ยุโรปประท้วงหนัก ไม่เอากฎหมายบังคับฉีดวัคซีน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยุโรปกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ที่ส่งผลให้หลายรัฐบาลเตรียมออกมาตรการบังคับให้ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อบรรเทาการระบาด ในหลายประเทศแม้แนวคิดนี้จะยังเป็นเพียงร่างกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาทางการได้บังคับใช้มาตรการหลายอย่างที่กระทบต่อกลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีน เช่น ห้ามพวกเขาใช้ร้านอาหาร หรือเข้าสถานที่สาธารณะ ไปจนถึงสั่งล็อกดาวน์เฉพาะคนกลุ่มนี้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นเสียงต่อต้านจากผู้คนจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้สิทธิในการรับวัคซีนหรือไม่ยังคงเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เจ้าตัวสามารถตัดสินใจได้เอง

ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนหนึ่งนัดชุมนุมเดินขบวนกันเพื่อประท้วงนโยบายฉีดวัคซีน พวกเขาไปรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป เปล่งเสียงตะโกนว่า อิสรภาพ ที่ทำแบบนี้ก็เพราะ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นางเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมมาธิการยุโรปเปรยถึงแนวคิดการออกกฎหมายบังคับให้ฉีดวัคซีนคนที่ไม่เห็นด้วยเลยไม่พอใจอย่างมาก โดยคาดกันว่ามีผู้ชุมนุมราว 8,000 คน

ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีน โควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3

รมว.แรงงาน เคาะเยียวยา 5,000 บาท นักร้อง นักดนตรี กลุ่มคนกลางคืน ลูกจ้างม.33 รับ 2 ต่อ ลุ้นครม.ไฟเข...

ไม่นานการชุมนุมก็กลายเป็นการปะทะด้วยความรุนแรง ผู้ชุมนุมขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจ ด้านฝั่งเจ้าหน้าที่เองก็ฉีดน้ำใส้ผู้ชุมนุม นอกจากนั้นในบางจุดยังเกิดจลาจล เมื่อผู้ชุมนุมทำลายข้าวของ และวางเพลิงข้าวของสาธารณะ

ภาพการประท้วงแบบนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ของยุโรปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ที่นครบาร์เซโลนา มีชาวสเปนหลายพันคนออกมาชุมนุมกัน ต่อต้านมาตรการบังคับใช้โควิด-19 พาส ที่ทำให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไม่สามารถเข้าใช้บริการบาร์ ร้านอาหาร และยิมออกกำลังกายได้ และในวันเสาร์ที่เดนมาร์ก ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ก็ปรากฏภาพของผู้ชุมนุมในแบบเดียวกัน

หลายคนระบุว่า ต้องออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในเนื้อตัวของตนเอง และพวกเขามองว่า มาตรการบังคับให้คนฉีดวัคซีนนั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะวัคซีนยังอยู่ระหว่างการทดสอบ และอาจทำให้ผู้คนล้มป่วยได้

ในภาพรวม หลายประเทศของยุโรปกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจการบังคับใช้อำนาจของรัฐบาลในการควบคุมโรค ไม่ว่าจะมาตรการล็อกดาวน์คนที่ไม่ฉีดวัคซีน การออกโควิด-19 พาสที่มองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงการบังคับให้คนไปฉีดวัคซีน มิฉะนั้นจะเสียค่าปรับ

ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะยุโรปกำลังต่อสู้กับการระบาดระลอกใหม่ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ระบาดหนักที่สุดในตอนนี้คือ เยอรมนี ที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมามากถึง 35,983 รายจำนวนนี้ถือว่าลดลงมาแล้วจากเดิมที่เคยสูงถึง 70,000 รายในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนถือว่าสูง เพราะมีสัดส่วนคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้วมากถึงร้อยละ 69 ส่วนสัดส่วนเข็มบูสเตอร์โดสอยู่ที่ราวร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือสัดส่วนการฉีดวัคซีนเพิ่มกว่านี้ไม่ได้ เพราะคนที่เหลืออยู่ไม่เต็มใจที่จะเข้ารับวัคซีนด้วยหลายเหตุผล

ปัญหานี้คือปัจจัยที่นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ และทำให้ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โอลาฟ ชอล์ซ ผู้นำเยอรมนีคนใหม่ชูร่างกฎหมายบังคับฉีดวัคซีน โดยคาดกันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่รัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ในร่างกฎหมายใหม่มีอะไรบ้าง?

คาดกันว่าอาจบังคับให้ประชาชนบางอาชีพต้องเข้ารับวัคซีนจึงจะทำงานได้ เช่น บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชรามากกว่านั้นยังจำกัดสิทธิของคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เช่น ห้ามใช้บริการร้านอาหาร ผับ บาร์ และโรงภาพยนตร์

ด้านสำนักข่าว ดอยเชอร์เวลเลอร์ เผยผลสำรวจล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ชี้ว่า ราว 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยที่เยอรมนีจะอกกฎหมายบังคับให้คนฉีดวัคซีน มีเสียงคัดค้านไม่ถึง 1 ใน 3 ของผลสำรวจ และอีกราวร้อยละ 7 ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ข่าวการเตรียมออกร่างกฎหมายจึงทำให้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เยอรมนีปรากฏภาพของผู้ประท้วงไม่เอาการบังคับฉีดวัคซีนในนครแฟรงเฟิร์ส และที่กรุงเบอร์ลิน โดยชี้ว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ในขณะที่เยอรมนีและประเทศอื่นๆ เตรียมยื่นร่างกฎหมายเข้าสภา แล้วมีประเทศใดบ้างในยุโรปที่ผ่านกฎหมายบังคับให้คนเข้ารับวัคซีนแล้วบ้าง?

คำตอบคือ ออสเตรีย ประเทศแรกที่ออกมาตรการล็อกดาวน์คนไม่ฉีดวัคซีน ออสเตรียกำหนดให้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2022 เป็นวันแรกที่บังคับใช้กฎหมายใหม่

โดยภายใต้กฎหมายนี้ ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 14 ปีต้องรับวัคซีน และหากทางการพบว่าหลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ไปแล้วยังมีคนที่ไม่ฉีดวัคซีน บุคคลนั้นๆ จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 600 ยูโร ทุกๆ 3 เดือน ซึ่งคิดเป็นเงิน 2,400 ยูโรต่อปี หรือราว 90,000 บาท

อย่างไรก็ตามรัฐบาลอนุโลมให้การปรับเงินทำได้หลังวันที่ 15 มีนาคมเป็นต้นไป เพื่อยืดเวลาให้คนเข้ารับวัคซีนมากกว่านั้นยังกำหนดให้ประชาชนต้องรับครบ 3 โดส รวมถึงบูสเตอร์โดสด้วย

 อเล็กซานเดอร์ ชาร์เลนเบิร์ก นายกรัฐมนตรีออสเตรียชี้ว่า นี่เป็นหนทางเดียวในการพาออสเตรียออกจากวงจรการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า รวมถึงการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ออสเตรียเป็นชาติแรกในยุโรปที่ประกาศล็อกดาวน์กลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เพื่อกดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลง

รวมถึงกำลังจะเป็นชาติแรกเช่นกันในยุโรปที่ออกกฎหมายบังคับการฉีดวัคซีนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แนวคิดนี้ถูกผู้คนจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงเช่นกัน โดยเฉพาะตัวแทนจากกลุ่มขวาจัด ที่ออกมาเรียกรัฐบาลชุดนี้ว่าเป็นเผด็จการ

อย่างไรก็ตามฝั่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าเต็มที่ โดยปัจจัยหลักมาจากการที่ประเทศนี้เป็นประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกที่ฉีดวัคซีนได้น้อยที่สุดด้วย

โดยปัจุบันออสเตรียมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วร้อยละ 67 ในขณะที่ชาติอื่นๆ กลุ่มยุโรปตะวันตกเช่น สเปน ฝรั่งเศส โปรตุเกส สัดส่วนการฉีดครบโดสจะอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 70-80

ทั้งนี้กฎหมายบังคับฉีดวัคซีนของออสเตรียไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะย้อนไปในปี 1948 ตอนั้นรัฐบาลก็บังคับให้คนเข้ารับวัคซีนไข้ทรพิษมาแล้ว

คาดกันว่าโมเดลของออสเตรียจะเป็นต้นแบบให้หลายประเทศทำตาม โดยมีระดับความเข้มข้นของกฎหมายและบทลงโทษต่างกันไปอีกประเทศที่กำหนดกฎหมายบังคับฉีดวัคซีนตามมาแล้วก็คือ กรีซ ระบุว่า ต้องฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงอย่าง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ภายในวันที่ 16 มกราคม ปี 2022 หากใครฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 100 ยูโร หรือราว 3,800 บาท

อาจดูไม่มาก แต่ถือว่ามากสำหรับคนกรีซที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 800 ยูโร หรือราว 30,000 บาท

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าเสียงต่อต้านในประเทศนี้ต่อการบังคับใช้กฎหมายใหม่จะมีไม่มากนัก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้คนกรีซรู้สึกว่า ไม่อาจยอมรับการล็อกดาวน์ในอนาคตได้อีกต่อไปแต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียงคัดค้านเลย

นี่คือภาพการเดินขบวนในเมืองเทสซาโลนิกิเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยจะเห็นว่าเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในวัคซีน

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมกางเต็นท์นอนประท้วงด้วย ซึ่งผู้ประท้วงเหล่านี้พกเอาเต็นท์มากางกันกลางถนนด้านตำรวจเองไม่เข้าขัดขวาง แต่ขอให้พวกเขาย้ายออกไปในตอนเช้า

เช่นเดียวกับผู้ประท้วงในหลายประเทศ คนเหล่านี้ไม่พอใจที่รัฐบาลกรีซเตรียมที่จะใช้อำนาจบังคับให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน แม้ว่าร่างกฎหมายของกรีซจะบังคับเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปก็ตาม

ด้าน คิเรียกอส มิตโซตากิส นายกรัฐมนตรีกรีซออกมระบุว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่จำเป็นต้องทำ และการตั้งค่าปรับไม่ใช่การลงโทษแต่อย่างใด

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ