อีกหนึ่งสัญญาณโลกร้อน ปี 2021 “ฟ้าผ่าในอาร์กติก” เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โดยปกติ ภูมิภาคอาร์กติกจะเกิดฟ้าผ่าปีละ 400-500 ครั้ง แต่ในปี 2021 ที่ผ่านมา อาร์กติกมีฟ้าผ่ามากกว่า 7,200 ครั้ง

นอกจากน้ำแข็งที่กำลังละลายไปเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว อีกหนึ่งสัญญาณเด่นชัดในภูมิภาคอาร์กติกหรือบริเวณขั้วโลกเหนือที่ทำให้เรารู้ว่าโลกร้อนขึ้น คือปรากฏการณ์ “ฟ้าผ่า” ในแถบอาร์กติก

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นั่นเพราะโดยปกติแล้ว ในช่วงปี 2012-2020 อาร์กติกจะมีฟ้าผ่าเฉลี่ยเพียง 400-500 ครั้งต่อปี แต่ล่าสุดในปี 2021 ที่ผ่านมา อาร์กติกกลับพบเหตุฟ้าผ่ามากขึ้น 7,278 ครั้ง เรียกได้ว่านำสถิติฟ้าผ่าในช่วง 9 ปีก่อนนั้นมาบวกกันก็ยังต้องเอาไปคูณ 2 จึงจะได้เท่ากับที่เกิดในปีที่แล้ว

"อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง" กับสภาวะ Climate Change จะเป็นอย่างไร "ถ้าน้ำทะเลร้อนขึ้น"

“ใช้อาหารสู้โลกร้อน” เมื่อสิ่งที่เรารับประทานทุกวัน มีผลกับโลกทั้งใบ

โลกร้อนเป็นเหตุ ในอนาคตอันใกล้ “อาร์กติกจะมีฝนตกมากกว่าหิมะ”

โดยทั่วไปแล้ว สภาพอากาศบริเวณภูมิภาคอาร์กติกจะขาดความร้อนหมุนเวียนที่จำเป็นต่อการสร้างฟ้าผ่า ดังนั้นการค้นพบล่าสุดครั้งนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในรายงานฟ้าผ่าประจำปีของบริษัท Vaisala ในประเทศฟินแลนด์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์อย่าง คริส วากาสกี นักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านฟ้าผ่าของ Vaisala กังวล

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนฟ้าผ่าที่ปรากฏโดยรวมทางเหนือของวงแหวนอาร์กติก (Arctic Circle) ค่อนข้างเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ... แต่ที่ละติจูดสูงสุดของโลก หรือเหนือกว่า 80° ขึ้นไป เราพบฟ้าผ่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก” วากาสกีกล่าว

อุณหภูมิในอาร์กติกที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ทำให้การติดตามฟ้าผ่าในภูมิภาคนี้กลายเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก

ตามหลักทั่วไป ต้องมีปัจจัย 3 อย่างในการสร้างพายุฝนฟ้าคะนอง ได้แก่ ความชื้น  ความไม่เสถียรของบรรยากาศ และการยกตัว ดังนั้น การที่โลกร้อนขึ้น เท่ากับระดับการหายไปของน้ำแข็งในทะเลเพิ่มขึ้น น้ำสามารถระเหยได้มากขึ้นและเพิ่มความชื้นให้กับบรรยากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นและความไม่เสถียรของบรรยากาศทำให้เกิดฟ้าผ่า

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าในแถบอาร์กติกยังต่ำอยู่ แต่ความน่าจะเป็นที่เพิ่มขึ้นของฟ้าผ่าสามารถกลายเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ไม่เคยต้องรับมือกับฟ้าผ่าบ่อยครั้งในอดีต ผู้คนบนพื้นที่ราบทุนดราหรือมหาสมุทรมีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้าผ่า และฟ้าผ่าจะทำให้ระบบไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เสี่ยงต่อความเสียหาย

นอกจากที่อาร์กติกแล้ว ทีมของวากาสกียังได้สำรวจข้อมูลการเกิดฟ้าผ่าในสหรัฐฯ ซึ่งมีการเกิดฟ้าผ่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล พวกเขาพบว่า ในสหรัฐฯ มีฟ้าผ่าเกิดขึ้นมากกว่า 194 ล้านครั้ง ซึ่งมากกว่าที่เกิดในปี 2020 ถึง 24 ล้านครั้ง

มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ความถี่ของการเกิดฟ้าผ่าเพิ่มขึ้น 12% สิ่งที่น่ากลัวคือ ปัญหาไฟป่าในสหรัฐฯ นั้น แม้โดยทั่วไปจะมีสาเหตุจากไฟป่าน้อยกว่า 15% แต่หากเกิดขึ้น ก็จะมีความรุนแรงมากกว่าไฟที่มนุษย์เป็นคนก่อ ดังนั้นหากมีโอกาสเกิดฟ้าผ่ามากขึ้นเพราะโลกร้อน ก็มีโอกาสที่ไฟป่าในสหรัฐฯ จะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

"สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดไฟป่าที่เกิดจากฟ้าผ่า ... การเฝ้าติดตามแนวโน้มของฟ้าผ่าในแถบอาร์กติกมีความสำคัญเป็นพิเศษ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต” วากาสกีกล่าว

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก Getty Image / The Guardian

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ