โลกยุคแห่งปัญหา “ยูเครน” ยังไม่จบ “อัฟกานิสถาน-เมียนมา” ก็ยังวิกฤต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้อำนวยการ UNDP เตือนนานาชาติ หากโฟกัสแต่วิกฤตในยูเครน อาจทำให้วิกฤตในพื้นที่อื่นขยายตัวจนเกินจะแก้ไข

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุด โลกยังคงเต็มไปด้วยปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่ในระดับวิกฤตเช่นเดียวกับยูเครน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าในช่วงแรกที่เกิดวิกฤต

อาคิม สไตเนอร์ รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมกับหัวหน้าสำนักงาน UNDP ในภูมิภาค และถือโอกาสนี้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในประเทศไทย ถึงวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

ยูเครนประณามรัสเซีย สังหารหมู่พลเรือนกว่า 410 คน

ศพพลเรือนยูเครนเกลื่อนถนน หลักฐานรัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม

“ปูติน” เซ็นกฎหมาย สั่งชาติไม่เป็นมิตร ซื้อก๊าซด้วยสกุลเงินรัสเซีย

วิกฤต “ยูเครน” ยังไม่จบ และอาจทำให้วิกฤตอื่นขยายตัว

สไตเนอร์กล่าวถึงวิกฤตในยูเครนสั้น ๆ ว่า สงครามในยูเครนนอกจากจะก่อให้เกิดความโศกเศร้า ความเจ็บปวด และการทำลายล้างในยูเครนแล้ว มันยังส่งผลกระทบกับทั่วทุกมุมโลก ทั้งราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูง ราคาอาหารที่พุ่งสูง ซัพพลายสินค้าต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย

แต่หากมองว่านี่คือผลกระทบสูงสุดจากวิกฤตในยูเครนแล้ว สไตเนอร์บอกว่า ไม่ใช่แค่นั้น เพราะวิกฤตในยูเครนอาจส่งผลกระทบต่อวิกฤตอื่น ๆ ในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกได้ด้วย

“เรากำลังจะเจอสถานการณ์ที่สงครามในยูเครน จะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่โดยตรง จะไม่ใช่แค่ราคาพลังงานหรืออาหารที่สูงขึ้น แต่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศต่าง ๆ หันไปให้ความสนใจและการใช้งบประมาณกับเรื่องของยูเครนมากกว่าประเทศอื่นที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเรา” ผู้อำนวยการ UNDP กล่าว

วิกฤต “อัฟกานิสถาน” ประชาชนกำลังจะอดตาย

หนึ่งในวิกฤตที่อาจขยายตัวมากขึ้นหากทั้งโฟกัสแต่สถานการณ์ในยูเครน คืออัฟกานิสถาน

สไตเนอร์บอกว่า เขาเพิ่งเดินทางไปยังอัฟกานิสถาน เพื่อสำรวจปัญหาและวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นที่นั่น โดยระบุว่า อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังเผชิญวิกฤตหลายด้าน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“คนในอัฟกานิสถานหลายล้านคน หรืออาจครึ่งหนึ่งของประเทศ ต้องพึ่งพาการสนับสนุน เพราะไม่ใช่แค่ความหิวกำลังฆ่าประชาชน แต่อาจยกระดับกลายเป็นความอดอยาก (Famine) ได้ ถ้าสถานการณ์ไม่ได้รับการแก้ไข” เขากล่าว

สไตเนอร์เสริมว่า ปีที่แล้ว UNDP ได้จัดทำรายงานคาดการณ์สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ภายในปีนี้ 95% ของประชาชนอัฟกานิสถาน 40 ล้านคน จะอยู่ใต้เส้นความยากจน และจากตัวชี้วัดล่าสุดก็พบว่า น่าจะเกิดขึ้นจริง ยกเว้นจะสามารถรักษาระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ UNDP มองว่า ปัจจัยหนึ่งคือ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2021 ที่กลุ่มตาลีบันประกาศตัวเองเป็นผู้ปกครองของอัฟกานิสถาน และแต่งตั้งข้าราชการต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่ชำนาญการบริหารจัดการ ดังนั้นประสบการณ์และความสามารถในการบริหารบ้านเมืองระดับชาติของพวกเขายังจำกัดอยู่

สไตเนอร์กล่าวว่า ”ยูเอ็นกำลังพยายามให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม กำลังร่วมมือกับชุมชนต่าง ๆ หอการค้า องค์กรเอ็นจีโอ เพื่อพยายามช่วยให้ประชาชนอัฟกานิสถานมีชีวิตรอด และดำรงชีวิตต่อไปได้”

ผู้อำนวยการ UNDP กล่าวว่า หายนะทางเศรษฐกิจในอัฟกานิสถานเป็นสถานการณ์ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนจะมีชีวิตรอดอยู่ได้โดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือ

“เราต้องหาทางช่วยพวกเขาฟื้นตัวขึ้นมา สร้างทุกอย่างขึ้นใหม่ ด้วยความร่วมมือส่วนหนึ่งจากสถานประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีผู้ประกอบการเป็นสตรี ซึ่งเราพยายามช่วยเหลือพวกเธอ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อที่อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็จะสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองต่อได้ ไม่ต้องอดอยาก และไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินช่วยเหลืออื่น ๆ เราพยายามช่วยชีวิต เพื่อโอกาสการเอาชีวิตรอด และป้องกันไม่ให้มีความอดอยากเพิ่มมากขึ้น” สไตเนอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม งบประมาณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จะนำไปช่วยอัฟกานิสถาน จากเป้าหมาย 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4 แสนล้านบาท) ปรากฏว่า นานาชาติให้งบประมาณช่วยเหลือมาเพียง 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (8 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของงบที่จำเป็น ทำให้ประชาชนในอัฟกานิสถานอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอ

สไตเนอร์เล่าว่า ในเมืองหลวงอย่างคาบูล เขาได้ไปเยือนโรงพยาบาล พบว่ามีเด็กหลายรายที่เริ่มประสบภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือการขาดสารอาหาร ซึ่งแม้แต่คาบูลที่เป็นเมืองหลวงยังพบปัญหานี้แล้ว ทำให้คาดว่า วิกฤตนี้เริ่มกระจายไปจนถึงชนบท

“เราจึงคาดการณ์ว่า มีคนที่เริ่มหาเลี้ยงปากท้องตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่แค่หลักพันหรือหมื่นคน แต่เป็นล้านคน ซึ่งนี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในอัฟกานิสถาน” เขากล่าว และเสริมว่า ปัญหานี้อาจทำให้เกิดคลื่นการอพยพระลอกใหญ่ระลอกใหม่ ประชาชนในอัฟกานิสถานอาจจำต้องขายบ้านขายที่ดิน เพื่อย้ายที่ทำกิน และอาจมองหาโอกาสในต่างประเทศมากกว่าในอัฟกานิสถาน

วิกฤต “เมียนมา” ประเทศกำลังถอยหลัง

สไตเนอร์กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่า สหประชาชาติเรียกร้องให้เมียนมากลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ให้ปล่อยตัวนักการเมืองฝั่งตรงข้าม มาโดยตลอด แต่มีความก้าวหน้าน้อยมาก

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเมียนมาก็กำลังเสื่อมถอยจากโควิด-19 อัตราความยากจนพุ่งสูง ส่งผลกระทบกับผู้คน โดยเฉพาะประชากรหญิง ระดับการทำมาหากิน รายได้ และการทำธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในเมียนมาได้รับผลกระทบ

ผู้อำนวยการ UNDP กล่าวว่า “จากการคาดการณ์ของเราระบุว่า เมียนมาจะสูญเสียสิ่งที่พยายามพัฒนามาตลอดทศวรรษไปในเวลาอีกแค่ 1-2 ข้างหน้า นี่คือการก้าวถอยหลัง”

เมียนมาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาของประเทศหยุดชะงัก โดยสหประชาชาติกำลังศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเมียนมาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

“จากการคาดการณ์ของเรา ประชากรครึ่งหนึ่งของเมียนมา หรือประมาณ 25 ล้านคน กำลังใช้ชีวิตอยู่ในความยากจนในเมียนมา ในจำนวนนี้มี 14 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และมีอยู่ 800,000 คนที่เป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ภายในประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่านับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารภายในเมียนมา” สไตเนอร์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของรัฐยะไข่ที่เป็นปัญหา ซึ่ง UNDP คาดการณ์ว่า ประชากรรัฐยะไข่ 2 ใน 3 อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนแล้ว ซึ่งก็มีบางครอบครัว เด็กบางคน ที่ไม่มีพอจะกิน เป็นโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

เตือนนานาชาติกลับมาโฟกัสทุกปัญหา

ผู้อำนวยการ UNDP เตือนนานาประเทศว่า วิกฤตหรือหายนะที่กำลังเกิดขึ้นในโลกของเราไม่ได้มีแค่วิกฤตยูเครน ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องการความสนใจจากโลก

ซึ่งหากนานาประเทศเลือกที่จะโฟกัสกับแค่ปัญหาในยูเครน อาจนำไปสู่การขยายตัวของวิกฤตอื่น ๆ ได้ ดังที่มีการยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้นว่า หากสถานการณ์ในอัฟกานิสถานไม่ได้รับการแก้ไข การเกิดการอพยพของประชากรจำนวนมาก

นานาชาติประณามรัสเซีย หลังมีภาพศพพลเรือนเกลื่อนเมือง

ฝ่ายโปรรัสเซียในฮังการีชนะเลือกตั้ง สั่นคลอนอียู

“เราอยู่ในปี 2022 ที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หายนะ และปัญหาทางมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงอยากให้นานาชาติหันกลับมามองปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย” สไตเนอร์กล่าว

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ