
น้ำแข็งละลายที่ไอซ์แลนด์ แต่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นที่อีกฟากของโลก
เผยแพร่
ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลของประเทศไอซ์แลนด์ลดลง แล้วไปเพิ่มระดับน้ำทะเลที่อีกฟากหนึ่งของโลกแทน
เป็นที่ทราบกันดีว่าหนึ่งในผลกระทบที่สำคัญและเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดของภาวะโลกร้อน คือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่ในขณะที่ทั่วโลกกำลังกังวลเกี่ยวกับปัญหาว่าจะไม่มีพื้นดินเหลือพอให้อาศัยเพราะถูกทะเลกลืนกินพื้นที่ไป ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในไอซ์แลนด์ กลับกำลังเผชิญกับ “ระดับน้ำทะเลที่ลดลง”
นี่ไม่ใช่ว่าโลกหายร้อน หรือไม่ได้สร้างผลกระทบอะไร แต่เมื่อน้ำแข็งในหมู่บ้านแห่งนี้ละลาย มันจะไม่ได้ทำให้น้ำทะเลในบริเวณใกล้ ๆ สูงขึ้น แต่กลับไปเพิ่มระดับน้ำทะเลที่ “อีกฟากหนึ่งของโลก”
“โอกาสสุดท้ายในการลดโลกร้อน” ต้องลดระดับการปล่อยคาร์บอนให้ได้ใน 3 ปี
แอนตาร์กติกาอุ่นขึ้น 40 องศาเซลเซียส ทำ “หิ้งน้ำแข็งคองเกอร์” ยุบตัว
น้ำแข็งบนเอเวอเรสต์ที่ใช้เวลา 2,000 ปีในการก่อตัว ละลายหายไปใน 25 ปี
หมู่บ้านแห่งนี้ชื่อว่า “ฮัป (Höfn)” เป็นหมู่บ้านที่พึ่งพาการประมงเป็นหลักในการเลี้ยงชีพ แต่เมื่อระดับน้ำทะเลลดลง ก็ทำให้การออกทะเลไปจับปลากลายเป็นเรื่องที่ยากและเสี่ยงอันตรายมากยิ่งขึ้น
โดยระดับน้ำรอบหมู่บ้านฮัปกำลังลดลง ทำให้พื้นดิน “ตื้นขึ้น” และออกเรือได้ยากขึ้น กระแสน้ำไหลเข้าออกน้อยกว่าที่เคยเป็น ทำให้ช่องที่เรือประมงผ่านเข้ามาค่อย ๆ ถูกถมกลายเป็นพื้นดิน
พอชวารูร์ อาร์นาซอน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยไอซ์แลนด์ในฮัปกล่าวว่า “ระดับน้ำที่ลดลง ทำให้เรือ โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ กระดูกงูของเรือจะค่อนข้างใกล้กับพื้นด้านล่าง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่พวกมันจะกระแทกพื้น ซึ่งอาจทำให้เรือรั่ว หรือถึงขั้นอับปาง”
หมู่บ้านฮัปพึ่งพาการประมงเป็นหลัก หากเรือเข้าออกลำบากหรือเข้าออกไม่ได้ ก็จะนำไปสู่ปลกระทบทางการเงินและรายได้ของประชากรในหมู่บ้านนี้อย่างแน่นอน
ฮัปเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใต้เงาก้อนน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ที่ชื่อว่า วัตนาโยกุช (Vatnajökull) ซึ่งน้ำหนักที่มหาศาลของวัตนาโยกุชได้กดทับพื้นดินด้านล่างไว้ตลอดหลายร้อยหลายพันปี
แต่ภาวะโลกร้อนทำให้ก้อนน้ำแข็งและธารน้ำแข็งเหล่านี้ละลายอย่างรวดเร็ว เมื่อน้ำแข็งหายไป จึงทำให้ระดับพื้นดินแถบนี้สูงขึ้น
ที่ “ไอซ์แลนด์” ได้ชื่อนี้ เพราะประมาณ 1 ใน 10 ของทั้งประเทศ ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง แต่ด้วยภาวะโลกร้อน ทำให้ไอซ์แลนด์สูญเสียน้ำแข็งประมาณ “1 หมื่นล้านตันต่อปี” คาดการณ์ว่า ภายในปี 2200 ไอซ์แลนด์อาจจะไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลย
การวัดด้วย GPS แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่เป็นพื้นดินในฮัปเพิ่มขึ้นมากถึง 1.7 เซนติเมตรต่อปี
แต่ยังมีอีกเหตุผลที่ระดับน้ำทะเลรอบ ๆ ประเทศไอซ์แลนด์ลดลง นั่นคือ “แรงโน้มถ่วง”
ข้อมูลที่เรารู้กันโดยทั่วไปคือ การละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก เพราะเป็นเหมือนการเพิ่มน้ำปริมาณมหาศาลลงในมหาสมุทร
แต่การเพิ่มขึ้นนี้ไม่สม่ำเสมอ และเราอาจคิดว่า ที่ไหนนำแข็งละลายมาก ระดับน้ำทะเลบริเวณนั้นต้องเพิ่มขึ้นสูง แต่ความจริงแล้ว “ไม่ใช่”
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ยิ่งพื้นที่ตรงไหนมีน้ำแข็งละลายมากที่สุด ระดับน้ำทะเลบริเวณพื้นที่นั้นก็ยิ่งลดลง”
การจะอธิบายเรื่องนี้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักการหนึ่ง (ที่หลายคนอาจคุ้นตาจากฟิสิกส์ ม.ปลาย) ที่ว่า “อะไรก็ตามที่มีมวล จะมีแรงดึงดูดในตัวเอง ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าใด ก็ยิ่งมีแรงโน้มถ่วงมากขึ้นเท่านั้น” เหมือนกับโลก ที่มีแรงดึงดูดดวงจันทร์ไว้ และดวงจันทร์เองก็มีแรงที่ดึงดูดโลกไว้เช่นกัน รวมถึงดวงอาทิตย์ที่มีแรงดูดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลให้อยู่ในวงโคจร
โธมัส เฟรเดอริคเซ นักวิจัยจาก NASA Jet Propulsion Laboratory กล่าวว่า “แผ่นน้ำแข็งมีน้ำหนักมากจนดึงมหาสมุทรเข้าหามันได้ เนื่องจากแรงโน้มถ่วง แต่ถ้าแผ่นน้ำแข็งละลาย แรงดึงดูดนี้จะเริ่มอ่อนลงและน้ำก็จะเคลื่อนตัวออกไปยังพื้นที่อื่น ... ยิ่งอยู่ห่างจากแผ่นน้ำแข็งมากเท่าไหร่ ก็จะมีน้ำมากขึ้นเท่านั้น”
นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ประเมินว่า หากระดับน้ำทะเลทั่วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 1 เมตร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์ ซึ่งอยู่ไปทางเหนือของโลก จะทำให้ไอซ์แลนด์ ซึ่งอยู่ใกล้กับกรีนแลนด์ มีระดับน้ำทะเลรอบประเทศจะลดลงไป 20 เซนติเมตร นั่นเป็นเพราะมันอยู่ใกล้กับกรีนแลนด์มากนั่นเอง
การละลายของน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ แม้จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแผ่นน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกรีนแลนด์หรือแอนตาร์กติกา
หากธารน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร ในทางกลับกัน กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกามีน้ำแข็งเพียงพอที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติ หากกรีนแลนด์ทั้งหมดละลาย จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั้งโลกเพิ่มขึ้น 7.5 เมตร ส่วนทวีปแอนตาร์กติกามีน้ำแข็งเพียงพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลได้เกือบ 60 เมตร หากน้ำแข็งละลายหมด
การที่น้ำแข็งละลาย คิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของระดับน้ำทะเลของโลกที่เพิ่มขึ้น ส่วนอีก 1 ใน 3 เกิดจากการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจากโลกร้อน ทำให้ “มหาสมุทรขยายตัว”
หัวอกคนเป็น “แม่” ในวันที่ลูกสู้อยู่ในสมรภูมิ “มาริอูปอล”
โดยหลักการ เมื่อน้ำอุ่นขึ้น โมเลกุลของมันจะเคลื่อนที่เร็วขึ้นและกระจายตัวออกไปมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาตรเพิ่มขึ้น
อย่างที่บอกไปว่า ยิ่งไกลจากจุดที่น้ำแข็งละลายมากเท่าใด ก็ยิ่งมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมาเท่านั้น และเมื่อน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ละลาย พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ “หมู่เกาะมาร์แชลล์” ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ห่างจากไอซ์แลนด์ไปครึ่งโลก
หมู่เกาะมาร์แชลล์ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะหลัก และเกาะปะการังรูปวงแหวนอีก 29 แห่ง เมื่อน้ำแข็งละลายในอีกด้านหนึ่งของโลก เช่น กรีนแลนด์และไอซ์แลนด์ จะทำให้ระดับน้ำทะเลรอบ ๆ ที่นี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เคธี เจตนิล-กิจิเนอร์ นักการทูตด้านสภาพอากาศของกระทรวงสิ่งแวดล้อมหมู่เกาะมาร์แชลล์ กล่าวว่า “แนวชายฝั่งของเรากำลังเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ทางกายภาพของดินแดนของเราอย่างแท้จริง”
ระดับความสูงเฉลี่ยเหนือระดับน้ำทะเลของหมู่เกาะมาร์แชลล์อยู่ที่ 2 เมตรเท่านั้น ทำให้สำหรับผู้คนที่นี่ ทุกเซนติเมตรมีความสำคัญ
ตั้งแต่ปี 1993 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.6 มิลลิเมตร แต่ที่หมู่เกาะมาร์แชลมีระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 7 มิลลิเมตรต่อปี หรือเกือบ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทำให้ที่นี่เกิดเหตุน้ำท่วมบ่อยขึ้น น้ำดื่มได้รับมลพิษ การทำมาหากินถูกทำลาย
เป็นการเตือนอย่างต่อเนื่องถึงภัยคุกคามที่มีอยู่ในประเทศนี้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพวกเขาต้องการเครื่องมือใหม่ในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว
การศึกษาร่วมกันระหว่างรัฐบาลหมู่เกาะมาร์แชลล์และธนาคารโลกได้สรุปทางเลือกในการป้องกันผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นรอบมาร์แชลล์ ตั้งแต่การสร้างกำแพงทะเลไปจนถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือการอพยพคนทั้งประเทศ
เจตนิล-กิจิเนอร์ กล่าวว่า “ผลกระทบยังคงมีอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากทั่วโลกไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วเท่าที่ควร ... ที่นี่ สถานการณ์รุนแรงมากจนตอนนี้เรากำลังสำรวจทางเลือก เช่น การยกระดับความสูงเกาะของเรา หรือแม้กระทั่งเราอาจจะต้องสร้างเกาะใหม่ทั้งหมด”
เธอเสริมว่า “นั่นไม่ยุติธรรมเลย เราไม่ควรทำอย่างนั้น ... เหล่านี้เป็นแผนที่ยากซึ่งจะทำให้เราต้องเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งหมดเกิดจากสิ่งที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย”
ภาพดาวเทียมชี้ หลุมศพกว่า 200 หลุมผุดขึ้นเต็มมาริอูปอล
เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) 22 เม.ย. ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ เพื่อรักษาโลกและบ้านของทุกคนบนโลกไว้
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก CNN
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline