“ความลับของหมู” ติดโควิด-19 แต่ไม่ป่วย เล็งต่อยอดเป็นแนวทางรักษามนุษย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิจัยพบเบาะแส ทำไมหมูที่ติดโควิด-19 จึงไม่ป่วย ตั้งเป้าต่อยอดเป็นวิธีรักษาคน

นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นเวลากว่า 2 ปี เรามักได้เห็นข่าวสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว เสือ สิงโต กอริลลา ตัวมิงก์ หรือหนูแฮมสเตอร์ แต่พวกมันมักแสดงอาการป่วย เช่น จาม ไอแห้ง และสามารถแพร่เชื้อต่อให้สัตว์ตัวอื่นได้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีสัตว์บางชนิดเช่นกัน ที่แม้จะติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่แสดงอาการป่วยแต่อย่างใด เช่น กวาง และหมู

วิจัยสหรัฐฯ พบสารสกัด CBD จากกัญชา ยับยั้งโควิด-19 ในเซลล์คนและหนูได้

จับตา “โอมิครอน BA.2” หวั่นเป็นสายพันธุ์ใหม่แทนที่โอมิครอนตัวปัจจุบัน

โมเดอร์นาพัฒนาวัคซีน 2 in 1 กันได้ทั้งโควิด-หวัดใหญ่ ตั้งเป้าสำเร็จใน 2 ปี

ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิจัยที่พยายามไขปริศนา ว่าทำไมหมูเมื่อติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่ป่วย เพื่อหวังว่าจะต่อยอดพัฒนาเป็นวิธีรักษาโควิด-19 ในอนาคต

ล่าสุด ในวารสารวิชาการ Cell Death Discovery ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นใหม่ นำโดย ศ.ราหุล เนลลี และลูอิส จิเมเนซ-ลิโรลา ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์วินิจฉัยและด้านการผลิตยารักษาสัตว์ ที่พยายามค้นหาคำตอบของปริศนาดังกล่าว

เนลลีและจิเมเนซ-ลิโรลามุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของโควิด-19 ในสุกร เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่า ไวรัสแพร่เชื้อในสุกรและเซลล์สุกรอย่างไร นักวิจัยได้สร้างแบบจำลองที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบการตอบสนองของเซลล์ต่อการติดเชื้อได้อย่างละเอียด

การศึกษาล่าสุดได้ทำการทดลองเกี่ยวกับเซลล์เยื่อบุผิวทางเดินหายใจจากสุกรที่เพาะเลี้ยงในแล็บเทียบกับเซลล์เยื่อบุผิวทางเดินหายใจของมนุษย์ ในการตอบสนองต่อการติดเชื้อ พวกเขาค้นพบว่า เซลล์สุกรมีอัตราการตายแบบ “อะพอพโทซิส (Apoptosis)” หรือ “การจงใจฆ่าตัวตายของเซลล์” ที่สูงกว่าเซลล์เยื่อบุผิวของมนุษย์

“เมื่อเรามองผ่านกล้องจุลทรรศน์ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นภายในเซลล์ เราพบว่านิวเคลียสหรือแกนกลางของเซลล์สุกรที่ติดเชื้อเริ่มแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ไม่ใช่เซลล์ที่ไม่ติดเชื้อ” เนลลีบอก

โดยหลังจากได้รับเชื้อโควิด-19 นักวิทย์สังเกตเห็นว่า เซลล์ของสุกรที่ติดเชื้อจะเริ่ม “ชิงตายก่อน” ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ทัน และตายไปพร้อมกับเซลล์นั้น

เรียกได้ว่า กระบวนการอะพอพโทซิสนี้ คือการยอมเฉือนเนื้อไม่ยอมตัดกระดูก โดยยอมเสียสละเซลล์ที่ติดเชื้อทิ้งไป ทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อน้อยที่สุด และจำกัดการเพิ่มจำนวนของไวรัส ดังนั้นจึงลดความรุนแรงของการติดเชื้อและโรคที่ตามมาให้น้อยที่สุดได้

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เซลล์ของมนุษย์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสน้อยกว่าเซลล์สุกรในการเกิดอะพอพโทซิส จากการศึกษาพบว่า เซลล์สุกรมีโอกาสชิงตายไปพร้อมกับไวรัสมากกว่าเซลล์ของมนุษย์ประมาณ 100 เท่า

ส่วนมนุษย์นั้นมักมีการตายของเซลล์ในแบบที่เรียกว่า “เนโครซิส (Necrosis)” หรือการตายของเซลล์ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งการตายของเซลล์ลักษณะนี้ทำให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมากเกินไป ซึ่งจะไม่เกิดกับอะพอพโทซิส

นักวิจัยเชื่อว่าการตอบสนองแบบอะพอพโทซิสในนั้นมีประโยชน์ในการป้องกันโรค เนื่องจากสามารถกำจัดเซลล์ที่ปนเปื้อนได้อย่างรวดเร็วโดยไม่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำปฏิกิริยามากเกินไป ในขณะที่เนโครซิสที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของภูมิคุ้มมากเกินไปนั้นเป็นอันตรายต่อเซลล์เจ้าของร่าง

“เราไม่ต้องการด่วนสรุปมากเกินไป แต่การตอบสนองแบบอะพอพโทซิสนี้น่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในระบบภูมิคุ้มกันของสุกรโดยกำเนิด แนวคิดคือการฆ่าเชื้อไวรัสอย่างละเอียดแต่เร็วพอที่จะไม่เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป” จิมิเนซ-ลิโรลากล่าว

การวิจัยเพิ่มเติมอาจนำไปสู่ยาที่กระตุ้นการตายของเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถหลบหนีจากอาการรุนแรงได้

 

เรียบเรียงจาก Science Daily

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ