ข่าวแห่งปี 2564 : “ความขัดแย้งตะวันออกกลาง” สันติสุขที่ไกลเกินเอื้อม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประมวล 2 เหตุการณ์ความขัดแย้งช็อกโลกในภูมิภาคตะวันออกกลาง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” และ “การหวนคืนอำนาจของตาลีบัน”

“ภูมิภาคตะวันออกกลาง” เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่ามีข้อพิพาทและความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งบ่อยครั้งบานปลายไปสู่ความรุนแรงในระดับที่ใช้อาวุธสงครามห้ำหั่นกัน

และในปี 2564 นี้ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงในระดับช็อกโลก และเกิดขึ้นถึง 2 เหตุการณ์ นั่นคือเหตุปะทะกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และกลุ่มตาลีบันยึดอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถานสำเร็จ

รัฐบาลตาลีบันยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้ไม่จำเป็นแล้ว

ตาลีบัน ออกกฎใหม่ ห้ามเผยภาพผู้หญิงในละครโทรทัศน์

อิสราเอล – ปาเลสไตน์

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์โดยเบื้องต้นนั้นเกิดจากว่า เดิมทีชาวอิสราเอลหรือชาวยิว และชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวอาหรับ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต่างเรื่องความเป็นเจ้าของกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของ 3 ศาสนา คือ คริสต์ ยิว และอิสลาม

และในช่วงประวัติศาสตร์การสร้างชาติอิสราเอลช่วงปี 1947-1948 ชาวยิวซึ่งต้องการสร้างรัฐชาติยิวขึ้นมาได้ทำสงครามยึดดินแดนกับชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับอื่น ๆ

จนในที่สุด ฝ่ายชาวยิวก็ชนะสงคราม ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไปและก่อตั้งอิสราเอลขึ้นมา ส่วนพื้นที่ส่วนน้อยที่เหลือก็เป็นของฝั่งอาหรับ ซึ่งถูกเรียกต่อมาว่า “ฉนวนกาซา (Gaza Strips)”

ขณะที่กรุงเยรูซาเล็มนั้นอยู่ในเขตซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้บอกว่า เป็นเขตกลางที่ห้ามใครเป็นเจ้าของ ห้ามขับไล่ใคร ห้ามยึดดินแดนแห่งนี้ แต่มักเกิดเหตุการณ์ชาวอิสราเอลหรือผู้บังคับใช้กฎหมายอิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่

ชนวนเหตุความรุนแรงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. 2564 ชาวปาเลสไตน์ผู้นับถือศาสนาอิสลามหลายหมื่นคนมารวมตัวกันที่มัสยิดอัลอักซอ (Al-Aqsa) ในกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อทำการละหมาดในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน ท่ามกลางการควบคุมอย่างเข้มงวดของตำรวจอิสราเอลที่บอกว่า การรวมกลุ่มกันของชาวปาเลสไตน์นอกเขตเมืองเก่า (Old City) ถือเป็นความผิด

ไทม์ไลน์เหตุปะทะครั้งใหญ่ระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์”

จนเกิดการประท้วงจากฝั่งชาวปาเลสไตน์ และนำไปสู่การปะทะกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม ฝ่ายผู้ประท้วงขว้างปาเก้าอี้ รองเท้า ก้อนหิน ขณะที่ตำรวจยิงกระสุนยางและระเบิดเสียง

การประท้วงและการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องจนวันที่ 10 พ.ค. ก็ยังคงเกิดขึ้น ทำให้ ฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลของชาวปาเลสไตน์ตามระบอบประชาธิปไตยให้ปกครองอยู่ในฉนวนกาซา ยื่นคำขาดให้อิสราเอลปลดกองกำลังรักษาความปลอดภัยออกจากบริเวณอัลอักซอและย่านชีคจาร์ราห์ภายในเวลา 18.00 น. เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลใช้กำลังปะทะกับผู้ชุมนุม

แต่ทางอิสราเอลนิ่งเงียบและไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีใด ทำให้กลุ่มฮามาสยิงจรวดไปยังอิสราเอลและกรุงเยรูซาเล็มรวมกว่า 200 ลูก ต่อมาอิสราเอลเอาคืนด้วยปฏิบัติการทางอากาศจู่โจมฉนวนกาซา จนอาคารที่อยู่อาศัยพังถล่มลงมา และเกิดการผลัดกันยิงถล่มอีกฝ่ายต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์

เปิดชื่อ 10 แรงงานไทย เสียชีวิต-บาดเจ็บ หลังโดนระเบิดในอิสราเอล นายกฯสั่งเร่งช่วยเหลือ

สรุปเหตุการณ์ 11 วัน ความขัดแข้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

นอกจากนี้ ยังเกิดการปะทะ การประท้วง และการจลาจล แพร่กระจายเป็นวงกว้างรุนแรงขึ้นทั่วอิสราเอล โดยเฉพาะในเมืองที่มีประชากรอาหรับจำนวนมาก

กระทั่งในวันที่ 20 พ.ค. ทางการอิสราเอลประกาศว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการหยุดยิงร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมีอียิปต์เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งฮามาสก็ออกมายืนยันยอมรับข้อตกลง และยุติการโจมตีในวันที่ 21 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น แต่ก่อนหน้าเวลาที่ตกลงกันไว้ 10 นาทียังคงมีการยิงจรวดใส่กันอยู่

รวมแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้กินเวลานาน 11 วัน อย่างไรก็ตาม หลังมีข้อตกลงยุติการยิง ยังมีการปะทะเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่เนือง ๆ

อิสราเอลถล่มฮามาส 2 วันติด แม้ประกาศตกลงหยุดยิง

อัฟกานิสถาน – ตาลีบัน

อีกหนึ่งเหตุการณ์ช็อกโลก คือการกลับมาปรากฏตัวอย่างยิ่งใหญ่ของกลุ่มตาลีบันในประเทศอัฟกานิสถาน หลังสูญเสียอำนาจไปนานกว่า 20 ปี

กลุ่มตาลีบันเป็นคนพื้นเมืองของอัฟกานิสถานที่นิยมหลักการศาสนาแบบสุดโต่ง ที่ต้องการใช้กฎหมายอิสลามเคร่งครัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน จุดมุ่งหมายของพวกเขาคือ อยากเห็นอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีการใช้ศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดในการปกครอง

ทั้งนี้ กฎหมายบางส่วนของตาลีบันนั้น มีเนื้อหาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของสากลโลก เช่น ประหารผู้ที่ประพฤติผิดประเวณี ตัดแขนขาผู้ที่ลักขโมย บังคับผู้ชายไว้เครา บัคงับผู้หญิงแต่งกายมิดชิด ห้ามเสพสื่อบันเทิง ห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ ฯลฯ

โดยเมื่อตอนทศวรรษ 1980-1990 กลุ่มตาลีบันยังอยู่ในช่วงการสร้างตัว โดยกลุ่มตาลีบันเห็นความบอบช้ำจากการที่ประเทศตัวเองถูกชาติอื่นเข้ามายึดครองอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงต้องการมีบทบาทในการใช้ศาสนาอิสลามเป็นหลักปกครองประเทศ และสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้ในปี 1996

ต่อมาในปี 2001 กลุ่มอัลเคดา (อัลกออิดะห์) ได้ก่อเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และหลบหนีลี้ภัยอยู่ในอัฟกานิสถาน เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ดำเนินการบุกโจมตีเพื่อลงโทษรัฐบาลตาลีบันที่ให้ที่พักพิงกับอัลเคดา จนสามารถขับไล่รัฐบาลตาลีบันไปได้

จากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ผลักดันระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ให้มีการเลือกตั้ง ไม่มีบทบาทของกลุ่มตาลีบันเข้ามาเกี่ยวข้องอีก โดยให้พลเรือนอัฟกานิสถานขึ้นเป็นรัฐบาล ภายใต้การนำทางของสหรัฐฯ และส่งทหารมาประจำการด้วย ร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO)

แต่ในเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดออกจากพื้นที่สงครามในอัฟกานิสถาน โดยทหารจำนวนทั้งหมดประมาณ 2,500 คน จะออกจากพื้นที่สงครามภายในวันที่ 11 ก.ย. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 20 ปีโศกนาฏกรรม “9/11” ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

ไบเดนสั่งถอนกำลังทหารในอัฟกานิสถาน หวังยุติสงครามที่ยาวนาน 20 ปี

ความเคลื่อนไหวนี้ของสหรัฐฯ เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบัน ในสมัยที่ โดนัด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ซึ่งลงนามกันที่กรุงโดฮาของกาตาร์เมื่อเดือน ก.พ. 2020

ข้อตกลงระบุว่า สหรัฐฯ ต้องถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน ส่วนกลุ่มตาลีบันจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีไปยังกองกำลังสหรัฐฯ กลุ่มตาลีบันต้องไม่ให้กลุ่มหรืออัลกออิดะห์ และกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ เข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุม รวมถึงจะต้องเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพในระดับชาติต่อไป

คำสั่งถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่า สงครามระหว่างกลุ่มตาลีบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถานจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และผลปรากฏว่า “กลุ่มตาลีบันยังมุ่งโจมตีกองกำลังและพลเรือนของอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง”

ในช่วงเดือน พ.ค. กองกำลังทหารต่างชาติทยอยถอนกำลังออกจากฐานหรือเมืองต่าง ๆ ในอัฟกานิสถาน สบโอกาสให้กลุ่มตาลีบันบุกยึดเมืองต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเมืองหลวงอย่างกรุงคาบูล เพื่อยึดอำนาจในการปกครองประเทศจากประธานาธิบดี

กระทั่งท้ายที่สุดในวันที่ 15 ส.ค. 2564 กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองเมืองหลวงและทำเนียบประธานาธิบดีสำเร็จ และเริ่มดำเนินการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถาน ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้นในการยึดอำนาจ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของสหรัฐฯ และพันธมิตร รวมถึงความอ่อนแอของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่พอไม่มีสหรัฐฯ ก็ต้านกลุ่มตาลีบันไม่ไหว

“ตาลีบัน” รุกคืบประชิดเมืองหลวงอัฟกานิสถาน ยึดแล้ว 18 เมือง

ตาลีบันยึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน

หลังการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ กลุ่มตาลีบันให้สัญญาว่า จะไม่ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างที่เคยทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ตาลีบันยังคงมีคำสั่งให้ผู้หญิงแต่งกายมิดชิด เปิดเผยได้แค่ดวงตา ไม่ควรออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ส่วนการทำงานและการศึกษา สามารถทำได้ แต่ต้องแยกพื้นที่การเรียน/การทำงานระหว่างชายหญิง และก็มีบางรายถึงขั้นถูกให้ออกจากงาน

นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพชาวอัฟกันจำนวนมากพยายามหนีออกจากประเทศ ทั้งที่เบียดกันขึ้นเครื่องบิน ที่เบียดเสียดมีการเหยียบกันจนมีผู้เสียชีวิต ที่มีคนเกาะล้อเครื่องบินขึ้นไปจนตกมาถึงแก่ความตาย หรือกระทั่งส่งลูกในอ้อมแขนให้กับทหารอเมริกันเพื่อให้ลูกตัวเองได้ออกไปจากอัฟกานิสถาน

และยังเกิดกลุ่มต่อต้านตาลีบันขึ้นมา จนเกิดการปะทะขนาดย่อมให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ ๆ

ไทม์ไลน์ "ตาลีบัน" ยึดอัฟกานิสถาน ปฏิบัติการฟ้าแลบโค่นรัฐบาลใน 3 เดือน

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดจองคิวฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 “แอสตร้าฯ-ซิโนแวค” 20,000 ราย เริ่ม 18 ส.ค.นี้

สันติสุขยากจะเกิดในตะวันออกกลาง

จาก 2 เหตุการณ์ใหญ่ดังกล่าว ทำให้เราได้เห็นว่า ความขัดแย้งที่ดำเนินมาหลายสิบปียังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในตะวันออก กลาง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ทั้งสองที่เกิดขึ้นไว้

เขาบอกว่า ในกรณีของอิสราเอล-ปาเลสไตน์นั้น การหยุดยิงหรือหยุดปะทะก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะรากเหง้าของปัญหายังไม่ได้มีการพูดคุยกันในรายละเอียดอย่างแท้จริง ชาวปาเลสไตน์อยากมีรัฐของตัวเองในขณะที่รัฐบาลอิสราเอลยังไม่อยากให้เกิดขึ้นในดินแดนที่ตัวเองทำสงครามชนะ ไม่ว่าจะเป็นฉนวนกาซา ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือฝั่งตะวันออกของกรุงยูซาเลม

“เมื่อดูจากปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด จะพบว่ารัฐบาลอิสราเอลพยายามอยากผลักดันให้ชาวปาเลสไตน์ออกจากฝั่งตะวันออกของกรุงเยลูซาเลม ซึ่งเป็นจุดที่ชาวปาเลนไตน์อยากได้และต้องการยกให้เป็นเมืองหลวงหากได้รับดินแดนมาเป็นของตนเอง แต่เมื่อเกิดการขับไล่ชาวปาเลสไตน์แบบนี้ การปะทะกันจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง” อาจารย์บอก

เขาเสริมว่า “เพราะฉะนั้นรากเหง้าของปัญหาตรงนี้แม้กระทั่งอิสราเอลก็ยังไม่รู้ว่าจะผ่าทางตันเรื่องนี้อย่างไร เป็นปมขัดแย้งที่มีมายาวนาน ทาง ออกที่เรียกว่า Two-State Solution  ในการจัดตั้งรัฐสองรัฐ เพื่อเคียงบ่าเคียงไหล่ตรงนี้ยากมาก แม้ว่าปาเลสไตน์อยากเห็น แต่อิสราเอลกลับไม่อยากให้เกิดขึ้น

“นอกจากนั้นแล้ว หากมองลึกลงไปมากกว่านั้น ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ไม่ใช่แค่ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แต่มันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกหลายระดับ เพราะมีความขัดแย้งภายในทั้งในกลุ่มปาเลสไตน์เอง การเมืองในกลุ่มอิสราเอล การเมืองในโลกอาหรับ ดังนั้น แนวโน้มปัญหานี้ผมหักคอเลยว่า ไม่มีทางได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในอนาคตอันใกล้แน่นอน”

ส่วนในประเด็นกลุ่มตาลีบันนั้น อาจารย์ชูเกียรติคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้ จะยังไม่เกิดสงครามครั้งใหม่ เนื่องจากสหรัฐฯ ก็เสียภาพลักษณ์ไประดับหนึ่ง เพราะถูกมองว่าทิ้งพันธมิตรอย่างรัฐบาลอัฟกานิสถาน “การถอนกำลังทหารจากอัฟกานิสถานทำให้กลุ่มตาลีบันกลับมาได้ เหมือนที่เคยทิ้งเวียดนามใต้ ทิ้งไซง่อน ด้วยภาพลักษณ์ตรงนี้สหรัฐฯ คงยังไม่พร้อมสนับสนุนให้ฝ่ายต่อต้านตาลีบันทำสงคราม”

ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า กลุ่มตาลีบันอาจได้การสนับสนุนจากมหาอำนาจบางประเทศ เช่น จีน หรือรัสเซีย

“ณ ตอนนี้ ตาลีบันเองถ้าจะขอพึ่งความช่วยเหลืออาจจะหันหน้าไปพึ่งจีนกับรัสเซียมากกว่าหันไปพึ่งโลกตะวันตก”

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า หลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาของการหากำลังสนับสนุนหรือหาพันธมิตร แต่ถึงแม้จะไม่เกิดสงครามกลางเมืองในลักษณะที่สองฝ่ายสู้รบกันโดยตรง แต่ก็จะเกิดกลุ่มต่อต้านตาลีบันในสังคมอัฟกานิสถาน ซึ่งจะทำให้การปกครองของตาลีบันในอัฟกานิสถานเองไม่ราบรื่น

“พูดง่าย ๆ ตาลีบันใช้การก่อการร้ายเล่นงานรัฐบาลกลางอัฟกานิสถาน นับจากนี้ไป ผมเชื่อว่ากลุ่มตาลีบันเองจะเจอการก่อการร้ายจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของตาลีบันเช่นกัน” อาจารย์ชูเกียรติกล่าว

เขาเสริมว่า “อัฟกานิสถานเหมือนกับเป็นประเทศที่ถูกสาป ถูกยึดครองโดยชาติอื่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมองโกลในอดีต ชาติมหาอำนาจที่รายล้อมอัฟกานิสถานผลัดกันยึดครองอัฟกานิสถาน จนถึงอังกฤษ สหภาพโซเวียต สหรัฐฯ ไม่เคยมีสันติสุข ไม่เคยมีระเบียบที่จะทำให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีโอกาสในการพัฒนาอย่างจริงจัง อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ยากจนประเทศหนึ่งของโลกเราใบนี้”

อาจารย์มองว่า คุณภาพชีวิตประชาชนชาวอัฟกันคงต้องทุกข์ทรมานอีกสักพัก แต่ไม่อาจบอกได้ว่าอีกสักพักนี้คือ 10 หรือ 20 ปี

เมื่อครั้งที่ตาลีบันถูกล้มไปในปี 2001 แล้วมีรัฐบาลกลางที่สหรัฐฯ ชี้นำ ประชาชนชาวอัฟกันต่างหวังว่า ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น แต่รัฐบาลกลางเองก็ถูกตั้งข้อรังเกียจว่าทุจริตมาตลอด

ความผิดพลาด ความอ่อนแอ ความไร้ประสิทธิภาพ หรือความไม่โปร่งใสของรัฐบาลกลางอัฟกานิสถาน เป็นจุดที่ทำให้ตาลีบันซึ่งเข้มแข็งมากขึ้นผงาดกลับมาใหม่ได้สำเร็จ

“ฉะนั้นสำหรับประชาชนชาวอัฟกัน ผมเสียใจที่ต้องกล่าวว่า ยังคงจะต้องทรมานหรือประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตต่อไปอีกสักพักหนึ่ง ส่วนที่ว่าจะเป็นดินแดนสันติภาพได้หรือไม่นั้น ผมกล้าตอบได้ 95% เลยว่า คงจะยากในอนาคตอันใกล้” อาจารย์ชูเกียรติกล่าว

หากเป็นอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์จริง ภาพฝันว่าจะเกิดความสันติสุขร่มเย็นในดินแดนแถบนี้ เห็นทีว่าจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมจริง ๆ

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ