมาตรการสกัดคือ การสร้างกำแพงสูงขึ้นมากั้นระหว่างชายแดนอังกฤษฝรั่งเศส มีการตรวจตรารถทุกคันอย่างเข้มงวด โอกาสที่จะหลุดรอดของผู้อพยพแทบจะเป็นศูนย์

การตรวจตราเข้มงวดบีบให้ผู้อพยพจำนวนไม่น้อยเลือกใช้วิธีข้ามทะเล เพราะไม่สามารถข้ามอุโมงค์ได้อีกต่อไป

ช่วงปี 2019 สัดส่วนผู้อพยพที่เลือกใช้วิธีข้ามทะเลมีเพียงร้อยละ 11 ข้ามมาปี 2020 กลับเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ส่วนในปีนี้ ทางการสหราชอาณาจักรรายงาน จนถึงขณะนี้มีคนพยายามข้ามทะเลด้วยเรือยาง 25,700 คน เป็นจำนวนที่มากกว่าปีที่แล้ว 3 เท่า

ผู้อพยพเหล่านี้หลายคนมีอาชีพการงานดี เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร พวกเขาวาดฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าในสหราชอาณาจักร แต่ยากจะไปถึงเป้าหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสสกัดกั้นทุกทาง ทั้งลาดตระเวนทางบกและทางน้ำ ไปจนถึงทำลายเรือต้องสงสัยที่ใช้ขนส่งผู้อพยพ

รัฐบาลสหราชอาณาจักรตกลงที่จะมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า 63 ล้านยูโร หรือราว 2,300 ล้านบาทให้กับฝรั่งเศสในปี 2021 และ 2022 เพื่อเสริมศักยภาพในการตรวจตราและป้องกัน รวมถึงจัดหาเทคโนโลยีใหม่ๆ

มาตรการเข้มงวดมากขึ้น แต่สำหรับผู้อพยพ พวกเขายังคงมีความหวังคาเล่ส์ยังคงเต็มไปด้วยผู้คนจากตะวันออกกลางและแอฟริกาอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายตามป่าตามเขา นอนหลับพักเอาแรงในตอนกลางวัน ก่อนที่จะลุกขึ้นมาไล่ล่าความหวังในช่วงกลางคืนครั้งแล้วครั้งเล่า

วันนี้บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งแคมป์ถาวรอย่าง The Jungle ร่องรอยความเป็นอยู่ของพวกเขายังคงสลักไว้ตามกำแพงต่างๆ ในรูปแบบของภาพวาดหรือถ้อยคำที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิด “Nobody deserves to live this way!” ไม่มีใครอยากอยู่แบบนี้ คือหนึ่งในถ้อยคำที่ถูกเขียนไว้ที่นี่

เป็นประโยคสั้นๆ แต่สะท้อนชะตากรรมของบรรดาผู้ไขว่คว้าหาโอกาส ที่เป้าหมายอยู่เพียงอีกฝั่งของทะเล แต่ไม่อาจทราบได้ว่าเมื่อไหร่จะไปถึง

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ