ผลวิจัยใหม่ชี้ “โอมิครอน” ทำคนเข้ารพ. น้อยกว่า “เดลตา”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ที่โลกรู้จักโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่า โอมิครอน มีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าโควิดเดลตา แต่ในประเด็นของอาการป่วยยังไม่ชัดเจน ที่ผ่านมามีความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่งชี้ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีอาการป่วยน้อยกว่า ไปจนถึงแทบไม่มีอาการเลย ล่าสุดประเด็นนี้มีความชัดเจนขึ้นแล้ว โดยอ้างอิงงานวิจัยจากสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้

ยอดติดเชื้อโควิด-19 สหราชอาณาจักรทุบสถิติ วันเดียวพบเกินแสนราย

ฝรั่งเศสยกเลิกคำสั่งซื้อ “โมลนูพิราเวียร์” ชี้ “ประสิทธิภาพน่าผิดหวัง”

"เช็ก 5 อาการโอมิครอน" ที่แพทย์ตรวจพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด

งานวิจัยจากสถาบันอิมพีเรียลคอลเลจ(IMPERIAL COLLEGE)  ในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนมีความเสี่ยงที่จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ติดเชื้อโควิดเดลตาเกือบครึ่งหนึ่ง  ผลการวิจัยนี้ถูกระบุว่าเป็น ข่าวดี เพราะในเวลานี้หลายประเทศกำลังเผชิญกับคลื่นผู้ติดเชื้อโอมิครอน ในขณะที่บางประเทศอย่าง สหรัฐฯ โควิดโอมิครอนได้กลายมาเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแล้ว

 

ผลการวิจัยนี้มาจากไหน? ทีมวิจัยของอิมพีเรียลคอลเลจระบุว่า พวกเขาได้สร้างแบบจำลองการระบาดจากข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อในช่วงวันที่ 1 ถึง 14 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยในเวลานั้นพบว่า มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนรวม 56,000 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเดลตามี 269,000 ราย

เปรียบเทียบโควิดสองสายพันธุ์ ได้ผลออกมาว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีความเสี่ยงที่จะนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ติดเชื้อเดลตาร้อยละ 40-45 ส่วนความเสี่ยงที่จะต้องรักษาตัวในห้องฉุกเฉินก็น้อยกว่าเดลตาราวร้อยละ 25-30

งานวิจัยของสถาบันอิมพีเรียลออกมาในช่วงเดียวกันกับงานวิจัยจากสกอตแลนด์ ผลการศึกษาจากโครงการ Eave II ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระชี้ว่า จากยอดผู้ติดเชื้อช่วงวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 19 ธันวาคม ความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อโอมิครอนน้อยกว่าผู้ติดเชื้อเดลตาถึงร้อยละ 70 โดยระบุว่า จากแบบจำลอง หากโอมิครอนก่ออาการป่วยที่รุนแรงเหมือนเดลตา ปัจจุบันสกอตแลนด์น่าจะมีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลราว 47 ราย แต่กลับมีเพียง 15 รายเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ลดลงราวสองในสาม

 

แอสตร้าฯ เปิดผลศึกษา ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันโควิด “โอมิครอน” ได้

 

ข้อมูลล่าสุดนี้นับว่าเป็นข่าวดี แต่ยังคงเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ยังไม่ผ่านการ Peer Review จากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยจากแอฟริกาใต้จากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ บ่งชี้ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีความเสี่ยงที่จะนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ติดเชื้อเดลตาราวร้อยละ 80 เช่นกัน

อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้เปรียบเทียบสถานการณ์การระบาดของเชื้อโอมิครอนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กับสถานการณ์การระบาดของเชื้อเดลตาตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน

สอดคล้องกับรายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าโควิดโอมิครอนรุนแรงกว่าโควิดเดลตา มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า โอมิครอนแพร่ระบาดได้รวดเร็วมาก นั่นคือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทราบเบื้องต้น แต่ในประเด็นที่ว่าโอมิครอนจะอ่อนแอกว่าหรือร้ายกาจกว่าเดลตายังไม่อาจสรุปได้ เพราะไวรัสตัวใหม่นี้เพิ่งจะระบาด นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลมากพอ

 

เช็กพิกัด! รวมจุดฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 3 ทั้งจองคิวออนไลน์ - walk in เริ่ม 23 ธ.ค. 64

 

ผู้ป่วยโอมิครอน ส่วนใหญ่อาการไม่หนัก คล้าย"เป็นหวัด"

คำถามสำคัญต่อมาคือ ถ้าโอมิครอนไม่ได้ทำให้คนต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วผู้ป่วยมีอาการอย่างไร? ข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่หนัก และไม่ได้สูญเสียกลิ่นหรือการรับรสแบบที่ผู้ติดเชื้อเดลตาเป็น

สำนักข่าวอัลจาซีราสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นอาการป่วยที่เกิดจากเชื้อโอมิครอน  มีลักษณะใดเป็นพิเศษที่ช่วยให้ผู้คนสังเกตอาการตนเองและคนรอบตัวได้หรือไม่?

รายงานจากดอกซ์เตอร์ แองเจลิก คูตเซีย ประธานสมาคมแพทย์แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นคนที่ค้นพบเชื้อตัวนี้และแจ้งเตือนไปยังองค์การอนามัยโลกระบุว่า ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโอมิครอนมักมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ, เหนื่อยง่าย, คันคอ และมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน

ในขณะที่วารสารการแพทย์ The BMJ ชี้ว่า ลักษณะอาการ 5 อย่างจากการติดเชื้อโอมิครอนคือ ปวดศีรษะ, น้ำมูกไหล, เหนื่อยล้า, จาม และเจ็บคอ ซึ่งไม่ต่างจากเป็นหวัด

ด้านข้อมูลจาก ฮานส์ คลูจ ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคยุโรประบุว่า ร้อยละ 89 ของผู้ติดเชื้อโอมิครอนในยุโรปมักมีอาการ ไอ เจ็บคอ ไปจนถึงมีไข้

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ