วิจัยใหม่ชี้ “โอมิครอน BA.2” ตัวเต็งสายพันธุ์ต้องกังวล (VOC) ตัวถัดไป


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิจัยใหม่ชี้ โอมิครอน BA.2 มีศักยภาพเป็นสายพันธุ์ต้องกังวล (VOC) หนีวัคซีน หนีภูมิคุ้มกันจากการติดโอมิครอน BA.1 และหนียาโมโนโคลนอลฯ ได้

หลังจากที่มีรายงานว่า ประเทศไทยกำลังมีสัดส่วนการระบาดของโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สูงขึ้น อยู่ที่ราว 18.5% จนผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า โอมิครอน BA.2 อาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยแทนที่โอมิครอนเดิมหรือ BA.1 ในอนาคต

ล่าสุดยังมีข้อมูลจากงานวิจัยของต่างประเทศ 2-3 ฉบับ ที่ชี้ว่า โอมิครอน BA.2 นั้น อาจน่ากลัวและควรต้องให้ความสนใจมากกว่า BA.1 ก็เป็นได้

สหรัฐฯ อนุมัติฉุกเฉินยาตัวใหม่ รักษาโควิด-19 โอมิครอนโดยเฉพาะ

สหรัฐฯ พบกวางหางขาวติดโควิด-19 โอมิครอน หวั่นเกิดสายพันธุ์ใหม่

ผลวิจัยในลิงพบ วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสูตรต้าน “โอมิครอน” อาจไม่จำเป็น

รุนแรงกว่า หนีวัคซีนดีกว่าเล็กน้อย หนีภูมิคุ้มกันจากโอมิครอนเดิมได้

งานวิจัยแรกจากญี่ปุ่น ระบุว่า การทดลองในหนูทดลองในห้องแล็บแสดงให้เห็นว่า โอมิครอน BA.2 มีการกลายพันธุ์สูงเมื่อเทียบกับโควิด-19 ดั้งเดิมในอู่ฮั่น นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงของยีนหลายสิบตัวที่แตกต่างจากสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม BA.1

ทีมวิจัยญี่ปุ่นระบุว่า แม้ว่า BA.2 จะถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน แต่ลำดับจีโนมของมันก็แตกต่างอย่างมากจาก BA.1 โดยได้สรุปข้อมูลของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนออกมาเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ในหนูทดลองที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 นั้น พบว่า BA.2 สามารถหลบหนีจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโอมิครอนดั้งเดิม BA.1 ได้ 2.9 เท่า และในหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนซึ่งสร้างขึ้นจากโปรตีนหนามของ BA.1 ก็พบว่า BA.2 สามารถหลบหนีจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนโอมิครอน BA.1 ได้ถึง 6.4 เท่า

โควิดวันนี้โคราชเริ่มหนัก พบ 17 คลัสเตอร์ รพ.มหาราชเตียงผู้ป่วยจ่อเต็ม

นั่นหมายความว่า BA.2 มีความแตกต่างจาก BA.1 อย่างมากจริง จึงมีความเป็นไปได้ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือโอมิครอนโดยเฉพาะอาจป้องกันได้แต่ BA.1 และมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอ BA.2 แต่ทั้งนี้ยังคงต้องมีการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในมนุษย์อีกทีหนึ่งเพื่อยืนยัน

ประเด็นที่สอง พบหลักฐานในเบื้องต้นว่า โอมิครอน BA.2 แสดงความสามารถในการก่อโรคและอาการเจ็บป่วยที่สูงกว่า BA.1 ในหนูทดลอง โดยปริมาณเชื้อที่พบในปอดหนูของ BA.2 นั้นรุนแรงกว่าของ BA.1 แต่แม้จะรุนแรงกว่า ก็ยังไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้

และประเด็นที่สาม ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีในปัจจุบัน ซึ่งในงานวิจัยนี้ใช้โมเดอร์นา และแอสตร้าเซเนก้า เมื่อเจอกับโอมิครอน BA.1 และ BA.2 พบว่า BA.1 หนีภูมิจากโมเดอร์นาได้ 15 เท่า หนีภูมิจากแอสตร้าเซเนก้าได้ 17 เท่า ส่วน BA.2 หนีภูมิโมเดอร์นาได้ 18 เท่า และหนีภูมิจากแอสตร้าเซเนก้าได้ 24 เท่า

ต้านยารักษาโควิด-19 โมโนโคลนอลแอนติบอดีบางชนิดได้

นอกจากวัคซีน อีกหนึ่งความหวังที่หลายคนให้ความสนใจ คือเรื่องของ “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” หรือการนำแอนติบอดีที่จำเพาะต่อโรคต่าง ๆ มาทำเป็นยารักษาโรคนั้น ๆ โดยเฉพาะ

ซึ่งกับโควิด-19 ก็มีโมโนโคลนอลแอนติบอดีหลายตัวที่ถูกนำมาใช้และเชื่อว่ามีประสิทธิภาพดีในการรับมือกับโควิด-19 เช่น รีเจนคอฟ (ของรีเจเนอรอน เคยใช้รักษาทรัมป์), อีวูเชลด์ (ของแอสตร้าเซเนก้า), โซโตรวิแมบ ฯลฯ ซึ่งตัวโซโตรวิแมบนี้เคยมีข้อมูลว่า น่าจะรับมือกับโอมิครอนได้เป็นอย่างดี

แต่ล่าสุดทีมวิจัยจากสหรัฐฯ รายงานพบว่า โอมิครอนดั้งเดิม BA.1 สามารถหลบเลี่ยงโมโนโคลนอลแอนติบอดีรีเจนคอฟได้ ส่วนเอวูเชลด์และโซโตรวิแมบนั้น ยังมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งอยู่ แต่เมื่อเจอกับ BA.2 พบว่า สามารถหลบเลี่ยงได้ทั้งรีเจนคอฟ เอวูเชลด์ และโซโตรวิแมบ

โดยทีมวิจัยศึกษาค่าที่ยาสามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ 50% (IC50) เช่น ในกรณีของเอวูเชลด์ จากที่ใช้ยา 21.9 นาโนกรัม/มิลลิลิตรก็สามารถยับยั้งเดลตาได้ เมื่อเจอ BA.1 ต้องใช้ 1,888 นาโนกรัม/มิลลิลิตร และเมื่อเจอ BA.2 พบว่าไม่สามารถทำได้ และแม้เพิ่มยาเป็น 2 เท่าก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วนโซโครวิแมบที่คาดว่ารับมือโอมิครอนได้ดีนั้น ใช้ 299 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ในการยับยั้งเดลตา ใช้ 2,072 นาโนกรัม/มิลลิลิตรยับยั้ง BA.1 เมื่อเจอ BA.2 ก็ไม่สามารถยับยั้งได้แล้วเช่นกัน แม้เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ว่า “จากที่ใช้จำนวน 2,072 นาโนกรัม/มิลลิลิตรในสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 แต่ค่านั้นสูงเกินวัดได้เมื่อทดสอบกับ BA.2 ซึ่งอาจจะบอกว่าแอนติบอดีตัวนี้อาจใช้ต้าน BA.2 ไม่ได้ รวมถึงเอวูเชลด์ซึ่งเป็นอีกสูตรของแอนติบอดีด้วย อาจจำเป็นต้องหาแอนติบอดีตัวใหม่เพิ่มเติมกับการรับมือกับ BA.2 ครับ”

สธ.สั่งห้าม รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษาโควิด-19 ชี้ยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน

ตัวเต็งสายพันธุ์ต้องกังวล (VOC) ตัวถัดไป

นอกจากงานวิจัยทั้งสองฉบับข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่พบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สามารถเพิ่มจำนวนตัวเองได้เร็วกว่า BA.1 นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เซลล์เกาะติดกันอีกด้วย กลายเป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า “Syncytia”

Syncytia เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะกลุ่มก้อนเซลล์เหล่านี้จะกลายเป็นเหมือนโรงงานผลิตไวรัสเพิ่มเติม โควิด-19 สายพันธุ์ที่สร้าง Syncytia ได้สูงคือ เดลตา ซึ่งคาดว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปอดเสียหายมากหากติดเชื้อเดลตา

นักวิจัยศึกษาหนูทดลองที่ติดเชื้อ BA.2 และ BA.1 เมื่อเทียบกันพบว่า หนูทดลองที่ติดเชื้อ BA.2 จะป่วยและปอดทำงานแย่ลง ในตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดของหนูที่ติดเชื้อ BA.2 มีความเสียหายมากกว่าหนูที่ติดเชื้อ BA.1

ซาโตะ เคย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว หนึ่งในทีมวิจัยของงานวิจัยชิ้นแรก กล่าวว่า การค้นพบนี้พิสูจน์ว่า BA.2 ไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนอีกต่อไป และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ทีมวิจัยงานวิจัยชิ้นแรกระบุไว้ในเอกสารผลการศึกษาว่า “ข้อมูลของเราชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่โอมิครอน BA.2 จะเป็นสายพันธุ์ที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพของทั้งโลกมากที่สุด ในปัจจุบัน ทั้ง BA.2 และ BA.1 ถูกนับรวมว่าเป็นโอมิครอน แต่จากการค้นพบของเรา เราขอเสนอว่า BA.2 ควรได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ต้องกังวล (VOC) และควรได้รับการตรวจสอบในเชิงลึกมากกว่านี้”

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดโควิด-19 สายพันธุ์ที่ต้องกังวลไว้ 5 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และโอมิครอน หาก BA.2 ได้รับการพิจารณาให้เป็นสายพันธุ์ต้องกังวลแยกออกมาต่างหากจากโอมิครอน ก็อาจได้รับโค้ดเนมว่า “สายพันธุ์พาย (Pi)” ซึ่งเป็นอักษรกรีกตัวที่ถัดมาจากโอมิครอน หรือหาก WHO มองว่าชื่อมีความใกล้เคียงกับพายที่เป็นอาหาร ก็อาจขยับไปตั้งชื่อว่า “สายพันธุ์โร (Rho)” แทน

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด และเราคงได้แต่ภาวนาให้โอมิครอนเป็นสายพันธุ์สุดท้ายและเป็น “ตัวปิดเกม” อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดจริง ๆ

เริ่ม 17 ก.พ. สภากาชาดไทย เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 2-3-4 ชนิดไฟเซอร์

ข้อมูลและภาพจาก

CNN

งานวิจัย Virological characteristics of SARS-CoV-2 BA.2 variant

งานวิจัย SARS-CoV-2 Omicron BA.2 Variant Evades Neutralization by Therapeutic Monoclonal Antibodies

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ