
ตั้งข้อหากองทัพเมียนมา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แค่เสือกระดาษที่ไร้พลัง?
เผยแพร่
กองทัพเมียนมาถูกสหรัฐฯ ตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา นี่คือแรงกดดันมหาศาล หรือแค่เสือกระดาษที่ไร้พลัง?
เมียนมา คือหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีภาพลักษณ์ด้านลบเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลายนี้ บางกลุ่มชาติพันธุ์ถูกขับไสไล่ส่งหรือถึงขั้นถูกล่าสังหารจากกองทัพเมียนมา หนึ่งในนั้นคือ “ชาวโรฮิงญา” ที่เราคุ้นหูกันดีจากข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2015 จนถึงทุกวันนี้
ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) ที่ผ่านมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศว่า การสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาในปี 2018 ถือเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
"บิ๊กโจ๊ก" ยันคดีโรฮิงญาจบที่จับ พล.ท.มนัส
ย้อนลงพื้นที่ค่ายกักกัน “โรฮิงญา” สงขลา
คุกตลอดชีวิตสองผู้นำเขมรแดง “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คืออะไร?
ในปี 1948 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้สร้างอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหประชาชาติ (United Nation Genocide Convention) ขึ้นมา และได้ให้คำจำกัดความ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ว่าเป็น “การกระทำที่กระทำโดยเจตนาที่จะทำลาย ‘กลุ่ม’ ระดับชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน”
โดย UN กำหนดลักษณะการกระทำที่จะนับว่าเข้าข่ายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้ 5 ประการ หากมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งจาก 5 ประการนี้ ก็จะนับว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้แก่
- ฆ่าสมาชิกของกลุ่ม
- ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจอย่างร้ายแรง
- กำหนดสภาพความเป็นอยู่ที่ตั้งใจจะทำลายกลุ่ม
- ป้องกันการคลอดบุตร
- บังคับย้ายเด็กออกจากกลุ่ม
โดยการการะทำ 5 ประการนี้ เหยื่อจะตกเป็นเป้าหมายเพราะการเป็นสมาชิกของกลุ่ม ไม่ใช่เหตุที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม
รร.ในโซลยกเลิกระเบียบคุมชุดชั้นในนักเรียน
ตัวอย่างของการฆ่าล้างพันธุ์ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาของกลุ่มเขมรแดง เป็นต้น
ทำไมสหรัฐฯ ตั้งข้อหากองทัพเมียนมาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา?
บลิงเคนกล่าวว่า “สหรัฐฯ ได้ข้อสรุปว่า ก่อนหน้านี้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น 7 ครั้ง นี่เป็นครั้งที่ 8 ผมได้พิจารณาแล้วว่า สมาชิกของกองทัพพม่าได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” บลิงเคนกล่าว โดยใช้ชื่อในอดีตของเมียนมา นั่นคือ พม่า
โดยเหตุการณ์ 7 ครั้งก่อนหน้านี้ที่สหรัฐฯ ประกาศให้เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประกอบด้วย เหตุการณ์ในบอสเนีย (1993), เหตุการณ์ในรวันดา (1994), เหตุการณ์ในอิรัก (1995), เหตุการณ์ในดาร์ฟูร์ (2004), พื้นที่ภายใต้การควบคุมของ ISIS (2016 และ 2017)
และที่เพิ่งประกาศให้เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คือ การฆ่าล้างชาวอาร์เมเนียของจักรวรรดิออตโตมัน (1915) และการฆ่าล้างชาวอุยกูร์ในจีน (2014) ซึ่งสองเหตุการณ์หลังทางตุรกีและจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อหา
บลิงเคนชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันหลายประการระหว่างการกระทำของทหารเมียนมาเพื่อกวาดล้างชาวโรฮิงญา เมื่อเทียบกับเหตุสังหารชาวรวันดา และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ข้างต้น
กองกำลังติดอาวุธของเมียนมาเริ่มปฏิบัติการทางทหารในปี 2018 ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงญามุสลิมอย่างน้อย 730,000 คนต้องหลบหนีและเข้าไปในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นพยานเล่าถึงพฤติกรรมการเข่นฆ่า ข่มขืน และวางเพลิงทำลายบ้านเรือนชาวโรฮิงญา
“การโจมตีชาวโรฮิงญาเป็นไปอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ... หลักฐานยังชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่ชัดเจนเบื้องหลังความโหดร้ายเหล่านี้ เป็นความตั้งใจที่จะทำลายโรฮิงญาทั้งหมดหรือบางส่วน” บลิงเคนกล่าว
เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 1,000 คนที่อาศัยอยู่ในบังคลาเทศ หลังจากต้องพลัดถิ่นจากความรุนแรงในปี 2016-2017 บลิงเคนกล่าวว่า 3 ใน 4 ของผู้ถูกสัมภาษณ์กล่าวว่า “พวกเขาได้เห็นสมาชิกของกองทัพเมียนมาสังหารชาวโรฮิงญากับตาตัวเอง”
ผู้ถูกสัมภาษณ์มากกว่าครึ่งยังพบเห็นการกระทำความรุนแรงทางเพศ และ 1 ใน 5 พบเห็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก คือมากกว่า 100 คนในเหตุการณ์เดียว
โทษของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์?
ตามอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ ได้มีการกำหนดมาตราที่เกี่ยวกับการลงโทษไว้ ดังนี้
• มาตรา 1 กำหนดให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่ฝ่ายต่าง ๆ ต้องร่วมดำเนินการเพื่อป้องกันและลงโทษ
• มาตรา 5 กำหนดให้ฝ่ายต่าง ๆ ต้องตรากฎหมายที่จำเป็นเพื่อให้อนุสัญญามีผลทางกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องกำหนดบทลงโทษสำหรับบุคคลที่ถูกตัดสินว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
• มาตรา 6 กำหนดให้รัฐต่าง ๆ ต้องลงโทษบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอาณาเขตของตน (อย่างน้อยก็ในกรณีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้ลงโทษ)
• มาตรา 7 กำหนดให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อกลับไปรับโทษ
แต่จากข้อสังเกตจะพบว่า อนุสัญญาฯ ไม่ได้กำหนดบทลงโทษของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้อย่างชัดเจน โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประเทศต่าง ๆ ในการกำหนดกฎหมายและบทลงโทษเพื่อพิจารณาภายในประเทศของตัวเอง
ดู ๆ ไปแล้ว นี่คล้ายจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ในบางประเทศไม่มีการกวดขันลงโทษผู้ที่กระทำความผิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างจริงจัง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เมียนมาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่อองซาน ซูจี เป็นผู้นำ เพราะไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังกับกองทัพเมียนมา
กองทัพเมียนมาถูกสหรัฐฯ ตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แล้วไงต่อ?
อย่างไรก็ดี การพิจารณาให้เหตุในเมียนมาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการลงโทษจากสหรัฐฯ แต่อย่างใด และจะไม่นำไปสู่การใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาหลายชั้นแล้ว นับตั้งแต่การล่าสังหารชาวโรฮิงญาเริ่มขึ้นในรัฐยะไข่ในปี 2016
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เชื่อว่า การประกาศเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการจะเพิ่มแรงกดดันจากนานาชาติให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารได้
ด้านกองทัพเมียนมาปฏิเสธข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และกล่าวว่า มันเป็นการปราบปรามผู้ก่อการร้ายต่างหาก
เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งกล่าวว่า “นี่เป็นสัญญาณบอกโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหยื่อและผู้รอดชีวิตชาวโรฮิงญา และบอกโลกในวงกว้างมากขึ้นว่า สหรัฐฯ ตระหนักถึงแรงกระเพื่อมของสิ่งที่เกิดขึ้น”
นอกจากนี้ บลิงเคนจะเพิ่มเงินทุน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33 ล้านบาท) ให้กับโครงการสืบสวนอิสระในเมียนมา (IIMM) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ซึ่งกำลังรวบรวมหลักฐานสำหรับการดำเนินคดีกับเมียนมาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า “มันจะเป็นการยกระดับจุดยืนของเรา ในขณะที่เดียวกันก็พยายามสร้างการสนับสนุนจากนานาชาติ เพื่อพยายามป้องกันความโหดร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อไป และจัดการกับสิ่งเหล่านั้น”
ด้านนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเชื่อว่า การประกาศที่ชัดเจนโดยสหรัฐฯ ว่าเหตุการณ์ต่อชาวโรฮิงญาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้น สามารถสนับสนุนความพยายามในการดำเนินคดีกับนายพลได้ เช่น ก่อนหน้านี้ ประเทศแกมเบียเคยฟ้องเมียนมาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยกล่าวหาเมียนมาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นกัน
ครั้งนั้น เมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้ผู้พิพากษาศาลยุติคดี
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) กำลังสืบสวนการเนรเทศชาวโรฮิงญาออกจากเมียนมา และ IIMM กำลังรวบรวมหลักฐานที่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาคดีในอนาคต เมียนมาคัดค้านการสอบสวนและปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ โดยยืนยันว่า ICC ไม่มีอำนาจ
ยังไม่มีความชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะขยายการประณามไปถึงรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาในขณะนั้นของนางอองซาน ซูจี หรือไม่ แต่ ณ ตอนนี้กระทรวงการต่างประเทศเลือกที่จะตำหนิเฉพาะกองทัพเมียนมาเท่านั้น
ซูจีเคยต้องเดินทางไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี 2019 เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่แกมเบียฟ้องร้องมา เธอกล่าวว่า เมียนมาจะดำเนินคดีเป็นการภายในกับทหารที่กระทำทารุณกรรม แต่ไม่ได้กล่าวถึงระดับของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เมื่อพิจารณาดูแล้ว การประกาศของสหรัฐฯ ครั้งนี้ รวมถึงการประกาศข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีต ต่างก็มีลักษณะเป็นหนึ่งใน “เครื่องมือทางการเมือง” ที่ทางหนึ่งในเพื่อสร้างแรงกดดันต่อเมียนมา (หรือตุรกีและจีนในกรณีอาร์เมเนียและอุยกูร์) ที่มีพฤติการณ์ขัดแย้งกับโลกประชาธิปไตย ในอีกทางหนึ่งก็เสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของตนเอง เป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่เล็งผลทางการเมือง
หนุ่มฟิลิปปินส์ใช้เส้นผมตัวเองทำภาพเหมือน
เรียบเรียงจาก Reuters / The Guardian / US Holocaust Memorial Museum
ภาพจาก AFP
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline