พบผู้แปรพักตร์ข้ามจากเกาหลีใต้ไปเกาหลีเหนือ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานจากรัฐบาลเกาหลีใต้พบบุคคลหนึ่งข้ามฝั่งจากเกาหลีใต้ไปยังเกาหลีเหนือ โดยลักลอบผ่านเขต DMZ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวด สื่อหลายสำนักพากันประโคมข่าวเพราะกรณีแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยที่ผ่านมา ไม่ค่อยพบการหนีของคนจากเกาหลีใต้ไปเกาหลีเหนือ นั่นก็เป็นเพราะว่า คุณภาพชีวิตและเสรีภาพทั้งฝั่งเกาหลีใต้ถือว่าดีกว่าเกาหลีเหนือมาก เมื่อเกิดการหลบหนี จึงมักจะเป็นคนจากเกาหลีเหนือหนีไปเกาหลีใต้มากกว่า ล่าสุดทางการเกาหลีใต้ระบุว่า ผู้หลบหนีข้ามแดนรายนี้ เป็นผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กองทัพเกาหลีใต้รายงาน พบบุคคลหนึ่งข้ามเขต DMZ หรือเขตปลอดทหารที่ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนของสองประเทศ ลักลอบเข้าไปยังเกาหลีเหนือ

โดยระบุรายละเอียดว่า เมื่อเวลา 18.40 น. ของวันเสาร์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น กล้องวงจรปิดจับภาพของคนๆ หนึ่งกำลังปีนข้ามรั้ว ส่งผลให้เซนเซอร์แจ้งเตือนขึ้น

อย่างไรก็ตามกว่าทหารชายแดนฝั่งเกาหลีใต้จะสังเกตเห็นว่าเซนเซอร์แจ้งเตือนก็ล่วงเข้าไปราว 21.20 น. แล้ว และต่อมาพบว่าบุคคลดังกล่าวข้ามเส้นเขตแดนเข้าไปยังแผ่นดินเกาหลีเหนือแล้วราว 22.40 น.

เผยคลิปนาทีชีวิต ทหารเกาหลีเหนือหนีตายข้ามพรมแดน

เกาหลีใต้พบพลเมืองหนีข้ามแดน แปรพักตร์ไปเกาหลีเหนือ

ทางฝั่งเกาหลีใต้จึงได้แจ้งไปยังเกาหลีเหนือ พร้อมขอให้ดูแลความปลอดภัยของคนๆนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตอบรับจากฝั่งเกาหลีเหนือ

อะไรคือเขต DMZ?

ย่อมาจาก Demilitarized zone หรือพื้นที่ปลอดทหาร มีความยาว 250 กิโลเมตรกั้นกึ่งกลางระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ส่วนตัวพื้นที่ DMZ เองมีความกว้างราว 4 กิโลเมตร พรมแดนนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพรมแดนที่ถูกควบคุมและรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเพราะนอกจากจะมีทหารทั้งสองฝั่งคอยตรวจตราแล้ว ยังมีเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว กับระเบิด รั้ว ไปจนถึงหอคอยที่ส่องไฟตรวจตราตลอดคืน

การตรวจตราที่เข้มงวดส่งผลให้ปกติแล้ว ผู้แปรพักตร์มักไม่นิยมข้ามพรมแดนด้วยวิธีนี้ เนื่องจากง่ายต่อการถูกจับ รวมไปถึงยังเสี่ยงที่จะถูกยิงจนเสียชีวิตได้

นั่นทำให้ส่วนใหญ่แล้ว บรรดาผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือมักเดินทางเข้าไปในจีน ก่อนจะข้ามไปยังเกาหลีใต้มากกว่า ความผิดปกติอีกประการหนึ่งของเหตุการณ์นี้ก็คือ การที่บุคคลจากฝั่งเกาหลีใต้ข้ามไปยังฝั่งเกาหลีเหนือ เพราะปกติแล้วจะเป็นคนจากฝั่งเกาหลีเหนือที่หนีลงมายังฝั่งใต้

ด้านกองกำลังเกาหลีใต้ระบุว่า ข้อมูลเบื้องต้น คนๆ นี้ เป็น ผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ เข้ามาในเกาหลีใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020

คนๆ นี้มีทักษะด้านยิมนาสติก ซึ่งช่วยให้เขาคลานและปีนข้ามรั้วไปได้ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบแรงจูงใจชัดเจนว่าทำไมคนๆ นี้จึงเลือกกลับไปยังเกาหลีเหนือ

รวมถึงฝั่งเกาหลีใต้ยังพยายามติดตามข่าวจากเกาหลีเหนือด้วยว่า คนๆ นี้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เนื่องจากหลังการระบาดของโควิด-19 ทหารชายแดนฝั่งเกาหลีเหนือมักสังหารคนที่ข้ามแดนผิดกฎหมาย โดยอ้างว่าป้องกันเชื้อไวรัสเข้าประเทศเรียกได้ว่าโอกาสที่จะแปรพักตร์สำเร็จยิ่งมีน้อยลงไปอีก ในยุค โควิด-19 ระบาด

กรณีล่าสุดและกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศเกิดขึ้นเมื่อกันยายน ปี 2020 เรือประมงเกาหลีใต้ลำหนึ่งถูกยิงระหว่างแล่นใกล้กับชายแดนเกาหลีเหนือ ต่อมาชาวประมงบนเรือถูกจับกุมตัว สังหารด้วยอาวุธปืนและเผาร่างทิ้งลงทะเล โดยเกาหลีเหนืออ้างว่า เพื่อป้องกันโรคระบาดในทางปฏิบัติทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในสถานะสงคราม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ได้แบ่งดินแดนเกาหลีที่เคยถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็น 2 ส่วน เพื่อคานอำนาจระหว่างกัน

โดยฝั่งเกาหลีเหนือปกครองแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และฝั่งเกาหลีใต้ปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

ความแตกต่างทางอุดมการณ์นำไปสู่ความขัดแย้ง เมื่อผู้นำทั้งสองประเทศต่างต้องการรวมชาติ ผนวกเอาดินแดนที่เหลือมาเป็นของตน ส่งผลให้เกิดการปะทะตามแนวชายแดน

27 กรกฎาคม 1953 เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตกลงเซ็นสัญญาสงบศึกและได้สร้างเขตปลอดทหารเกาหลี หรือ DMZ ขึ้นที่บริเวณพรมแดนเพื่อแบ่งแยกสองเกาหลีออกจากกัน

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยุติการต่อสู้แค่ชั่วคราว และที่ผ่านมามีชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากพยายามข้ามพรมแดนมายังเกาหลีใต้

คาดกันว่า ปัจจุบันมีชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์มาอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้แล้วราว 33,800 ราย นับตั้งแต่เกาหลีเหนือเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1990 ที่ตอนนั้นมีชาวบ้านอดอยากจนเสียชีวิตมากถึง 3.5 ล้านคน

เมื่อมาถึงเกาหลีใต้ คนเหล่านี้จะถูกสอบปากคำและตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาไม่ใช่สายลับ

จากนั้นพวกเขาจะได้เข้าโครงการฟื้นฟู ช่วยเหลือให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้ได้ หลายคนผันตัวมาเป็นนักกิจกรรม คอยรณรงค์ส่งข่าวให้ชาวเกาหลีเหนือ ที่นิยมก็เช่น การลอยบอลลูนที่ผูกเอาข้าวของต่างๆ เช่น เทป ซีดี ธนบัตร ไปจนถึงหนังสือพิมพ์ข้ามพรมแดน ด้วยความหวังว่าชาวเกาหลีเหนือจะได้รับรู้ความจริงของประเทศตนอีกวิธีคือการนำแฟลชไดร์ฟใส่ขวดน้ำ บรรจุข้าวสารแล้วลอยไปตามแม่น้ำ

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือไม่ง่าย โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ต้องใช้ชีวิตใหม่ในโรงเรียนเกาหลีใต้ พวกเขามักถูกบูลลี่และถูกเลือกปฏิบัติเพราะมาจากเกาหลีเหนือ บางคนไม่มีความสุขกับชีวิตใหม่ แต่บางคนก็ก้าวผ่านไปได้

ส่วนผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่สามารถหางานทำได้ในเกาหลีใต้  หรืออีกตัวอย่างของผู้แปรพักตร์อย่าง ชเว ฮยอนมี นักมวยหญิงจากเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยพร้อมกับครอบครัว โดยผ่านทางเวียดนาม เล่าว่า เธอมาถึงเกาหลีใต้ตอนที่เป็นวัยรุ่น และการถูกเลือกปฏิบัติจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนกระตุ้นให้เธอกลับไปฝึกชกมวยอีกครั้ง

ปี 2006 เธอได้เข้าเป็นหนึ่งในนักกีฬามวยทีมชาติเกาหลีใต้ และคว้าเข็มขัดรุ่น featherweight จากสมาคมมวยโลกหรือ WBA ได้ในปี 2008เมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา เธอเพิ่งจะรักษาเข็มขัด Junior lightweight ครั้งที่ 9 ได้สำเร็จ

ส่วนความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เกาหลี แม้ว่าจะผ่านการเจรจาฟื้นความสัมพันธ์กันหลายรอบ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ล่าสุดวันนี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ อินได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันปีใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นข้อตกลงสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

สุนทรพจน์ดังกล่าวมีใจความว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะดำเนินการฟื้นฟูสันติภาพแบบถาวรให้สำเร็จถ้าหากมีโอกาส โดยตนหวังว่าการเจรจาดังกล่าวจะดำเนินต่อในรัฐบาลชุดต่อไปด้วยเช่นกัน แม้ว่าหนทางจะยังอีกยาวไกล แต่เจตจำนงของทั้งสองประเทศจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และหากทั้งสองเจรจาและร่วมมือกัน ประชาคมระหว่างประเทศจะตอบรับต่อการเจรจา

นายมุน แจ อินได้พยายามจัดการเจรจาหลายครั้ง ซึ่งมีครั้งหนึ่งจัดขึ้นในกรุงเปียงยางในช่วงปี 2018-2019 ก่อนที่การเจรจาจะหยุดชะงักจากข้อขัดแย้งของประชาคมนานาชาติที่ต้องการให้เกาหลีเหนือยุติความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนข้อเสนอของรัฐบาลเปียงยางต่อรัฐบาลสหรัฐฯและเกาหลีใต้ให้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรและนโยบายที่ไม่เป็นมิตรอื่นๆ ต่อเกาหลีเหนือจึงเป็นที่น่าติดตามว่าการเจรจาของทั้งสองประเทศจะคืบหน้าหรือไม่ในปีนี้ และจะนำสันติภาพมาสู่คาบสมุทรเกาหลีในเร็ววันได้หรือไม่

เมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กล่าวสุนทรพจน์ปิดการประชุมของพรรคแรงงานว่า เกาหลีเหนือจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในประเทศ

รวมถึงเป้าหมายของปี 2022 นี้ รัฐบาลจะเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชน นอกจากนั้นยังย้ำถึงโควิด-19 ว่า ต้องควบคุมไม่ให้มีช่องโหว่ช่องว่างให้ไวรัสเล็ดรอดเข้ามา

สุนทรพจน์ดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่า นับเป็นครั้งแรกที่คิม จอง อึน ให้ความสำคัญกับปากท้องของประชาชนมากกว่าการพัฒนาด้านอาวุธ

นอกจากนั้นการประชุมครั้งนี้ยังตรงกับช่วงครบรอบ 10 ปี การเสียชีวิตของ คิม จอง อิล ผู้เป็นบิดา และยังใกล้วาระที่ตัวเขาจะดำรงตำแหน่งครบ 10 ปี อีกด้วย ที่ให้ความสำคัญกับอาวุธน้อยลง เพราะโควิด-19 กระทบต่อเกาหลีเหนืออย่างหนัก

เกาหลีเหนืออ้างว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อและยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียวจากองค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ตามภาพที่ปรากฏ โดยเฉพาะในกรุงเปียงยาง กลับเป็นภาพของคนเกาหลีที่สวมใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงมีการส่งเจ้าหน้าที่คอยฉีกพ่นทำความสะอาด

ในด้านเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์มองว่า คิม จอง อึน กำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด นับตั้งแต่เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่ง เนื่องจากความล้มเหลวในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2018  ทำให้เกาหลีเหนือยังคงถูกสหรัฐคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อ

ซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด เกาหลีเหนือต้องปิดพรมแดนการค้าขายกับจีนและทำให้เศรษฐกิจเกาหลีเหนือตกต่ำอย่างหนัก รวมถึงยังเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างพายุ ที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร

ถ้อยแถลงล่าสุดในช่วงปีใหม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศที่ออกมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในช่วงเดียวกันกับที่ ครบรอบ 76 ปีของการก่อตั้งพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ

โดยในตอนนั้นสำนักข่าวกลางของเกาหลีเหนือ KCNA รายงานว่า ประเด็นสำคัญที่ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือประกาศคือ การทบทวน จัดทำแผนพัฒนาประเทศใหม่

แผนใหม่ที่ว่านี้ จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แก้ปัญหาความยากจน และปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความยากจน เช่น ปัญหาขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม

อย่างไรก็ตามในเดือนเดียวกัน ช่วงนั้นเกาหลีเหนือเองก็ยังคงเดินหน้าทดสอบอาวุธอย่างต่อเนื่อง ที่คึกโครมที่สุดคือการยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ ที่นักวิเคราะห์สังเกตุว่า การทดสอบคราวนี้ ขีปนาวุธดูเหมือนมีเทคโนโลยีการควบคุมทิศทางที่ล้ำหน้าขึ้นมาก และเป็นไปได้ว่า เกาหลีเหนือเข้าใกล้ความสำเร็จในการยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำมากขึ้น

นอกจากนั้นในปี 2021 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป และขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงหรือไฮเปอร์โซนิก ซึ่งเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ

จึงต้องติดตามกันต่อว่า ในปี 2022 นี้ เกาหลีเหนือจะให้ความสำคัญกับปากท้องของประชาชนมากกว่าการสะสมอาวุธตามแผนพัฒนาใหม่หรือไม่

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ