เกาหลีใต้ ออกมาตรการคุมเข้มป้องกันโควิด หลังผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ฤดูหนาวที่ทำให้ไวรัสอยู่ได้นานขึ้น การลดลงของภูมิคุ้มกันในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสมานานเกินกว่า 6 เดือน ไปจนถึงการอุบัติขึ้นของโควิดโอมิครอน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น และนำมาซึ่งการออกมาตรการที่ควบคุมโรคเข้มงวดมากชึ้น แม้ว่าจะเข้าใกล้ช่วงเทศกาลหยุดยาวสิ้นปีก็ตาม

ฮ่องกงวิจัยเบื้องต้น “โอมิครอน” กระจายในปอดช้า คาดสาเหตุอาการไม่รุนแรง

อังกฤษพบผู้ป่วยโควิดรายวันทำสถิติใหม่

เกาหลีใต้กลับมาใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุดมาเป็นเวลาเกือบสองเดือน วันนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่าจะบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่าง และใช้ข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 1 เดือนครึ่ง

ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้เคยใช้นโยบายใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 โดยทางการผ่อนผันมาตรการต่างๆ อนุญาตให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่เคร่งครัดนัก

แต่พอเข้าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เกาหลีใต้เริ่มมีตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้น และตัวเลขก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศจะสูงถึงร้อยละ 80 ก็ตาม

โดยมาตรการล่าสุดที่เพิ่งประกาศใช้วันนี้ จะมีผลตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม ถึง 2 มกราคม โดยทางการบังคับสั่งไม่ให้ประชาชนรวมกลุ่มเกิน 4 คน ตามร้านอาหารหรือคาเฟ่ แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม ส่วนผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารนอกบ้านได้ แต่ต้องนั่งรับประทานคนเดียวเท่านั้น หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องสั่งกลับบ้านหรือใช้บริการส่งอาหารไปที่บ้านแทน  นอกจากนี้ยังจำกัดเวลาให้บริการร้านอาหารและบาร์ สามารถเปิดได้ไม่เกินสามทุ่ม ส่วนร้านอินเตอร์เน็ตและโรงภาพยนตร์ เปิดได้ไม่เกินสี่ทุ่ม

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อวานนี้ว่ามี 7,622 คน มีจำนวนผู้ป่วยหนัก 989 คน ซึ่งกินพื้นที่เตียงคนไข้ในแผนกผู้ป่วยหนักในกรุงโซลไปแล้วกว่าร้อยละ 87

 

นิวซีแลนด์ใช้มาตรการตามความรุนแรง คนไม่พอใจประท้วง

มีอีกหลายประเทศที่ประกาศใช้ล็อกดาวน์หลังจากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือนิวซีแลนด์  โดยได้ใช้มาตรการรับมือโควิด-19 อย่างเคร่งครัดมาตลอดการระบาด เช่น ล็อกดาวน์ห้ามประชาชนเดินทาง และมีระเบียบตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทางการได้กำหนดไว้ว่า ประชาชนในกลุ่มอาชีพเหล่านี้จะต้องฉีดวัคซีนทุกคน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู พนักงานบริการในที่สาธารณะ และเจ้าหน้าที่ภาคส่วนสาธารณสุขและผู้ที่ดูแลคนพิการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลนิวซีแลนด์อนุญาตผ่อนผันมาตรการในประเทศแล้ว โดยจะใช้นโยบายที่เรียกว่า “ไฟจราจร” คือการกำหนดพื้นที่เมืองต่างๆ ตามสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาด ด้วยสีเขียว เหลือง และแดง

เมื่อวานนี้ กระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ได้เปิดเผยว่า อัตราผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสอยู่ที่ร้อยละ 90 แล้ว และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก อยู่ที่ร้อยละ 94 แต่การใช้ชีวิตภายใต้มาตรการที่เคร่งครัดนานนับปีทำให้ประชาชนไม่พอใจ และล่าสุดในวันนี้ ชาวนิวซีแลนด์ในกรุงเวลลิงตันได้ออกมาประท้วงบนถนน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกล็อกดาวน์ ยกเลิกการบังคับฉีดวัคซีน และคืนอิสระให้กับประชาชน ประชาชนหลายพันคนที่ออกมาประท้วงการล็อกดาวน์ ส่วนมากไม่สวมหน้ากากอนามัย  ที่ผ่านมา นโยบายล็อกดาวน์และการบังคับฉีดวัคซีนของนิวซีแลนด์ช่วยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูงเท่าประเทศอื่นๆ และมีผู้เสียชีวิตน้อย โดยตั้งแต่เกิดการระบาดเมื่อต้นปี 2020 นิวซีแลนด์มีผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 13,238 คน และมีผู้เสียชีวิต 48 คน

 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตุรกีประท้วงค่าแรงต่ำแถมงานหนัก

ไม่เพียงแต่ประชาชนทั่วไปเท่านั้นที่ออกมาประท้วง ที่ตุรกีเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ออกมาชุมนุมในเมืองอิสตันบูล ประท้วงปัญหาค่าแรงต่ำและภาระงานที่โหดร้าย ท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอย โดยผู้ประท้วงทั้ง 250,000 คนเป็นแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อื่นๆ จากสหภาพวิชาชีพสาธารณสุขทั้ง 5 กลุ่ม ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก  ไม่เพียงแต่ในอิสตันบูล แต่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทั่วตุรกีอีก 81 จังหวัดก็ได้ออกมาประท้วงในวันเดียวกัน

พวกเขากล่าวว่าค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่น้อยเกินไป และตอนนี้ตุรกีก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อ โดยมูลค่าสกุลเงินลีราตุรกีต่อดอลลาร์สหรัฐ ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งในปีนี้ นอกจากนี้ยังแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลล้มเหลวในการรับมือโควิด-19 ทั้งปิดบังข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อ และบกพร่องในการออกนโยบายปกป้องเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ตัวเลขล่าสุดเมื่อวานนี้ ตุรกีพบผู้ติดเชื้อใหม่ 19,872 คน โดยตุรกีมีค่าเฉลี่ยตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่อาทิตย์ละประมาณ 20,000 คน ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน

ตุรกีมีอัตราผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกร้อยละ 67.1 วัคซีนเข็มสองร้อยละ 60.5 และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสร้อยละ 17.0

 

ยุโรปเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็ก 5-11 ปี ป้องกันโอมิครอน

ส่วนที่สหภาพยุโรป หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว ป้องกันการระบาดของโควิดเดลตาและโอมิครอน ด้านเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน เตือน โควิดโอมิครอนอาจผงาดขึ้นเป็นโควิดสายพันธุ์หลักของทวีปยุโรปในเดือนมกราคมนี้

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดโอมิครอนที่ยังคงทยอยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในหลายประเทศ เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรปออกมาเตือนว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่กำลังเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก ๆ 2-3 วัน  จึงคาดกันว่าภายในกลางเดือนมกราคมนี้ โควิดโอมิครอนอาจแพร่ระบาดจนแซงหน้าโควิดเดลตา และขึ้นเป็นโควิดสายพันธุ์หลักของทวีปยุโรป

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายประเทศของยุโรปเร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ให้ประชาชน และอีกความคืบหน้าในการป้องกันเชื้อคือ การฉีดวัคซีนให้เด็ก ๆ  โครเอเชีย เยอรมนี กรีซ ฮังการี และสเปน เหล่านี้คือประเทศที่เริ่มนโยบายฉีดวัคซีนให้เด็กๆ อายุ 5-11 ปีแล้ว  เช่นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองอัลกาลาเดเอนาเรส ที่นี่พยาบาลจะแจกสติกเกอร์สีสันสดใสให้กับเด็กๆ ทุกคนที่มาเข้ารับวัคซีน

ด้านผู้ปกครองที่พาลูกหลานมาวันนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการฉีดวัคซีนให้เด็ก ๆ คือสิ่งที่ดีมาก และรัฐควรทำตั้งนานแล้วเพื่อช่วยให้พวกเขามีภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้รัฐบาลของแต่ละชาติไม่ได้บังคับฉีดวัคซีน และเด็กๆ ที่จะเข้ารับต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองเสียก่อน

ส่วนใหญ่ของหลายโรงพยาบาลมีบรรยากาศที่ค่อนข้างคึกคัก อย่างโรงพยาบาลอินแฟนตา โซเฟีย ที่ตั้งอยู่นอกกรุงมาดริดคาดว่ามียอดฉีดวัคซีนให้เด็ก ๆ ถึงวันละ 1,000 โดสเลยทีเดียว

 

ด่านหน้าฝรั่งเศสขอร้องให้ผู้คนไปฉีดวัคซีนกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ยังไม่ได้อนุญาตให้ฉีดวัคซีนแก่เด็กทั่วไปที่มีอายุ 5-11 ปี แต่เลือกฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีความเสี่ยง อย่างมีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีโรคประจำตัวก่อน

ซึ่งนโยบายนี้สร้างความกังวลใจให้กับบรรดาผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย เพราะพวกเขากลัวว่า โควิดโอมิครอนที่ระบาดได้ง่ายขึ้นอาจแพร่มาถึงกลุ่มเด็กๆ อีกทั้งเมื่อไม่แสดงอาการ ก็ยิ่งไม่อาจทราบได้เลยว่าลูก ๆ ติดเชื้อหรือไม่ หนึ่งในเสียงกังวลมาจากคุณแม่ท่านหนึ่งที่พบว่าสูกสาวติดเชื้อโควิดมาจากโรงเรียน

แม้จะฉีดวัคซีนแล้วทางสหภาพยุโรปเตือนว่า มาตรการป้องกันพื้นฐานอย่าง การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ไปจนถึงล้างมือบ่อยๆ ยังคงต้องปฏิบัติต่อไป เนื่องจากวัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่อาจป้องกันเชื้อโอมิครอนได้

อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้เด็ก ๆ อาจจะง่ายกว่าผู้ใหญ่  ล่าสุดมีเสียงเรียกร้องจากแนวหน้าให้ผู้คนเข้ารับวัคซีนกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เนื่องจากขณะนี้ในฝรั่งเศสจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี และยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

มีเสียงจากพยาบาลในห้องไอซียูของโรงพยาบาลเมืองกอลมาร์ที่ออกมาขอร้อง โดยระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่เหน็ดเหนื่อยกันมาก และทุกคนช่วยลดความรุนแรงของการระบาดได้ด้วยการเข้ารับวัคซีน

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ