เข้าใจ “นิวเคลียร์” และ “ไอน์สไตน์” ในวันที่รัสเซีย-ยูเครนอาจเกิด “สงครามนิวเคลียร์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




14 มีนาคม วันเกิด “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกตราหน้ามาตลอดกาลว่า เป็นผู้คิดค้นระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งที่มันอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

วันนี้ 14 มี.ค. เป็นวันครบรอบวันเกิด 143 ปี ของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องจากทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้คิดค้นอาวุธมหาประลัยอย่าง “อาวุธนิวเคลียร์” ขึ้นมา

อาวุธนิวเคลียร์กำลังเป็นที่พูดถึงในปัจจุบัน จากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มว่า อาจลุกลามบานปลายจนเกิดเป็น “สงครามนิวเคลียร์” ในท้ายที่สุด

WHO แนะยูเครน ทำลายเชื้อโรคในแล็บ ป้องกันรัสเซียโจมตีแล้วเชื้อรั่วไหล

หัวหน้าองค์การอวกาศรัสเซียขู่ "คว่ำบาตร" อาจทำสถานี ISS โหม่งโลก

ปูตินสั่งหน่วยรบนิวเคลียร์ “เตรียมพร้อมต่อสู้” ส่อเค้าสงครามนิวเคลียร์

นิวมีเดีย พีพีทีวี ชวนย้อนดูเรื่องราวการค้นพบของไอน์สไตน์โดยสังเขป เพื่อพิจารณาว่า แท้จริงแล้ว ไอน์สไตน์สมควรถูกตราหน้าอย่างรุนแรงเช่นนี้หรือไม่

ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ปฏิกิริยาฟิชชัน พลังงานนิวเคลียร์

สำหรับประวัติโดยย่อของไอน์สไตน์ คือเขาเกิดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 1879 หรือเมื่อ 143 ปีก่อน ที่เมืองอุลม์ ในจักรวรรดิเยอรมนี เป็นบุตรของช่างวิศวกรไฟฟ้าชาวยิว มีความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เป็นเลิศตั้งแต่เด็ก ในระดับที่เริ่มเรียนแคลคูลัสด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 12 ปี

ในปี 1894 อายุ 15 ปี ครอบครัวไอน์สไตน์ย้ายไปยังอิตาลี และทำให้อัลเบิร์ตได้ศึกษาต่อที่อาเรา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในปี 1896 เมื่ออายุ 17 ปี เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสารพัดช่างแห่งสหพันธรัฐสวิสในซูริก เพื่อรับการฝึกอบรมเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์

กระทั่งในปี 1901 เขาได้ประกาศนียบัตร ได้สัญชาติสวิส และเนื่องจากเขาไม่สามารถหาตำแหน่งการสอนได้ เขาจึงรับตำแหน่งผู้ช่วยด้านเทคนิคในสำนักงานสิทธิบัตรสวิส และในปี 1905 เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) จากมหาวิทยาลัยซูริก

ในปีเดียวกันนั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังได้ตีพิมพ์บทความเชิงทฤษฎีจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งถูกเรียกว่า “บทความปีปาฏิหาริย์ (Annus Mirabilis papers)” ซึ่งมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาของความรู้ฟิสิกส์สมัยใหม่

ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับนิวเคลียร์ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ อยู่ในบทความฉบับที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ เวลา (Time) และปริภูมิ (Space) ที่ทำให้เกิดสมการชื่อดังอย่าง E = mc2 หรือที่บางคนก็เรียกว่า สมการมวล-พลังงาน (Mass-Energy Equation) ซึ่งบอกว่า พลังงาน (E) กับมวล (m) เป็นของสิ่งเดียวกันที่แปลงกลับไปกลับมากันได้ โดย c คือความเร็วแสง

ในปี 1938 หรือราว 30 ปีต่อมา สมการนี้ได้นำไปสู่การทดลองแบ่งแยกนิวเคลียสในอะตอม หรือที่เรียกว่า ฟิชชัน (Fission) โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ ออตโต ฮาน (Otto Hahn) กับ ฟริตซ์ ชตราสมันน์ (Fritz Strassmann) สามารถสร้างปฏิกิริยาฟิชชันในยูเรเนียมได้สำเร็จ

ฟิชชันเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่แบ่งนิวเคลียสออกเป็น 2 ส่วนที่มีขนาดและมวลใกล้เคียงกัน โดยมีมวลของนิวเคลียสหายไปเล็กน้อย ซึ่งปฏิกิริยาฟิชชันนี้ทำให้เกิดพลังงานมหาศาล ที่เราเรียกกันว่า “พลังงานนิวเคลียร์” นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

กาชาดสากลชี้เมืองมาริอูโปลของยูเครน เผชิญวิกฤตมนุษยธรรม

ไอน์สไตน์เกี่ยวพันกับอาวุธนิวเคลียร์ แค่ “ลายเซ็นเดียว”

หลังจากที่มีการค้นพบพลังงานนิวเคลียร์นี้ โลกก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) พอดี ทำให้นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์จำนวนมากที่หนีภัยสงครามจากยุโรปมาพำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ต่างกลัวกันว่า นาซีเยอรมนี ภายใต้การนำของผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ในสงคราม

พวกเขาจึงพยายามโน้มน้าวสหรัฐฯ ให้เร่งค้นคว้าการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ก่อนเยอรมนี และได้ไปขอร้องให้ไอน์สไตน์ออกหน้าลงนามในจดหมายถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น คือ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์

ไอน์สไตน์คล้อยตาม และยอมลงชื่อในจดหมาย ซึ่งมีผลให้รูสเวลต์สั่งตั้งคณะที่ปรึกษาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา โดยที่ไอน์สไตน์ “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษานี้” และไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ทั้งสิ้น

จึงกล่าวได้ว่า ความเกี่ยวพันเดียวที่ไอน์สไตน์มีต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อยู่ที่การลงนามเพียงครั้งเดียวของเขา ที่ทำให้สหรัฐฯ ตั้งคณะที่ปรึกษาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา

ดังนั้น หากจะบอกว่าไอน์สไตน์เป็นผู้ทำให้เกิดระเบิดหรืออาวุธนิวเคลียร์นั้น ก็นับว่าเป็นความจริง “เพียงเสี้ยวเดียว” แต่หากลงในรายละเอียด ก็ยังคงต้องบอกว่า โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่างหากที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเต็ม ๆ

ความรู้ไม่ผิด ผิดที่ผู้ใช้ความรู้

หลังเกิดเหตุทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นไอน์สไตน์ผู้ตั้งสมการ E = mc2 หรือฮานที่ทดสอบปฏิกิริยาฟิชชันสำเร็จ ต่างแสดงความเสียใจและรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกังวลว่า ในอนาคตอาจเกิดสงครามที่รุนแรงจากอาวุธนิวเคลียร์อีก ซึ่งอาจหมายถึงหายนะของมนุษยชาติ

เรื่องราวของไอน์สไตน์และฮาน ก็คล้ายคลึงกับ อัลเฟรด โนเบล ผู้พัฒนาระเบิดไดนาไมต์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการระเบิดเหมือง ให้การทำงานของแรงงานง่ายขึ้น แต่กลับถูกนำไปใช้เพื่อเป็นอาวุธในการรบพุ่งและสังหารกัน ทำให้โนเบลที่รู้สึกผิด ก่อตั้งรางวัลโนเบลขึ้นมา เพื่อเป็นรางวัลให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ซึ่งพยายามสร้างสรรค์และค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

เรื่องที่เกิดขึ้นกับโนเบล ไอน์สไตน์ จนถึงฮาน อาจพอจะสรุปได้ด้วยประโยคหนึ่งว่า “ความรู้ไม่ผิด ผิดที่ผู้ใช้ความรู้” เพราะองค์ความรู้บนโลกก็เป็นเหมือนกับดาบสองคม มีคมด้านที่ใช้แล้วจะเกิดประโยชน์มหาศาล แต่ก็มีคมด้านที่อันตรายเช่นกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้ใช้ความรู้นั้น และใช้มันเพื่ออะไร

และท่ามกลางสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า แต่ละฝ่ายจะใช้ “นิวเคลียร์” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ไปในทิศทางใดกันแน่

สหรัฐฯ อ้าง รัสเซียขอการสนับสนุนอาวุธและความช่วยเหลือทางทหารจากจีน

เรียบเรียงจาก Nobel Prize

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ