ฝ่ายโปรรัสเซียในฮังการีชนะเลือกตั้ง สั่นคลอนอียู


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในวันที่สงครามในยูเครน ต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรปในการตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ตอนนี้สหภาพยุโรปอาจต้องเผชิญกับความท้าทายภายใน เพราะเมื่อคืนนี้ผลการเลือกตั้งในฮังการีซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรปออกมา ปรากฏว่าพรรคของวิกเตอร์ ออร์บาน ซึ่งเป็นคนที่สนับสนุนและเป็นพันธมิตรกับประธานาธิบดีปูติน ได้รับชัยชนะ

ยูเครนประณามรัสเซีย สังหารหมู่พลเรือนกว่า 410 คน

"เซเลนสกี" โผล่เวที "แกรมมี อวอร์ดส์" กล่าวสุนทรพจน์ขอแรงหนุนยูเครน

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของฮังการีที่ออกมาเมื่อคืนนี้ ปรากฏว่า วิกเตอร์ ออร์บาน สามารถคว้าชัยชนะสมัยที่สี่ได้สำเร็จ พรรคการเมืองของเขาได้คะแนนไปกว่าร้อยละ 53 ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้เพียงร้อยละ 35

การเลือกตั้งของฮังการีครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนานาชาติมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเกิดขึ้นในวันที่รัสเซียกำลังรุกรานยูเครน ในฐานะที่ฮังการีเป็นทั้งชาติสมาชิกนาโตและอียู ซึ่งทั้งนาโตและอียูสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ด้วยการทั้งส่งอาวุธและคว่ำบาตรรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ฮังการีภายใต้การนำของออร์บานมีท่าทีที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนาโตและอียู สังเกตได้จากการที่ฮังการีมีชายแดนติดกับยูเครน แต่ฮังการีปฏิเสธไม่ให้มีการส่งอาวุธผ่านชายแดนของตนเพื่อเข้าไปยังยูเครน นอกจากนี้ยังประกาศไม่คว่ำบาตรการซื้อพลังงานจากรัสเซียด้วย

เมื่อคืนที่ผ่านมา ในระหว่างขึ้นเวทีประกาศชัยชนะการเลือกตั้ง ออร์บานประกาศว่า ชัยชนะครั้งนี้ไม่เพียงเห็นได้จากดวงจันทร์ แต่ยังเห็นได้จากกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการสหภาพยุโรปด้วย  นี่ถือเป็นการพูดถากถางกลุ่มประเทศยุโรปที่ต่อต้านตัวเขาที่เป็นพวกชาตินิยมขวาจัด ชัดเจนว่า ออร์บานไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสหภาพยุโรป

 

นอกจากนี้ ออร์บานยังได้วิจารณ์สหภาพยุโรปบนเวทีด้วยเช่นกัน เขาพูดว่าประเทศและองค์การระหว่างประเทศใหญ่ ๆ ที่ต่อต้านเขา เขาก็มีอะไรอยากจะบอกเช่นกัน ออร์บานฝากไปถึงประเทศโลกเสรีว่า เงินที่องค์การระหว่างประเทศเอาไปทุ่มให้ฝ่ายซ้าย เป็นการลงทุนที่แย่ที่สุดของจอร์จ โซรอส เพราะเงินนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว

 

คำถามคือทำไมฮังการีจึงมีจุดยืนแบบนี้ มี 3 เหตุผลหลัก ๆ นั่นคือ แนวคิดแบบขวาจัดของออร์บาน, ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับยุโรป และความสัมพันธ์อันดีงามกับประธานาธิบดีปูติน

 

เปิดเหตุผล จุดยืน "ฮังการี "ในวิกฤตรัสเซียรุกรานยูเครน

ออร์บาน เป็นนักการเมืองที่มาจากพรรคพรรคฟิเดสซ์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาในฮังการี ตัวของออร์บานเคยเป็นผู้นำฮังการีสมัยแรกเมื่อปี 1998-2002 และกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในปี 2010 จนถึงปัจจุปัน

ออร์บานเป็นผู้นำแบบชาตินิยม นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของเขา ต่อต้านกลุ่มชาวยิว ผู้อพยพ ชาติตะวันตก และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+

เริ่มที่กลุ่มยิว ผู้อพยพ และชาติตะวันตก สังเกตได้จากการพูดเชิงเสียดสีจอร์จ โซรอส ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีชาวฮังกาเรียนเชื้อสายยิว ที่ทำโครงการสาธารณกุศลมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 โซรอสเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน การขจัดความยากจน การสนับสนุนการรับผู้อพยพ ตลอดจนมอบทุนการศึกษาให้แก่ผู้คนทั่วโลก

ออร์บาน ก็เคยเป็นหนึ่งนักเรียนทุนของโซรอส เพื่อเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด แล้วอะไรคือเหตุผลของการต่อต้าน? นั่งเป็นเพราะประเด็นชาวยิว แนวคิดเรื่องผู้อพยพ และชาติตะวันตกคือ สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลชาตินิยมมาตลอด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 รัฐบาลฮังการีภายใต้การนำของออร์บานได้ติดแผ่นโปสเตอร์ต่อต้านโซรอส เนื่องจากแนวคิดการรับผู้อพยพนั้นขัดกับอุดมการณ์ของรัฐชาตินิยม และต่อมาในปี 2018 รัฐบาลฮังการีได้ผ่านกฎหมายต่อต้าน NGO ที่เรียกว่า “Stop-Soros” เพื่อเป็นการตอบโต้ NGO ที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าเป็นนการสนับสนุนและแทรกแซงจากชาติตะวันตก กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และรัฐสามารถจับกุมเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ที่เข้าให้การช่วยเหลือผู้อพยพได้

 

เหตุผลที่สอง รัฐบาลฮังการีที่เป็นชาตินิยม ไม่ลงรอยกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศโลกที่ยึดมั่นเสรีประชาธิปไตยมาตลอด  ออร์บานและรัฐบาลฮังการีกลายเป็นแกะดำของสหภาพยุโรป เพราะรัฐบาลมักออกกฎหมายที่ขัดต่อบรรทัดฐานและค่านิยมหลักที่ยุโรปยึดถือ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว รัฐบาลฮังการีได้ผ่านร่างกฎหมายการแบนหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ภายในโรงเรียนทุกรูปแบบ  ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและประชาชนออกมาประท้วงกลางกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี

 

ร่างกฎหมายนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้นำชาติสมาชิกอียูอื่น ๆ  ในการประชุมผู้นำสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มาร์ก รุตเทอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ได้ออกมาประกาศว่าจะขับฮังการีออกจากการเป็นชาติสมาชิกอียู

 

เหตุผลที่สามคือ ความสัมพันธ์ที่ดีของปูตินและออร์บาน เป็นที่รู้กันว่า ผู้นำของฮังการี เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย  ออร์บานมีรัสเซียเป็นแม่แบบ ที่จะสร้างประเทศ “ประชาธิปไตยแบบไม่ฝักฝ่ายใด”  และในปี 2014 เขาได้นำเสนออุดมการณ์ และแนวคิดคริสเตียนดั้งเดิมเหมือนกับที่ผู้นำรัสเซียทำ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวขัดกับลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ที่ยุโรปยึดถือตอนนี้

นอกจากนี้ ทั้งรัสเซียและฮังการีอ้างว่า ประเทศของพวกเขาถูกกองกำลังชั่วร้ายจากตะวันตกโจมตี และทั้งคู่ได้ต่อต้านนักเคลื่อนไหวที่ได้รับทุนจากต่างประเทศเหมือนกัน อีกทั้งยังฟื้นฟูกระแสชาตินิยมในประเทศของตนเอง

ก่อนเกิดการรุกรานยูเครนเพียง 1 สัปดาห์ ออร์บานไปมอสโกเพื่อพบกับประธานาธิบดีปูติน นี่คือสาเหตุที่บรรดาชาติตะวันตกคลางแคลงใจในความสัมพันธ์ของสองผู้นำ

อย่างไรก็ตาม ออร์บานเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Politico ว่า เขาไม่ได้เป็นเพื่อนและมีความสัมพันธ์ส่วนตัวใด ๆ ประธานาธิบดีปูติน

สิ่งที่ทำให้ฮังการีไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอียูและต้องสนิทกับรัสเซีย คือ ฮังการีพึ่งพารัสเซียสูงมาก โดยเฉพาะในด้านพลังงาน ก๊าซธรรมชาติกว่าร้อยละ 85  และน้ำมันร้อยละ 60 ในฮังการีถูกนำเข้ามาจากรัสเซีย

ในช่วงของการหาเสียง ออร์บานบอกว่า เขาจะไม่หยุดซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เพราะไม่อยากแบกรับภาระจากสงคราม

ก่อนหน้านี้เขาเคยออกมาปฏิเสธคำร้องของของโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่เรียกร้องให้ฮังการีสนับสนุนยูเครน ด้วยการส่งอาวุธและร่วมคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย

ออร์บานให้เหตุผลว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวขัดกับผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรัฐต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ

ชัยชนะของออร์บานในครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าจะส่งผลกระทบต่อปัญหารัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหภาพยุโรปที่เป็นแกนนำหลักในการคว่ำบาตรรัสเซีย

รวมถึงสร้างโจทย์ใหม่ให้กับสหภาพยุโรปและบรรดาชาติตะวันตก ที่ต่างกำลังแบกรับผลกระทบจากวิกฤตที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

เพราะออร์บานคือ ตัวแปรที่ไม่สามารถคาดเดาได้ พฤติกรรมที่ผ่านมาของออร์บาน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายห้ามช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ การไม่ช่วยเหลือยูเครน ล้วนละเมิดค่านิยมหลักที่ยุโรปยึดถือร่วมกันมาตลอด

 

นี่ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าชัยชนะของฝ่ายขวาในฮังการีครั้งนี้ อาจส่งผลต่อสหภาพยุโรปเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องของการรับมือกับรัสเซีย หากการรุกรานของรัสเซียรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ