รัสเซีย ยังไม่ตอบจม.สหรัฐฯ เร่งเพิ่มกำลังเตรียมซ้อมรบชายแดนยูเครน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยังไม่มีเสียงตอบกลับจากประธานาธิบดี “ปูติน” หลังสหรัฐฯ ส่งจดหมายยืนยันจุดยืนจะไม่ขัดขวางนาโต รับยูเครนเป็นสมาชิก และจะไม่ถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออกตามที่รัสเซียต้องการ โลกจึงยังต้องลุ้นอยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังรัสเซียมากขึ้น จุดที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ กองกำลังรัสเซียในเขตรอสตอฟ อยู่ตอนใต้ของประเทศติดกับชายแดนยูเครน ด้านผู้นำสหรัฐฯ ย้ำแนวโน้มรัสเซียบุกยูเครนยังสูง คาดภายในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเปิดประชุมด่วน

ระวังเต็มสูบ! สหรัฐฯ ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์รอบ 3 หนุนยูเครน ป้องกันรัสเซียบุก

สหรัฐฯ ปัดข้อเรียกร้องรัสเซีย ห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต

กองทัพรัสเซียยังคงเดินหน้าฝึกซ้อมรบทางทหารอย่างต่อเนื่องในเขตรอสตอฟ พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศรัสเซีย ซึ่งมีชายแดนติดกับยูเครน การซ้อมรบมีรถถัง ยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก และปืนใหญ่ในการฝึกด้วย  ทางกระทรวงกลาโหมรัสเซีย และสำนักข่าว RIA ของรัสเซียยืนยันว่า มีทหารมากกว่า 6,000 นายประจำอยู่ นับตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.65)  กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้เปิดตัวระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่การฝึกซ้อมในแคว้นสเวียร์ดโลฟค์ ทางตะวันตกของรัสเซีย ใกล้กับเทือกเขาอูราล

 แต่รัสเซียยังคงยืนยันคำเดิมว่าไม่มีเจตนาในการบุกยูเครน

 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของรัสเซียคือภาพ วิดีโอที่ได้มาจากรอยเตอร์เผยให้เห็นภาพของยานพาหนะของกองทัพหลายคัน วิ่งอยู่บนท้องถนนในดินแดนไครเมีย ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น โดยรอยเตอร์รายงานว่า ยานพาหนะเหล่านั้นน่าจะกำลังเคลื่อนย้ายเครื่องยิงขีปนาวุธในเมืองเซวาสโตพอล ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือของรัสเซียในทะเลดำ

ทั้งนี้ทางตอนใต้ของรัสเซียซึ่งมีชายแดนติดกับยูเครนเป็นหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่รัสเซียสามารถใช้บุกยูเครนได้ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่รัสเซียสามารถส่งกองกำลังและเสบียงได้หากต้องทำสงครามในระยะยาว

นอกเหนือจากทางใต้แล้ว อีก 2 ทางที่รัสเซียใช้บุกยูเครนได้ คือ บุกจากเบลารุสและทางตะวันออก ซึ่งทั้งสองจุดก็มีกองกำลังรัสเซียประจำการเต็มที่ โดยเฉพาะที่เบลารุสมีการขนยุทโธปกรณ์ทันสมัยมากมายไปที่นั่นรวมถึงอากาศยานล่องหนอย่าง Su-35 ที่ออกจากฐานทัพอากาศในไซบีเรียเมื่อหลายวันที่ผ่านมา

รัสเซียบอกว่า การขนกำลังประจำการใหญ่ล้อมยูเครนจากทุกทิศแบบนี้เพื่อเป็นการป้องกันตัวแต่จะใช่หรือไม่นั้น มีเพียงประธานธิบดีปูติน ผู้นำรัสเซียเท่านั้นที่จะรู้ และตอนนี้ ปูติน ก็ยังไม่มีการตอบกลับ หลังสหรัฐฯ ส่งจดหมายไปที่รัฐบาลเครมลินโดยระบุว่า ไม่อาจทำตามข้อเรียกร้องของปูตินได้ในเรื่องการไม่รับยูเครนเป็นสมาชิกนาโต

 

ในการแถลงข่าว รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเซอร์เกย์ ลาสรอฟ ระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้อ่านจดหมายทั้งสองฉบับแล้วของสหรัฐฯและนาโต ประธานาธิบดีปูตินจะไม่รีบสรุปใด ๆ และเดี๋ยวจะตัดสินใจว่ารัสเซียจะทำอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้จุดยืนของรัสเซียคือ นาโตจะต้องไม่รับยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก และยุติหรือยกเลิกความพยามยามในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารในประเทศยุโรปตะวันออกทันทีภายใต้สัญญาที่มีพันธะผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ

ในขณะที่โลกกำลังเดาใจผู้นำรัสเซียว่าจะเอาอย่างไร ทางสหรัฐฯออกมาประกาศว่า รัสเซียจะบุกยูเครนแน่ภายในกุมภาพันธ์นี้

 

สหรัฐฯ คาดรัสเซียจะบุกยูเครนแน่ กุมภาพันธ์นี้

เอมิลี ฮอร์น โฆษกสภาความมั่นคงของทำเนียบขาวกล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนระบุว่ารัสเซียมีโอกาสจะบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์  ประเด็นนี้ได้รับการตอกย้ำยืนยันอีกครั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาจากโฆษกทำเนียบขาว เจน ชากี

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีของไบเดนจะมีการหารือเกี่ยวกับความเป็นพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามของรัสเซียต่อยูเครนในการประชุมครั้งต่อไปด้วย

เอมิลี ฮอร์น โฆษกสภาความมั่นคงของทำเนียบขาวกล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนระบุว่ารัสเซียมีโอกาสจะบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์  

ประเด็นนี้ได้รับการตอกย้ำยืนยันอีกครั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาจากโฆษกทำเนียบขาว เจน ชากี เมื่อนักข่าวถามว่าทำเนียบขาวมีการเปลี่ยนแปลงหรือประเมินสถานการณ์ใหม่หรือไม่ จากที่เคยบอกว่า รัสเซียกำลังจะบุกยูเครนในเร็วๆ นี้

คำตอบจากโฆษกทำเนียบขาวคือ การประเมินสถานการณ์ยังคงเป็นตามเดิม นั่นก็คือ รัสเซียอาจบุกยูเครนได้ทุกเมื่อ

เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำเนียบขาวเผยแพร่ภาพของผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบีโจ ไบเดน หารือทางโทรศัพท์กับโวโลโดมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน โดยเตือนผู้นำยูเครนว่า มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจใช้กำลังทหารกับยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ รายงานของสำนักข่าวเอพีอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า กองทัพรัสเซียอาจรอจังหวะให้อากาศหนาวจัดจนพื้นที่ถึงจุดเยือกแข็ง และใช้จังหวะนี้บุกยูเครน

 

ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญทางการทหารที่ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า กองทัพรัสเซียอาจกำลังรอให้สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมต่อการเคลื่อนย้ายอาวุธหนัก เหมือนเมื่อ 8 ปีก่อน รัสเซียก็เลือกที่จะส่งกำลังทหารเข้าไปในไครเมียในเดือนกุมภาพันธ์ เช่นกัน ในการพูดคุยกัน มีรายงานว่า ผู้นำสหรัฐให้สัญญากับผู้นำยูเครนว่า จะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกับยูเครนหากถูกรัสเซียรุกราน

โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ส่งอาวุธให้รัสเซียแล้ว 3 ล็อต ซึ่งเป็นล้วนเป็นอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่สำคัญในการรบมูลค่าหลายพันล้านบาท และส่งทหารประจำการในประเทศสมาชิกนาโตรอบๆ ยูเครนทั้งในยุโรป ยุโรปตะวัน และทะเลดำ คำถามก็คือว่านอกเหนือจากการขู่คว่ำบาตร ส่งอาวุธและส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังยูเครนในกรณีที่เกิดสงครามแล้ว

สหรัฐฯ ทำอะไรได้อีกบ้างในกรณีนี้ การส่งทหารสหรัฐฯเข้าไปในยูเครนไม่ใช่ทางเลือก และประธานาธิบดีไบเดนก็พูดแล้วว่าจะไม่ทำเช่นนั้น เหตุผลสำคัญคืออเมริกาไม่มีสนธิสัญญากับยูเครนในการเข้าช่วยปกป้องยูเครน หากยูเครนถูกรุกราน  จะเห็นได้ว่ารัสเซียมีไพ่ในมือเหนือกว่าชาติตะวันตก และอีกไพ่ใบสำคัญคือ นอร์ด สตรีม 2

 

ท่อส่งก๊าซ "นอร์ดสตรีม 2" อาวุธทางภูมิรัฐศาสตร์

กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ออกมาพูดถึงท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างรัสเซียและเยอรมนี โดยท่อส่งก๊าซดังกล่าวเป็นประเด็นหลักที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยหลายครั้ง ว่าอาจจะเป็นหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้ หากรัสเซียบุกยูเครนจริง 

วิกตอเรีย นูแลนด์ ปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 จะไม่มีการส่งก๊าซ ถ้าหากรัสเซียบุกยูเครนจริง

สำหรับท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 เป็นท่อส่งก๊าซที่มีความยาวกว่า 1,200 กิโลเมตร โดยโครงการนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2018 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยเป็นโครงการพลังงานที่จะเชื่อมโยงการส่งก๊าซผ่านใต้ทะเลบอลติก ถูกออกแบบมาเพื่อการส่งก๊าซจากตะวันตกของรัสเซียไปยังมางเหนือเยอรมนี

โครงการนี้เป็นโครงการที่ลงทุนสูงสุดโครงการหนึ่งบริษัทก๊าซของเอกชนและรัฐบาลรัสเซีย โดยใช้งบประมาณมากถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.66 แสนล้านบาท โครงการนอร์ดสตรีมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัสเซีย ลักษณะดังกล่าวนี้คล้ายกับนโยบายกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ใช้น้ำมันเป็นตัวต่อรองหลายประเทศในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีอยู่ภายใต้อำนาจของรัสเซีย เพราะเยอรมนีต้องพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

โดยโครงการนอร์ดสตรีม 2 สามารถส่งก๊าซให้เยอรมันได้ถึง 5.5 หมื่นล้านลูกบาก์เมตรต่อปี นับว่าเป็นปริมาณที่มหาศาลและเพียงพอให้ชาวเยอรมัน 26 ล้านคนอยู่รอดในช่วงฤดูหนาว

 

แม้แต่นอร์เวย์ที่ส่งก๊าซให้เยอรมันเป็นอันดับ 2 รองจากรัสเซียยังออกมายืนยันว่า นอร์เวย์เองก็ไม่สามารถผลิตก๊าซทดแทนรัสเซียได้ นี่คือไพ่ใบสำคัญที่รัสเซียถืออยู่ท่ามกลางความขัดแย้งชายแดนรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สหภาพยุโรปเกิดภาวะเสียงแตกในเรื่องการหามาตรการลงโทษรัสเซีย โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างเยอรมนีที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ

เยอรมนีแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่ากังวลกับปัญหาเรื่องก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐบาลเบอร์ลินแสดงออกผ่านการไม่ส่งอาวุธไปยังยูเครน และกล่าวว่ามาตรการคว่ำบาตรใด ๆ ต้องไม่กระทบกับเรื่องก๊าซในเยอรมนี

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ