โควิด-19 “เดลตาครอน” สายพันธุ์ใหม่จริง หรือถอดรหัสผิดพลาด?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกบางส่วนชี้ โควิด-19 “เดลตาครอน” อาจเกิดจากความผิดพลาดของการถอดรหัสในห้องแล็บ

เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) มีข่าวที่สร้างความตระหนกให้กับคนทั้งโลกอีกครั้ง เมื่อ ลีออนดิออส คอสตริคิส (Leondios Kostrikis) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยไซปรัส ประเทศไซปรัส รายงานว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม ระหว่างเชื้อสายพันธุ์เดลตา กับโอมิครอน เรียกว่า “เดลตาครอน (Deltacron)”

“ขณะนี้มีการติดเชื้อร่วมของโอมิครอนและเดลตา และเราพบว่าสายพันธุ์นี้เป็นการรวมกันของสองสายพันธุ์นี้” คอสตริคิสบอก

ไซปรัสพบโควิดลูกผสม "เดลตาครอน"

ตัวอย่างจาก รพ.สหรัฐฯ “โอมิครอน” สร้างภาระไม่ต่างจาก “เดลตา”

อย่าตระหนก ข่าวฝรั่งเศสพบโควิด-19 “B.1.640.2” กลายพันธุ์ 46 ตำแหน่ง

เขาให้เหตุผลว่า ที่เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกัน เนื่องจากมีการระบุลายเซ็นทางพันธุกรรมที่เหมือนโอมิครอนภายในจีโนมของสายพันธุ์เดลตา

คอสตริคิสและทีมวิจัยของเขาได้รายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาครอนแล้ว 25 ราย โดยข้อมูลลำดับพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อเดลตาครอนทั้ง 25 รายนี้ได้ถูกส่งไปยัง GISAID หรือฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของไวรัสระหว่างประเทศแล้งเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

เช็กที่นี่ ! รวมจุดฉีดวัคซีนโควิด ทั้งแบบลงทะเบียน และ Walk in

 

ทั้งนี้ คอสตริคิสเชื่อว่า อย่างไรสายพันธุ์ใหม่นี้จะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์มิครอนที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้สูงกว่าอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หลังสื่อทั่วโลกมีการรายงานการค้นพบนี้ของไซปรัสออกไป ก็มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั่วโลก โดยระบุว่า “การค้นพบดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในห้องแล็บ โดยเป็นการปนเปื้อนของไวรัสที่อยู่ในแล็บ”

ดร.ครูติกา คุปปาลี แพทย์โรคติดเชื้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเพียงว่า “เดลตาครอนไม่มีอยู่จริง” โดยเธอเขียนข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “เดลตาครอนไม่ใช่ของจริง และน่าจะเกิดจากการเรียงลำดับพันธุกรรมผิดพลาด จากการปนเปื้อนของชิ้นส่วนโอมิครอนในตัวอย่างสายพันธุ์เดลตาในห้องแล็บ”

ในขณะเดียวกัน ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาจากอิมพีเรียลคอลเลจ สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก กล่าวในทวิตเตอร์ว่า ลำดับพันธุกรรมของโควิด-19 เดลตาครอนที่สื่อต่าง ๆ ทั่วโลกรายงานออกไปแล้วนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของโอมิครอนและเดลตาในห้องปฏิบัติการ เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม

“และจากการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic Tree พบว่าตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน ซึ่งแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน” ดร.พีค็อกระบุ

เขาเสริมว่า ลำดับพันธุกรรมของเดลตาที่มีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อื่นปรากฏขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น การพบการกลายพันธุ์ของมิวในเดลตา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น

ด้าน ศ.นิก โลแมน ผู้เชียวชาญด้านจีโนมของจุลินทรีย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา กล่าวว่า แม้ว่าการเกิดลูกผสมระหว่างเดลตาและโอมิครอนจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลก แต่ก็เห็นพ้องกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นว่า การค้นพบเดลตาครอนของไซปรัสน่าจะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมจจีโนมของไวรัสมากกว่า

บูสเข็ม 4 ฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนดี ศบค. เปิดสูตรวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็ม 4

สำหรับประเทศไทยเอง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความระบุว่า “ไวรัสชื่อประหลาดอย่างเดลตาครอน ถ้ามีจริงต้องแยกเชื้อออกมาให้ได้ เพิ่มปริมาณได้ และถอดรหัสออกมาได้ชัดเจน การได้ข้อมูลจากคนป่วยมาโดยตรง รีบถอดรหัส โอกาสสูงมากคือ การปนเปื้อนของไวรัสทั้งเดลตาและโอมิครอนที่อยู่ในแล็บ อย่าได้ขึ้นพาดหัวข่าวรีบเร่งบอกสื่อทั้ง ๆ ที่ยังไม่วิเคราะห์ผลให้ถี่ถ้วนก่อน

“ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ดร.ทอม พีค็อก ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่กับข้อมูลไวรัสทุกวันทั้งวัน บอกว่าหลังดูข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมว่า ไวรัสชื่อประหลาดนี้ ไม่น่ามีอยู่จริงครับด้วยเหตุผลข้างต้น จำเป็นต้องเพาะออกมาให้เห็นจริง ๆ ก่อนค่อยเชื่อ ... ถาม WHO ก่อนก็ดีนะ ก่อนเรียกอะไรแบบเดลตาครอน”

ขณะที่ศูนย์จีโนม รพ. รามาธิบดี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า “ถามว่าเกิดสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ขึ้นที่ไซปรัสแล้วใช่หรือไม่  คำตอบคือน่าจะไม่ใช่”

โดยศูนย์จีโนมได้นำข้อมูลรหัสพันธุกรรม 25 ตัวอย่างที่ไซปรัสได้แชร์ไว้ให้ GISAID มาวิเคราะห์เอง ก็พบว่า เมื่อนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic Tree ตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน โดยเพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ มีที่มาจากแหล่งเดียวกันยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกันไม่แตกกิ่งก้านสาขาไปมากมาย

รู้จักโรค ASF โรคอหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร​ หายนะหมูไทย

“และจากรหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” เข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม” ศูนย์จีโนมระบุ

คำถามที่ตามมาคือหากมีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาจริง ๆ ทางศูนย์จีโนมฯจะตรวจพบหรือไม่ “คำตอบคือน่าจะตรวจพบ เพราะขณะนี้เราถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีสายยาว (long-read sequencing) ประมาณ 1,000-2,000  ตำแหน่งต่อสาย ดังนั้นหากพบรหัสพันธุกรรมของเดลตาและโอมิครอนผสมปนกันอยู่ในสายเดียวกัน ก็แสดงว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม”

อย่างไรก็ตาม ศูนย์จีโนมระบุว่า “เพื่อความชัดเจนอาจต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสักระยะ หากหลายสถาบันในไซปรัสยังสามารถถอดรหัสพันธุกรรมพบสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าวจากบรรดาตัวอย่างที่ส่งเข้ามาภายใน 1-2 อาทิตย์จากนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าได้เกิดสายพันธุ์ลูกผสมเดลตาครอนในไซปรัสเป็นที่แน่นอน”

เมื่อชนชาวโลกตั้งข้อสงสัยขนาดนี้ ทางคอสตริคิสก็ไม่อยู่เฉย ออกมาแก้ต่างว่า ว่า กรณีผู้ป่วยที่เขาพบ “บ่งบอกถึงแรงกดดันทางวิวัฒนาการต่อสายพันธุ์โควิด-19 เพื่อให้ได้การกลายพันธุ์เหล่านี้ และไม่ได้เป็นผลมาจากเหตุการณ์การรวมตัวเพียงครั้งเดียว”

เขากล่าวว่า การติดเชื้อเดลตาครอนนั้นพบมากกว่าในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เดลตาครอนจะเกิดจากการปนเปื้อนในแล็บตามที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกล่าวอ้าง

“ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอย่างที่เราพบได้รับการประมวลผลด้วยกระบวนการจัดลำดับพันธุกรรมหลายขั้นตอนในมากกว่า  ประเทศ และอย่างน้อย 1 ลำดับจากอิสราเอลที่ฝากไว้ในฐานข้อมูลทั่วโลกก็แสดงลักษณะทางพันธุกรรมของเดลตาครอนเช่นเดียวกัน ... การค้นพบนี้หักล้างคำคัดค้านที่ว่า เดลตาครอนเป็นผลมาจากข้อผิดพลาดทางเทคนิค” คอสตริคิสกล่าว

ไมเคิล ฮัดจิปันเทลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของไซปรัสกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (9 ม.ค.) ว่า โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ไม่น่าเป็นห่วง และจะมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติมในการแถลงข่าวในสัปดาห์นี้

ขยายเวลาลงทะเบียนบูสเตอร์โดส เข็ม3 ถึงวันที่ 11 ม.ค.นี้

สิ่งสำคัญที่ประชาชนควรให้ความสนใจท่ามกลางกระแสข่าวการค้นพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อยู่เรื่อย ๆ นี้ คือการเสพข้อมูลให้ครอบคลุม ไม่ตื่นตระหนก ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และภาครัฐเอง ก็ต้องคอยเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลในทันโลก เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก

 

เรียบเรียงจาก Bloomberg / Metro

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ