สหประชาชาติ เตือนวิกฤตยูเครน-รัสเซีย อาจได้เห็นสงครามนิวเคลียร์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติออกโรงเตือน โลกอาจได้เห็นการเผชิญหน้าด้านนิวเคลียร์อีกครั้ง

ผู้นำยูเครนเผยเจรจาสันติภาพใกล้ความจริง

รัสเซียคว่ำบาตร “ไบเดน” ขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางเข้าประเทศ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่โลกอาจได้เห็นการนำนิวเคลียร์มาใช้เป็นอาวุธเหมือนยุคสงครามเย็น โดยย้ำว่าทุกคนควรรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์เอาไว้และรีบกลับเข้าสู่เส้นทางการเจรจาเพื่อสันติภาพโดยเร็ววัน

การเตือนในครั้งนี้เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา  4 วันหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ประกาศยกระดับการแจ้งเตือนและการเตรียมพร้อมรบด้านนิวเคลียร์ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหารของรัสเซีย

อะไรคือสิ่งที่น่ากังวลจนเลขาธิการสหประชาชาติต้องออกมาเตือน? คำตอบคือ ปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศที่มีการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก

ข้อมูลของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน หรือ FAS รายงานว่าปัจจุบันโลกของเรามีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 12,700 หัว ซึ่งทั้งหมดนี้ถือครองโดย 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย อิสราเอล ปากีสถาน อินเดีย จีน และเกาหลีเหนือ

โดยประเทศที่ถือครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในเวลานี้ คือ รัสเซียซึ่งถือครองมากกว่า 5,977 หัว หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีบนโลก

เมื่อลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่าหัวรบจำนวน 5,977 หัวนั้นยังแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  • จำนวน 1,588 หัว หรือ ร้อยละ 27 เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้เชิงยุทธศาสตร์หรือ Deployed Strategic
  • จำนวน 2,889 หัว หรือ ร้อยละ 48 ยังไม่ถูกประจำการและถูกเก็บรักษาไว้
  • จำนวน 1,500 หัว หรือ ร้อยละ 25 ถูกปลดประจำการเพื่อรอการปลดอาวุธ

อย่างไรก็ตาม จากกราฟฟิกนี้ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน จะเห็นได้ว่ารัสเซียไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้เชิงยุทธวิธี หรือ deployed non-strategic แม้แต่ลูกเดียว

ทั้งนี้ตัวเลขของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันนั้น ไม่สอดคล้องกับรายงานของสภาคองเกรสเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่เผยแพร่ฉบับอัพเดตเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา  โดยรายงานฉบับดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากหลายแหล่งว่ารัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์ประเภทดังกล่าวอยู่ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันหัว

 

แล้ว Strategic Nuclear และ Non-Strategic Nuclear คืออะไร ต่างกันอย่างไร?

สำหรับประเภทแรก Strategic Nuclear หรืออาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์  อาวุธชนิดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีกับเป้าหมายหนึ่ง ๆ อย่างดินแดน เมือง ฐานทัพ หรือที่ตั้งบางแห่งที่ไกลจากฐานยิงซึ่งจะสร้างความเสียหายในวงกว้าง

โดยอาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์อาจเป็นขีปนาวุธแบบข้ามทวีป หรือ ICBM ที่มีพิสัยอยู่ที่ 5,630 กิโลเมตร ขีปนาวุธพิสัยกลาง หรือ IRBM ซึ่งมีพิสัยอยู่ที่ 965-5,630 กิโลเมตร ทั้งสองชนิดนี้อาจติดตั้งอยู่ในเรือดำน้ำ บนเรือรบ หรือบนเครื่องบินรบก็ได้

 

ในประวัติศาสตร์การรบ อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์ที่ถูกใช้และมีชื่อเสียงมี 2 ลูก คือ  ลิตเติ้ลบอยและแฟตแมน

ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกที่ถูกใช้ชื่อ ลิตเติลบอย ระเบิดลูกนี้บรรจุยูเรเนียม 64 กิโลกรัม และถูกทิ้งสู่เมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 ในเวลาเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ประชาชนหลายหมื่นคนเสียชีวิตในเวลาไม่กี่นาทีเนื่องจากแรงระเบิดขนาด 15,000 ตันทีเอ็นที

ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สองคือ แฟตแมน  ระเบิดลูกที่สองนี้บรรจุพลูโตเนียม 6.4 กิโลกรัม และถูกทิ้งสู่เมืองนางาซากิ ของประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดชื่อบล็อกสการ์ รุ่นบี-29 ในช่วง 11 โมงของวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1945 ประชาชนราว 70,000 คน เสียชีวิตทันที เนื่องจากแรงระเบิดขนาด 21,000 ตันทีเอ็นที

 

ขณะที่อีกประเภทหนึ่งนั้นคือ อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธี หรือ Non-Strategic Nuclear ซึ่งเป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสนามรบและสถานการณ์ทางการทหาร  อาวุธนิวเคลียร์ประเภทนี้จะรวมอาวุธต่าง ๆ เช่น ระเบิด Gravity Bomb ขีปนาวุธพิสัยใกล้ ทุ่นระเบิด หรือตอปิโดที่ใส่หัวรบเป็นนิวเคลียร์ไปด้วย แม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีจะไม่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้างเหมือนอาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์ แต่ปัจจุบันอาวุธชนิดนี้ถูกพัฒนาให้สามารถปรับความรุนแรงของระเบิดและความเสียหายได้

 

ด้วยเหตุนี้อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีนี้จะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญ เพราะนักวิชาการด้านความมั่นคงประเมินว่าผู้นำรัสเซียอาใช้อาวุธตัวนี้ในการเผด็จศึก เพื่อปิดเกม เนื่องจากการรุกรานครั้งนี้ผิดแผนไปจากที่รัสเซียคิดมากและรัสเซียมีเดิมพันสูงว่าต้องชนะ

หากต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีจริง ๆ รัสเซียสามารถติดตั้งหัวรบชนิดนี้ได้บนรถยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้รุ่นอิสคันเดอร์-เค ซึ่งรถยิงมิสไซล์คันนี้ไปประจำการอยู่ในเบลารุสซึ่งติดกับตอนเหนือของยูเครนตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

รัสเซียสามารถยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์นี้ได้แบบไม่ต้องกังวลเนื่องจากยูเครนปลดอาวุธนิวเคลียร์ออกไปตั้งแต่ปี 1994 แล้ว ทำให้ยูเครนไม่มีทางโต้กลับรัสเซียได้อย่างแน่นอน

 

ถ้าสมมติว่ารัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีจริง นาโตจะตอบโต้หรือไม่ และจะตอบโต้อย่างไรได้บ้าง

นักวิชาการประเมินว่าหากรัสเซียตัดสินใจใช้นิวเคลียร์จริง นาโตอาจตอบโต้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผลกระทบจากนิวเคลียร์ในยูเครนส่งผลกระทบต่อชาติสมาชิกนาโตซึ่งใกล้ที่สุดคือ โปแลนด์

นาโตสามารถเลือกใช้ระเบิดนิวเคลียร์ชนิด 150 B-61 Gravity bomb ซึ่งติดตั้งไว้ในประเทศสมาชิกนาโต 5 ประเทศ คือ เบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และตุรกี หรือขีปนาวุธพิสัยไกลที่ติดตั้งในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร หรือฝรั่งเศสในการตอบโต้ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีเกิดขึ้นจริงและลุกลามไปถึงการต่อสู้กับพันธมิตรนาโต สงครามนี้จะเป็นแค่สงครามจำกัดวงหรือไม่? หรือจะกลายเป็นสงครามขยายวงจนทำให้รัสเซียตัดสินใจไปใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ฮิโระชิมะและนางาซากิ  หากมีการใช้การใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง สิ่งนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่พาโลกเข้าสู่ระเบียบหรือความวุ่นวายใหม่ที่ไม่อาจคาดเดาได้อีกต่อไป

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ