นานาชาติ แห่ช่วยเหลือตองกา - นักวิทย์มึน ภูเขาไฟระเบิดสะเทือนค่อนโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผ่านมาแล้ว 3 วัน หลังจากเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้สมุทร “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย” ปะทุครั้งใหญ่ ส่งคลื่นกระแทกและคลื่นสึนามิไปไกลค่อนโลก การปะทุดังกล่าวมีประเด็นที่ทำให้เกิดความงุนงงกับนักวิทยาศาสตร์หลายจุดด้วยกัน ความคืบหน้ารายงานความเสียหายล่าสุดยังคงมีไม่มาก เพราะการสื่อสารยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประเทศที่แรก ๆ ที่สามารถส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้ คือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ตองกา ร้องขอความช่วยเหลือด่วน ขาดแคลนน้ำ-อาหาร หลังภูเขาไฟปะทุ

ภูเขาไฟใต้สมุทรตองกา ปะทุรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ส่งคลื่นกระแทกหลายประเทศ

การติดต่อสื่อสารของประเทศตองกา กับโลกภายนอก ยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสายเคเบิลใต้น้ำได้รับความเสียหายถูกตัดขาดจากการระเบิดของภูเขาไฟ คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 วันในการซ่องแซม ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่งเครื่องบินไปที่นั่น บินสำรวจเหนือน่านฟ้าเพื่อประเมินความเสียหายเบื้องต้น ล่าสุดวันนี้ (18 ม.ค.65) ความช่วยเหลือชุดแรกเดินทางออกไปแล้ว

 

โดยเรือรบ HMNZS Wellington ที่ออกจากฐานทัพ Devonport Naval Base บนชายฝั่งทางเหนือของโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์  ซึ่งบนเรือบรรทุกสิ่งของที่จำเป็นที่สุดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงน้ำจืด ก่อนหน้านั้นนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาร์ซิลดา อาร์เดิน ให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมช่วยเหลือตองกาอย่างเต็มความสามารถ

ในขณะที่ออสเตรเลียได้ส่งเรือหลวง HMAS แอดิเลด บรรทุกอุปกรณ์ยังชีพออกจากซิดนีย์ไปยังตองกาแล้ว เมื่อเช้าที่ผ่านตามเวลาท้องถิ่น

และเมื่อบ่ายที่ผ่านมารักษาการเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำตองกา ปีเตอร์ ลุนด์ ได้รายงานว่า ในกรุงนูกูอะโฟลา เมืองหลวงของตองกา เจ้าหน้าที่และประชาชนกำลังทำความสะอาดครั้งใหญ่อยู่ เพราะทั้งเมืองปกคลุมไปด้วยฝุ่น โดยชายฝั่งตองกาด้านตะวันตกได้รับความเสียหายอย่างหนัก และกำลังต้องการอุปกรณ์ทดสอบคุณภาพน้ำดื่ม

 

นอกเหนือจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ล่าสุดมีจีนที่ประกาศส่งความช่วยเหลือไปแล้ว จ้าว ลี่เจียง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า รัฐบาลจีนได้บริจาคเงินช่วยเหลือตองกาจำนวน 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราว 3.3 ล้านบาท และจะเร่งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังจากนี้อีก ตลอดจนหวังว่าตองกาจะฟื้นฟูประเทศได้ในเร็ววัน

ในขณะเดียวกัน โฆษกของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติได้ออกมาแถลงว่ายูเอ็นได้พิจารณาหาทางช่วยเหลือตองกาอยู่เช่นกัน โดยให้องค์การอาหารโลกเป็นผู้รับผิดชอบนำเสบียงไปยังตองกา และอาศัยหน่วยงานของยูเอ็นภาคพื้นในการให้ความช่วยเหลือ

 

ความช่วยเหลือจากนานาชาติกำลังหลั่งไหลไปยังตองกา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวัง และติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าอาจมีการปะทุของภูเขาไฟตองกาขึ้นอีกรอบ เนื่องจากมีการจับสัญญาณการปะทุอ่อน ๆ ได้เมื่อเย็นวานนี้ ส่วนผลกระทบของการระเบิดรอบนี้ยังประเมินได้ยากมาก เนื่องจากการเข้าถึงพื้นที่ยังเป็นไปได้ยาก สิ่งที่พอจะใช้ในการประเมินได้มีไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ภาพถ่ายดาวเทียม

 

เผยภาพความเสียหายจากเหตุภูเขาไฟระเบิดในตองกา

ภาพล่าสุดบริเวณชายฝั่งตองกาที่เครื่องบินสำรวจถ่ายมาได้ จากภาพจะเห็นได้ว่าเถ้าจากการปะทุของภูเขาไฟนั้นปกคลุมอาคารบ้านเรือนและต้นไม้ทำให้เกาะที่เคยเขียวขจีด้วยต้นไม้กลายเป็นสีเทาหม่นทั้งเกาะ

นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายจากดาวเทียมเหนือตองกาแสดงให้เห็นถึงกลุ่มก๊าซซัลเฟอร์เหนือทะเลแปซิฟิกหลังจากการระเบิดที่กำลังเคลื่อนที่ไปตามชั้นบรรยากาศ

ก๊าซซัลเฟอร์หรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คืออะไร?

 

ก๊าซซัลเฟอร์เป็นก๊าซในกลุ่มไม่มีสี ไม่ติดไฟ และละลายน้ำได้ดี ก๊าซดังกล่าวถูกนำมาใช้ในกระบวนการทำไวน์ ถนอมอาหาร และอุตสาหกรรมหล่อเย็น ตัวก๊าซลำพังเป็นสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทางเดินหายใจได้ ทำให้แสบจมูก น้ำตาไหล ไอ กล่องเสียงหดตัว หากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศจะได้เป็นซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ซึ่งสามารถละลายน้ำได้จนเป็นกรดซัลฟิวริก และเมื่อกรดซัลฟิวริกรวมเข้ากับน้ำจะทำให้น้ำเป็นกรด นั่นหมายความว่าหากฝนตกลงมา ก็จะเกิดฝนกรด ทำลายคุณภาพน้ำสำหรับบริโภคและอุปโภคของตองกา รวมถึงยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของตองกาและประเทศเพื่อนบ้านไปอย่างน้อยอีกหลายปี

นอกจากนั้นยังมีความกังวลว่า อุตสาหกรรมประมงของตองกาในอนาคตจะขาดแคลนผลผลิต เนื่องจากซัลฟิวริกทำให้น้ำทะเลเป็นกรดซึ่งส่งผลต่อปลาที่อาศัยบริเวณผิวน้ำด้วย ประจวบกับสภาวะปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งหมดย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ภาพความเสียหายที่ GISTDA เผยข้อมูลจากรายงานของ UNOSAT หรือศูนย์ดาวเทียมแห่งสหประชาชาติ บันทึกภาพด้วยดาวเทียมความละเอียดสูง ชื่อว่า worldview-2 และ เปลยาด เปรียบเทียบภาพก่อนและหลังเกิดสึนามิ จากภาพจะเห็นได้ว่าพื้นที่ชายฝั่งเสียหายอย่างมาก อาคารบางหลังหายไป พื้นที่ชายฝั่งถูกน้ำทะเลกลืนไป สนามบินได้รับความเสียหาย ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟหายไปหลังจากการปะทุ เหลือแต่ภาคพื้นสมุทรเท่านั้น

นอกความเสียหายภาคพื้นที่เกิดขึ้นแล้ว ล่าสุดสื่อนิวซีแลนด์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 2 รายจากเหตุการณ์นี้ หนึ่งในนี้เป็นชาวอังกฤษชื่อแองเจลา โกลเวอร์ ในรายงานกล่าวว่าเธอเสียชีวิตขณะที่กำลังช่วยสุนัขบนเกาะ

แองเจลา โกลเวอร์ย้ายมาอยู่ที่ตองกากับสามีและเธอตั้งมูลนิธิสมาคมสงเคราะห์สัตว์แห่งตองกา หรือ Tonga Welfare Animal Societyในปี 2020  ครอบครัวของเธอให้สัมภาษณ์ว่า ตกใจและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ผลกระทบจากการระเบิดยังส่งผลไปไกลกว่า 10,000 กิโลเมตรจากตองกา ภาพชายฝั่งประเทศเปรู เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมกำลังทำความสะอาดนกบริเวณชายหาดที่เปื้อนคราบน้ำมัน  ขณะนี้ชายหาดที่เคยเป็นสีทองกลายเป็นสีดำจากคราบน้ำมันที่ซัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง

รูเบน รามิเรซ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเปรู รูเบน กล่าวว่า การรั่วไหลของน้ำมันเกิดขึ้นในขณะที่เรือลำหนึ่งกำลังส่งน้ำมันให้โรงกลั่นลาปัมปิญา

 

 

นักธรณีวิทยายังสงสัยในการปะทุของภูเขาไฟตองกาครั้งนี้

ตองกา เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคพอลินีเชีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์กับรัฐฮาวายของสหรัฐ มีประชากรราว 100,000 คน เศรษฐกิจส่วนใหญ่พึ่งพาการประมงและเกษตรกรรมเป็นหลัก เป็นประเทศหมู่เกาะที่มีภูเขาไฟตั้งอยู่ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตองกาถูกเรียกรวมๆ ว่า วงแหวนแห่งไฟ บริเวณนี้เป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 90 ของแผ่นดินไหวทั่วโลก ตองกาจึงเป็นประเทศที่ประสบกับภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ภัยธรรมชาติอย่างการระเบิดของภูเขาไฟจะสร้างความงุนงงให้นักวิทยาศาสตร์ได้เท่าครั้งนี้

มาร์โค เบนนา นักธรณีวิทยาประจำมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ระยะเวลาการปะทุรอบปัจจุบันเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีที่แล้ว จากนั้นก็ปะทุเรื่อยมาในวันที่ 13-15 มกราคม จนกระทั่งเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ล่าสุดจะเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปะทุไม่ได้แตกต่างจากทศวรรษที่ผ่านมาในช่วงปี 2009 แต่แรงปะทุช่วงสองสามวันก่อนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า เพราะเหตุใดกันแน่ อาจเป็นได้ทั้งปัจจัยภายในและนอกรอบ ๆ ภูเขาไฟ

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามคือ ทำไมคลื่นกระแทกและคลื่นสึนามิสามารถเดินทางไปได้ไกลถึงครึ่งโลก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าแบบจำลองของสึนามิที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟไม่สามารถอธิบายการเดินทางของคลื่นรอบนี้ได้ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะมีกระบวนบางอย่างที่ทำให้คลื่นสึนามิสามารถกักเก็บพลังงานไว้ภายในจนกระทั่งเดินทางไปได้ครึ่งโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ กล่าวว่า แรงระเบิดที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 1,000 เท่า

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ