ภูเขาไฟใต้สมุทรตองกา ปะทุรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ส่งคลื่นกระแทกหลายประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย หรือ ภูเขาไฟตองกา เกิดการปะทุขึ้น ส่งคลื่นกระแทกและสึนามิไปค่อนโลก หลายประเทศชายฝั่งแปซิฟิกประกาศเตือนประชาชนอพยพในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา

ภูเขาไฟในตองกาปะทุแรง กระทบไปทั่วแปซิฟิก

ตองกา ร้องขอความช่วยเหลือด่วน ขาดแคลนน้ำ-อาหาร หลังภูเขาไฟปะทุ

ภาพจากดาวเทียมฮิมาวาริ 8 ของญี่ปุ่น ที่จับภาพจังหวะการปะทุตัวของภูเขาไฟตองกา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.65 โดยหลังจากปะทุก่อให้เกิดกลุ่มควันและเถ้าถ่านสูง 5-20 กิโลเมตร

ภูเขาไฟตองกาตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะฟานัวเฟาซึ่งมีระยะห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากเมืองเมืองหลวงนูกูอะฟอลาไปทางเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร จากรายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่าภูเขาไฟตองกาเริ่มประทุครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา และปะทุครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์เวลาตี 5 ครึ่ง ตามเวลาท้องถิ่น

ภาพแบบจำลองดังกล่าวแสดงให้เห็นพื้นที่ของภูเขาไฟทั้งหมด จะเห็นได้ว่าตัวเกาะที่โผล่พ้นน้ำมาตั้งอยู่บนภูเขาไฟ ปล่องที่ปล่อยควันปะทุเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาไฟทั้งลูกเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเสียหายจะรุนแรง

 

ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดคืออะไร?

ภูเขาไฟใต้น้ำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นกลไกหนึ่งของการกำเนิดเกาะใหม่กลางมหาสมุทร ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศในมหาสมุทร เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนมากนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ ที่ค่อยๆ ส่งลาวาขึ้นมายังผิวน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่เกาะไปในที่สุด เช่น หมู่เกาะฮาวาย ประมาณการว่าพื้นที่มหาสมุทร 1 ล้านตารางกิโลเมตรอาจมีภูเขาไฟถึง 4,000 ลูก  พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกจะมีภูเขาไฟประมาณ 1 ล้านลูก ในจำนวนนี้ราว 75,000 ลูกจะอยู่ใต้น้ำเหนือพื้นสมุทรประมาณ 1 กิโลเมตร

 

ภาพการระเบิดของภูเขาไฟเวสต์มาตา (West Mata) ที่นักวิทยาศาสตร์เคยบันทึกภาพไว้ได้ โดยนักสำรวจทางทะเลได้ใช้อุปกรณ์ควบคุมจากที่ไกล (remotely operated vehicle (ROV)) ชื่อยานเจสัน (Jason) เพื่อค้นหา บันทึกวิดิโอและภาพนิ่งของภูเขาไฟเวสต์มาตาซึ่งกำลังปะทุลาวาร้อนจัดออกมาจากปล่อง และไหลลงสู่พื้นทะเล เวสต์มาตาอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 1,200 เมตรใต้ทะเล บริเวณประเทศซาโมอาในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ แรงระเบิดพ่นเอาเถ้าถ่าน และ ก้อนหิน รวมทั้งลาวาที่ร้อนระอุขึ้นมา

จากภาพจะเห็นฝูงกุ้งมารวมตัวกันบริเวณปากปล่องภูเขาไฟ โดยพวกมันสามารถทนทานต่อความร้อนบริเวณดังกล่าว และน้ำที่มีสภาพกรดได้  แมกมาร้อนแดงถูกพ่นออกมาจากภายในภูเขาไฟ ขึ้นมาสู่ท้องทะเล ก่อนที่จะไหลลงสู่พื้นทะเล ลาวาที่พ่นออกจากปล่องภูเขาไฟ มีความร้อนมากกว่า 1,200 เซลเซียส

 

พอภูเขาไฟระเบิดแล้วเกิดอะไรขึ้นตามมา?

บริเวณรอยแยกของแผ่นผืนทวีปนั้นจะเป็นบริเวณที่แมกมาร้อนใต้เปลือกโลกสามารถแทรกตัวขึ้นมาได้  หากแมกมาสามารถแทรกขึ้นมาบนผิวโลกได้จะเรียกว่า “ลาวา”  บางครั้งแมกมาและแก๊สใต้เปลือกโลกอาจจะถูกแรงดันมหาศาลผลักดันให้ขึ้นมายังด้านบน และเกิดการปะทุอย่างรุนแรง ส่งเขม่า ฝุ่นควัน และคลื่นกระแทกไปทั่วบริเวณ และหากการปะทุนี้เกิดขึ้นใต้น้ำ อาจส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาในภายหลัง

การปะทุของภูเขาไฟนั้นไม่เพียงแต่จะปล่อยลาวาออกมา แต่ยังอาจจะปล่อยแก๊สและไอน้ำจำนวนมากที่ถูกกักเก็บเอาไว้ภายใต้เปลือกโลกขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่อแก๊สปริมาณมหาศาลถูกปลดปล่อยออกมาพร้อมๆ กัน อาจจะส่งออกมาเป็นคลื่นกระแทก แผ่ออกไปเป็นบริเวณกว้างทั่วโลก

 

คลื่นกระแทกเดินทางด้วยความเร็วเสียง ประมาณ 340 เมตรต่อวินาที แต่ละพื้นที่บนโลกจึงพบคลื่นกระแทกนี้ในเวลาที่แตกต่างกัน สถานีแรกที่พบคลื่นกระแทกนี้คือ หอดูดาวทางไกลอัตโนมัติ Springbrook ที่ประเทศออสเตรเลีย ในเวลา 18:42 น. ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนในประเทศไทย ตรวจจับคลื่นนี้ได้จุดแรกที่หอดูดาวภูมิภาค สงขลา อีกประมาณ 4 ชั่วโมงต่อมา ณ เวลา 19:50 น. ตามเวลาบ้านเรา

 

มีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟตองกาคราวนี้ เช่นประเทศฟิจิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเปรู

ภาพรถติดในญี่ปุ่นที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ โดยชาวญี่ปุ่นได้อพยพออกจากเมืองชายฝั่ง หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเตือนภัยสึนามิ ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากสึนามิขนาด 1.2 เมตร ซึ่งบันทึกได้ที่เขตโคมินะโตะ บนเกาะอะมามิ-โอชิมะ เวลาเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น

 

ไกลออกไปอีกกว่า 10,000 กิโลเมตรจากตองกา เมืองชายฝั่งของเปรูอย่างปิสโก และบาร์รันกา ก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิขนาดเล็กเช่นกัน โดยคลื่นดังกล่าวทำให้เกิดน้ำท่วมเมือง ประชาชนหนีห่างจากชายฝั่ง เรือขนาดเล็กลอยตามคลื่นขึ้นมาสู่ท้องถนน ร้านค้าและปั๊มน้ำมันต่างโดนน้ำท่วม โดยประชาชนในพื้นที่กล่าวว่าไม่ได้สังเกตคลื่นระลอกแรก จนกระทั่งคลื่นระลอกที่ 4 ซัดกระแทกชายฝั่งจึงได้อพยพ

 

ขณะที่ภาพคลื่นบริเวณชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งอยู่ทางตะวันตกสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งที่ ๆ ได้รับผลกระทบ โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯได้ประกาศเตือนภัยสึนามิ แต่ไม่มีคลื่นขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายแต่อย่างใด

ในขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศหมู่เกาะใกล้เคียงอื่น ๆ ก็ได้ประกาศเฝ้าระวังสึนามิเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเช่นกัน

 

ส่วนสถานการณ์ในตองกาเป็นอย่างไรบ้าง?

ภาพที่เห็นคือภาพถ่ายจากดาวเทียมของญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นการปะทุเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามวลเมฆฝุ่นก๊าซขนาดใหญ่จากการระเบิดได้พุ่งสู่ท้องฟ้าถึง 20 กิโลเมตรเหนือบริเวณปล่องภูเขาไฟและกรุงนูกูอะโลฟา เมืองหลวง  ส่งผลให้ท้องฟ้ามืดสนิท  ประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากสารพิษต่าง ๆ จากควันและเถ้าถ่านภูเขาไฟซึ่งนำไปสู่โรคของระบบทางเดินหายใจแบบฉับพลันได้

ขณะนี้ที่ตองกายากที่จะอัพเดทความคืบหน้า เนื่องจากการระเบิดทำให้เกิดสึนามิรุนแรงซัดเข้าสู่ชายฝั่งเมืองหลวงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้อินเทอร์เน็ตและการเชื่อมต่อถูกตัดขาด ขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่ออุปโภค บริโภค ประชาชนแสนกว่าคนกำลังอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก

ด้านจาร์ซิลดา อาร์เดิน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้แถลงเมื่อวานนี้ว่ายังไม่มีรายงานความเสียหาย ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกล่าวว่ารัฐบาลตองกายินดีรับความช่วยเหลือจากนิวซีแลนด์ที่จะเดินทางไปในวันพรุ่งนี้

ความคืบหน้าล่าสุด เช้าวันนี้ (17 ม.ค.65) รัฐบาลนิวซีแลนด์ นำโดยอาร์เดินได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเครื่องบินของนิวซีแลนด์กำลังเดินทางไปสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือแก่ชาวตองกา

 

นอกจากนิวซีแลนด์แล้ว ออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ส่งความช่วยเหลือไปยังประเทศตองกา เช้าวันนี้รัฐบาลออสเตรเลียนำโดยมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียได้ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังติดต่อกับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในเมืองหลวงของตองกา และรัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งเครื่องบินกองทัพอากาศไปร่วมกับนิวซีแลนด์เช่นกัน

 

สำหรับการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเลครั้งนี้นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ กล่าวว่า ภูเขาไฟใต้ทะเลอาจมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องไปอีกเป็นสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นเดือน ๆ  นักวิชาการไม่สามารถคาดเดาได้ว่าภูเขาไฟลูกนี้จะปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อใด ต้องจับตาและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ