เทียบบทลงโทษแต่ละประเทศ “หากรถไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากเคส “หมอกระต่าย” ที่มีการเรียกร้องแก้ไขกฎหมายจราจรให้เข้มงวดขึ้น มาดูกันว่า แต่ละประเทศ จัดการกับผู้ใช้รถที่ไม่หยุดให้คนข้ามถนนอย่างไร

จากกรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” ประสบอุบัติเหตุ ถูก ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของทางม้าลายไทยว่า “ทางม้าลายมีไว้ทำไม เมื่อข้ามถนนอย่างถูกกฎหมายก็มีสิทธิ์ถูกรถชนตายอยู่ดี”

จนเกิดกระแสเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการแก้ไขกฎหมายการจราจรที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ถนนเกรงกลัว และมีจิตสำนึกในการขับขี่มากกว่านี้

“หมอเจี๊ยบ” ร่ำไห้ อ่านประวัติอาลัย “หมอกระต่าย” ยกเป็นที่รักของเพื่อน

ปรับปรุงทางม้าลายจุดเกิดเหตุคดี “หมอกระต่าย”

อาลัย"หมอกระต่าย"ถูกตร.ขี่บิ๊กไบค์ชนบนทางม้าลาย

นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมกฎหมายบทลงโทษเบื้องต้นจากแต่ละแระเทศทั่วโลก เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่า กฎหมายจราจรของประเทศไทยนั้น อยู่ในเกณฑ์อ่อนแอจริงตามเสียงร้องเรียนหรือไม่

สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 ระบุว่า ผู้ขับขี่ต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน พูดง่าย ๆ คือ เมื่อเจอทางม้าลาย ต้องชะลอรถ และเตรียมหยุดรถ ให้คนเดินข้ามถนนก่อน

ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยอมให้คนข้ามทางม้าลาย มาตรา 152 กำหนดชัดเจนว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเป็นโทษเดียวที่จะได้รับ

เมื่อโทษเป็นการปรับเงินเพียง 1,000 บาท จึงอาจทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่เกิดความเกรงกลัว เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็เป็นได้

เมื่อลองมองในต่างประเทศ ก็มีบางประเทศเช่นกันที่กำหนดบทลงโทษคล้ายกับไทย นั่นคือประเทศจีน โดยกฎหมายสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความปลอดภัยทางจราจร มาตรา 47 ระบุว่า ยานยนต์ต้องชะลอความเร็วเมื่อข้ามทางม้าลาย หรือหยุดเพื่อให้ทางเมื่อมีคนกำลังข้ามทางม้าลาย และหากรถยนต์แล่นผ่านถนนช่วงที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรแต่มีคนกำลังข้ามถนน ก็ให้หลีกทางให้คนข้ามถนนก่อน

ในกรณีที่ผู้ขับขี่รถยนต์ฝ่าฝืนบทบัญญัติใด ๆ ในกฎหมายความปลอดภัยการจราจรทางถนน จะถูกตักเตือนหรือปรับไม่เกิน 200 หยวน (1,000 บาท)

ส่วนทางด้านไต้หวัน มีการกำหนดบทลงโทษที่สูงกว่า พระราชบัญญัติการจัดการจราจรทางบกและบทลงโทษ มาตรา 44 กำหนดว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ที่ไม่ยินยอมให้คนเดินถนนบนทางม้าลาย จะถูกปรับตั้งแต่ 1,200-3,600 ดอลลาร์ไต้หวัน (1,400-4,200 บาท) และหากไม่ยินยอมให้ทางแก่ผู้ที่ต้องใช้ไม้เท้า สุนัขนำทาง หรืออุปกรณ์ช่วยเดิน โทษจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ขยับมาที่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัยอย่างประเทศญี่ปุ่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 38 (1) ระบุว่า เมื่อเข้าใกล้ทางม้าลายหรือทางข้ามสำหรับจักรยาน ยานพาหนะหรือรถรางต้องขับด้วยความเร็วที่จะสามารถหยุดได้ทันที (หรืออยู่ตรงหน้าเส้นหยุดใด ๆ ที่ระบุโดยป้ายถนนหรือเครื่องหมาย) และต้องไม่ทำให้คนหรือจักรยานข้ามถนนไม่ได้

ซึ่งมาตรา 119 (1) ในพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุว่า บุคคลใดกระทำผิดมาตรา 38 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 เยน (ราว 14,000 บาท)

นอกจากโทษปรับที่มีในทุกประเทศ และโทษจำคุกที่มีในบางประเทศแล้ว หลายประเทศยังมีการนำระบบ “ตัดคะแนน” มาใช้ ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรง โดยมักมีการกำหนดว่า เมื่อคะแนนถูกตัดถึงจุดหนึ่งในเวลาที่กำหนด เช่น “หากถูกตัดคะแนนเกิน 12 คะแนนในกรอบเวลา 3 ปี” จะถูกยึดใบขับขี่ หรือถึงขั้นไม่สามารถขับรถได้อีกเลย

ซึ่งโทษลักษณะนี้นับว่าโหดมากสำหรับผู้ขับขี่รถ ทำให้ผู้ใช้รถในหลายประเทศมีจิตสำนึกและวินัยในการขับขี่ เพราะไม่ต้องการถูกตัดคะแนนอันจะนำไปสู่การถูกยึดใบขับขี่นั่นเอง

สำหรับประเทศที่มีการนำโมเดลการลงโทษลักษณะนี้มักอยู่ในกลุ่มชาติตะวันตก เช่น ประเทศเยอรมนี การละเมิดเครื่องหมายทางข้าม หากไม่ยินยอมให้คนเดินข้ามถนน หรือฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องทางม้าลาย จะถูกปรับเป็นเงิน 80 ยูโร (ราว 3,000 บาท) บวกกับถูกตัดคะแนนใบขับขี่อีก 1 คะแนน

หรือใกล้ ๆ กันอย่างประเทศสหราชอาณาจักร ภายใต้กฎหมายว่าด้วยกฎจราจรทางบก พ.ศ.2527 การไม่ให้ทางแก่ผู้ที่พยายามจะข้ามทางม้าลาย อาจทำให้ต้องเสียค่าปรับ 100 ปอนด์ (ราว 4,400 บาท) และถูกตัดคะแนนใบขับขี่ 3 คะแนน

นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายทางหลวง “ผู้ขับขี่ต้องระวังคนที่รอข้ามถนน” และ “ให้ทางเมื่อมีคนเคลื่อนเข้าสู่เขตทางข้าม” รวมถึง แม้ว่าคนข้ามทางม้าลายจะเดินผ่านเลนของคุณไปแล้ว ก็ยังต้องรอให้พวกเขาข้ามถนนทั้งเส้นไปได้ ก่อน จึงจะเคลื่อนรถได้

ขยับมาที่ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้มงวดเรื่องการจราจร โดยกำหนดบทลงโทษผู้ใช้รถที่ไม่ยอมให้ทางแก่ผู้ที่จะเดินข้ามถนนเป็นโทษปรับสูงถึง 494 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 11,600 บาท) และตัดคะแนนใบขับขี่อีก 3 คะแนนด้วยกัน

ขณะที่ทางด้านประเทศสหรัฐฯ มีบทลงโทษเรื่องการไม่ให้ทางคนข้ามถนนแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ อย่างรัฐแคโรไลนา ปรับไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,300 บาท) และตัดคะแนนใบขับขี่ 4 คะแนน แต่หากเป็นพื้นที่ดีซี (District of Columbia) โทษปรับจะอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,500 บาท) และตัดคะแนน 3 คะแนน ดังนั้นจะไปขับรถในรัฐไหนก็ต้องศึกษาให้ดี

แต่แน่นอนว่ายังมีบางประเทศที่บทลงโทษโหดกว่านี้ หนึ่งในนั้นคือเพื่อนบ้านอาเซียนของไทยอย่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดว่า หากผู้ใช้รถไม่ให้ทางคนข้ามถนนก่อน จะโดนโทษปรับ 200-250 ดอลลาร์สิงคโปร์ (4,900-6,100 บาท) และหากเป็นการกระทำผิดในเขตควบคุม เช่น เขตโรงเรียน โทษจะเพิ่มเป็น 300-350 ดอลลาร์สิงคโปร์ (7,300-8,500 บาท)

แต่จุดที่บอกว่าโหด คือการตัดคะแนนใบขับขี่ เพราะหากไม่หยุดให้คนเดินข้ามถนน จะถูกตัดมากถึง 6 คะแนนเลยทีเดียว

อีกหนึ่งที่ที่โหดไม่แพ้กันคือประเทศฝรั่งเศส ผู้ขับขี่ที่ปฏิเสธจะให้ทางแก่คนข้ามถนน หรือแสดงเจตนาที่จะวิ่งผ่านบนทางม้าลายที่มีคนกำลังข้าม จะถูกปรับเป็นเงิน 135 ยูโร (ราว 5,000 บาท) พร้อมตัดคะแนนใบขับขี่ 6 คะแนน และอาจระงับใบขับขี่ไม่เกิน 3 ปี

เรียกได้ว่า ในสิงคโปร์และฝรั่งเศสนั้น หากไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลายแค่ปีละ 1-2 ครั้ง ก็มีสิทธิ์โดนยึดใบขับขี่แล้ว

เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ประเทศไทยจะมีแนวทางอย่างไร ในการทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักว่า “คนสำคัญกว่ารถ” ซึ่งการจะแก้ไขจิตสำนึกของคนนั้น อาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยการสั่งสอนตักเตือนปากเปล่า เพราะหากพูดจนปากเปียกปากแฉะ แต่ไม่มีการลงโทษที่เป็นเหตุเป็นผล ผู้กระทำผิดก็จะไม่เกิดความสำนึก และสุดท้ายก็จะทำความผิดซ้ำซากอยู่ดี และเคสของหมอกระต่าย ก็จะไม่ใช่ความสูญเสียบนทางม้าลายครั้งสุดท้ายอย่างที่เราทุกคนปรารถนาให้เป็น

 

ภาพจาก Getty Image

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ