รบ.ทหารเมียนมาปูพรมแดง ต้อนรับ “ฮุน เซน” เตรียมเจรจาสันติภาพ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รบ.ทหารเมียนมาปูพรมแดง ต้อนรับ “ฮุน เซน” เตรียมเจรจาสันติภาพ

นายกฯ กัมพูชาเปิดฉากเยือนเมียนมา

เมียนมาตัดสินจำคุก “ไป่ ทาคน” 3 ปี เหตุร่วมชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหาร

เมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมา สมเด็จฯ ฮุน เซน เดินทางถึงสนามบินกรุงเนปิดอ ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเมียนมา มีทั้งพรมแดงปูเป็นทางตามพื้น ล้อมรอบด้วยทหารในชุดเครื่องแบบจากหลายกองพัน และช่อดอกไม้จากผู้แทนรัฐบาลเมียนมา

โดย ฮุน เซน ที่เพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนปีนี้มีกำหนดการเดินทางเยือนเมียนมาสองวัน ในวันที่ 7 ถึง 8 มกราคม โดยจะเข้าพบกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในเมียนมา

นับเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่มีโอกาสเดินทางเข้าไปในเมียนมา ตั้งแต่เกิดรัฐประหารขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้เข้าพับกับนางอองซาน ซูจี หรือไม่

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 คณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจ คุมขังบรรดาสมาชิกสส. และสว. ที่กำลังจะเปิดประชุมสภาใหม่ในเช้าวันนั้น  โดยอ้างว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่พรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายนั้น เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรมและเกิดการโกงอย่างกว้างขวาง

นางอองซาน ซูจี ที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐ และประธานาธิบดีวิน มยิน ถูกคุมขังในสถานที่ลับ และถูกตั้งข้อหาเกือบ 10 ข้อหา ตั้งแต่ละเมิดพรบ. ควบคุมโรค ไปจนถึงคอร์รัปชั่น

 

ด้านประชาชนไม่พอใจการทำรัฐประหาร พวกเขาออกมาประท้วง แต่เผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยกระสุนจริง  ช่วงกลางปี 2021 ฝั่งนักการเมืองพรรค NLD ที่ไม่ได้เข้าสภารวมกลุ่มกันแต่งตั้งรัฐบาลคู่ขนานหรือที่เรียกว่า NUG ขึ้น ด้วยความมุ่งหวังว่านานาชาติจะให้การยอมรับ ตามมาด้วยการก่อตั้งกองกำลังป้องกันตนเองภาคประชาชนหรือ PDF ที่จับมือกับบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา  วิกฤตการเมืองในเมียนมาจึงไม่ใช่แค่การปราบปรามผู้ประท้วงอีกต่อไป แต่ยกระดับเป็นการต่อสู้กันระหว่างกองกำลังเมียนมา และสมาชิก PDF

จนถึงตอนนี้ 11 เดือนของวิกฤตในเมียนมา คาดกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกปราบปรามไปแล้วมากถึง 1,500 ราย  ส่วนผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังมีราว 11,500 ราย พร้อมกันนั้นยังคงมีรายงานการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ตั้งแต่ รุมทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ข่มขืนผู้หญิงและเด็ก ไปจนถึงเผาทำลายหมู่บ้านในชนบทจนราบเป็นหน้ากลอง

ก่อนที่สมเด็จฯ ฮุน เซน จะเดินทางมาถึงเมียนมา ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ผู้นำกัมพูชาออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา และหาหนทางสร้างสันติภาพร่วมกัน  พร้อมกันนั้นยังได้สนทนากับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งทางฝั่งอินโดนีเซียเองย้ำว่า หากยังไม่มีความคืบหน้า ผู้นำเมียนมาก็จะยังคงถูกกีดกันจากการประชุมอาเซียน

 

อันที่จริงอาเซียนกับเมียนมามีการตกลงร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง  ช่วงปลายเดือนเมษายน มิน อ่อง หล่าย เดินทางออกนอกเมียนมาครั้งแรกเพื่อร่วมประชุมกับสมาชิกอาเซียน  การประชุมนำมาสู่ฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนขอให้เมียนมาปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เช่น ยุติความรุนแรงจากทุกฝ่าย จัดการหารือ หรือเปิดทางให้ผู้แทนจากอาเซียนเข้าตรวจสอบเป็นต้น

อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายเดือนกลับไม่มีความคืบหน้า ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น ส่งผลให้ในการประชุมอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 38 และ 39 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา มิน อ่อง หล่าย จึงถูกกีดกันไม่ให้ร่วมประชุม ซึ่งสถานการณ์ในปีนี้อาจเปลี่ยนแปลง เพราะมีสมเด็จฯ ฮุน เซน เป็นประธานอาเซียน ซึ่งตัวเขาเองก็เผชิญวิจารณ์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา

ทั้งนี้ มีเสียงต่อต้านมากมายต่อแผนเยือนเมียนมาของสมเด็จฯ ฮุน เซน เนื่องจากผู้คนมองว่า การที่ผู้นำประเทศเดินทางไปด้วยตนเองเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรจากการรับรองความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร

 

ผู้ประท้วงชาวเมียนมาไม่ต้อนรับ สมเด็จฯ ฮุน เซน

ในการประท้วงวันนี้ปรากฏภาพของสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่ผู้ประท้วงนำมาด้วย  บางภาพถูกกากบาทขีดฆ่า บางภาพถูกเผาทิ้ง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าพวกเขาไม่ต้อนรับฮุน เซน  นี่คือบรรยากาศของการประท้วงในเมืองชเวโบ เขตสะกาย ที่วันนี้ชาวบ้านรวมตัวกันออกมาตะโกนขับไล่สมเด็จฯ ฮุน เซน  และชูธงสนับสนุนคณะรัฐบาล NUG ส่วนบนโลกออนไลน์ ชาวเน็ตในเมียนมาก็ระดมเปล่งเสียงไม่ต้อนรับเช่นกัน  ในแฮชแทก Hun Sen Stay Home และ Asean Stop Hun Sen มีภาพของฮุน เซน มากมายเช่นกัน

ด้านฝั่งรัฐบาลคู่ขนานเองก็มีความเคลื่อนไหว  โดย ดอกซ์เตอร์วิน มัต เอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมและการบรรเทาทุกข์ของรัฐบาล NUG โพสต์ถ้อยแถลงจาก องค์กรภาคประชาสังคมกัมพูชาและเมียนมาว่า ชาวกัมพูชาบางส่วนเองก็ไม่พอใจที่ฮุน เซน เดินทางไปเยือนเมียนมา พร้อมย้ำว่า กิจกรรมของฮุน เซน ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวกัมพูชาทั้งหมด

ความเคลื่อนไหวของฮุน เซน ยังถูกวิจารณ์โดยบรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนต่า งๆ  เช่น Network for Human Rights Documentation องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินงานด้านสิทธิมรุษยชนในเมียนมาตั้งแต่ปี 2004 ระบุว่า นี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่เผด็จการกำลังช่วยเหลือเผด็จการด้วยกัน

นอกจากนั้นยังมีรายงานจาก คณะประสานงานการหยุดงานประท้วง หรือ GSCB ที่เป็นการรวมกลุ่มขององค์กรต่างๆ ในการต่อต้านรัฐประหารมากกว่า 260 องค์กรว่า พวกเขาจะทำทุกทางในการขัดขวางการเยือนครั้งนี้  พร้อมประณามว่า แผนการเยือนครั้งนี้เป็นการเสริมความชอบธรรมให้กับการก่อการร้ายในเมียนมาที่ดำเนินการโดยทหาร

ต้องติดตามกันต่อว่าการเยือนครั้งนี้จะมีความคืบหน้าใดบ้าง ตลอดจนบทบาทของเมียนมาจะเป็นอย่างไรภายใต้การนำของฮุน เซน ที่ปีนี้เป็นประธานอาเซียน และที่ผ่านมาตัวเขาเองก็ถูกวิจารณ์ในประเด็นการสืบทอดอำนาจเก้าอี้ผู้นำกัมพูชามายาวนานถึง 30 ปี

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ