“หมอเฟาซี” ชี้ โควิด “โอมิครอน” แพร่เชื้อได้ง่าย แต่ไม่ทำให้ป่วยหนัก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ “โอมิครอน” ทยอยออกมาเรื่อย ๆ ล่าสุดเผยว่า วัคซีนไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง ด้านองค์การอนามัยโลก ชี้การฉีดวัคซีนยังป้องกันได้ รวมถึงเริ่มมีเสียงจากผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาระบุว่า โอมิครอนไม่ได้ก่ออันตรายหรือคมีความรุนแรงมากไปกว่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า หนึ่งในเสียงยืนยันมาจาก นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี

นักวิทย์พบโควิด-19 “โอมิครอน BA.2” ลูกพี่ลูกน้องของโอมิครอนเดิม

WHO ชี้ “โอกาสน้อย” โควิดสายพันธุ์โอมิครอนหลบเลี่ยงวัคซีนได้หมด

เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.64) นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) เกี่ยวกับความคืบหน้าของข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน

คุณหมอเฟาซี แบ่งข้อมูลเป็น 3 ประเภท หนึ่งคือ ความสามารถในการแพร่ระบาด สองคือ ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อและวัคซีน และสามคือ ความรุนแรงของอาการป่วย 

 

ในประเด็นแรก นายแพทย์เฟาซีระบุว่า โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะแพร่ระบาดได้เร็วและง่ายกว่าโควิดเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของโลกในขณะนี้ รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อก็มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อซ้ำสูงขึ้น เมื่อเจอกับโอมิครอน

สำหรับประเด็นที่สอง ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน นายแพทย์เฟาซีระบุว่า ขณะนี้หลายห้องปฏิบัติการกำลังศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อโควิดโอมิครอน และคาดกันว่าข้อมูลเบื้องต้นจะออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ส่วนประเด็นที่สาม อาการป่วย นายแพทย์เฟาซีมองว่า โอมิครอนไม่ได้ร้ายแรงกว่าเดลตา

ข้อมูลนี้มาจากหลายองค์ประกอบ เช่น การที่ผู้ติดเชื้อในหลายประเทศมีอาการน้อยมาก รวมถึงการที่ยังไม่มีผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตเลย อีกองค์ประกอบสำคัญมาจากสัดส่วนการนอนเตียงพยาบาลในแอฟริกาใต้ ประเทศแรกที่แจ้งเตือนการอุบัติขึ้นของโอมิครอน และขณะนี้กำลังเผชิญกับโควิดระลอก 4 ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นผลจากโอมิครอนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เฟาซีชี้ว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลนั้นมีน้อยกว่าการระบาดระลอกก่อนที่เกิดขึ้นจากเชื้อเดลตา แต่กระนั้นยังไม่อาจสรุปได้ทันที เพราะรอบนี้มีสัดส่วนผู้ป่วยอายุน้อยเพิ่มขึ้นมาก และผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

เบื้องต้นหากเป็นตามนี้ พออนุมานได้ว่า โควิดโอมิครอนแพร่เชื้อได้ง่ายและรวดเร็วจริง แต่ไม่จำเป็นว่าผู้ติดเชื้อจะต้องป่วยหนักหรือมีอาการรุนแรงตามไปด้วย ส่วนในประเด็นที่สอง ความทนทานและหลบหลีกภูมิคุ้มกันของโอมิครอน ล่าสุดมีข้อมูลใหม่จากผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์

 

ผลวิจัยแอฟริกาใต้ ไฟเซอร์ประสิทธิภาพลดเมื่อเจอโอมิครอน

สำนักข่าว CNN เผยแพร่รายงานจาก อเล็กซ์ ซีกัล นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแอฟริกา ในเมืองเดอร์บัง ประเทศแอฟริกาใต้  ระบุว่า ในการทดสอบครั้งแรกว่า เชื้อโอมิครอนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผู้เข้าร่วมการทดสอบจำนวน 12 คนที่วัคซีนไฟเซอร์ ได้ผลว่า เชื้อโอมิครอนสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากวัคซีนได้ แต่ไม่สามารถหลบได้อย่างสมบูรณ์

หมายความว่าอย่างไร? แปลว่าวัคซีนไฟเซอร์ยังใช้รับมือได้ แต่ประสิทธิภาพจะลดลง เมื่อเทียบกับการติดเชื้อโควิดตัวก่อน ๆ หน้า ซึ่ง อเล็กซ์ ซีกัล ผู้วิจัยเองชี้ว่า นี่เป็นข่าวดี เพราะจากการประเมินตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่มากแล้ว ในตอนแรกเขาคิดว่าโอมิครอนอาจจะต้านทานวัคซีนได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ

อีกความน่าสนใจของการวิจัยนี้ อเล็กซ์ ซีกัลยังทดลองนำเซลล์ปอดของอดีตผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีนครบจำนวน 6 คนมาทดสอบ พบว่า ในกลุ่มนี้ แอนติบอีมีความสามารถในการจัดการกับเชื้อ หรือที่เรียกว่า neutralize มากขึ้น สะท้อนว่า อดีตผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีน จากนั้นตามด้วยเข็มบูสเตอร์น่าจะมีภูมิคุ้มกันที่มากที่สุดในการรับมือกับเชื้อโอมิครอน

อย่างไรก็ตามการทดสอบนี้ยังไม่ได้ผ่านการ Peer Review รวมถึงยังต้องทดสอบกับการติดเชื้อไวรัสในผู้ทดลองจริง

 

อนามัยโลกเชื่อ วัคซีนที่ใช้อยู่รับมือกับโอมิครอนได้

ด้านองค์การอนามัยโลก เมื่อวานนี้ก็ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับโควิดโอมิครอนเช่นกัน  โดยระบุว่า วัคซีนที่ใช้กันในปัจจุบันยังรับมือกับโอมิครอนได้ และยังมีประสิทธิภาพมากพอในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อสายพันธุ์นี้

ไมเคิล ไรอัน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสขององค์การอนามัยโลกออกมาให้ความเห็นสอดคล้องกับนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี นั่นคือ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า โควิดโอมิครอนจะร้ายกาจกว่าโควิดตัวอื่น และวัคซีนที่ใช้กันอยู่ยังสามารถป้องกันได้ พร้อมย้ำว่า วัคซีนทุกชนิดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกมีประสิทธิภาพเพียงพอในการบรรเทาอาการป่วย และป้องกันการเสียชีวิต

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลที่มีต่อโควิดโอมิครอนมาจากการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งในแบบที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบมาก่อน  ในจำนวนการกลายพันธุ์ทั้งสิ้นราว 50 จุด พบว่ามีมากถึง 32 จุดที่เป็นการกลายพันธุ์ของหนามโปรตีน โดยจุดเหล่านี้มีทั้งจุดที่นักวิทยาศาสตร์เคยพบมาแล้วในโควิดกลายพันธุ์ตัวก่อน ๆ หน้า รวมถึงจุดใหม่

ที่พอรู้จักก็เช่นตำแหน่ง K417N ที่พบในโควิดเบลตา ซึ่งเพิ่มความสามารถให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ หรือตำแหน่ง L452R และ D614G ที่พบในโควิดเดลตา การกลายพันธุ์นี้ช่วยให้ไวรัสแพร่ระบาดได้เร็วและง่ายขึ้น

ซึ่งในมุมของ ไมเคิล ไรอัน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสขององค์การอนามัยโลกมองว่า การกลายพันธุ์ตลอดจนการอุบัติขึ้นของไวรัสตัวใหม่ๆ นั้นคือเรื่องธรรมชาติ  และอนามัยโลกเชื่อว่า หากกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม รวมถึงให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เข้าไม่ถึง ปัญหานี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่

 

เสียงจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า จากข้อมูลเบื้องต้นเชื้อโอมิครอนไม่ได้น่ากลัวมากนักส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 2 แล้ว โดยดัชนีแนสแดกพุ่งขึ้นร้อยละ 3 คาดกันว่ามาจากมุมมองของนักลงทุนที่คลายความกังวลลงต่อโควิดโอมิครอน ส่วนตลาดหุ้นเอเชียก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยความคึกคักที่จะเกิดขึ้นในวันนี้มาจากความเคลื่อนไหวหุ้นของบริษัทเว่ยป๋อ เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมในจีน ซึ่งเตรียมเปิดซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นฮ่องกงวันนี้วันแรก

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ