"ศรีลังกา" ประท้วงวุ่น ประชาชนจี้ปธน. ลาออกตามนายกฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังเผชิญกับเสียงกดดันและเรียกร้องให้ลาออกมานานหลายสัปดาห์จากวิกฤตเศรษฐกิจ ล่าสุดเมื่อวานนี้ มหินทรา ราชปักษา นายกรัฐมนตรีของศรีลังกาประกาศลาออกแล้ว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังไม่สงบ เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งต้องการให้ประธานาธิบดีผู้เป็นน้องชายแท้ๆ ลาออกตามไปด้วย

บรรยากาศความวุ่นวายจากเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.)ในกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงศรีลังกา จลาจลเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางวัน เนื่องจากในวันเดียวกันกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลได้นัดรวมตัว ส่งผลให้เกิดการปะทะระหว่างสองกลุ่ม

รถบัสหลายคันถูกเผา โดยรถเหล่านี้ถูกระบุว่าเป็นรถที่ขนเอาผู้สนับสนุนรัฐบาลให้เข้ามาชุมนุมในเมืองหลวง ส่งผลให้รถดังกล่าวตกเป็นเป้าการโจมตีของผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาล

สมาชิกรัฐสภาศรีลังกา วางมวยกลางที่ประชุม

ผู้นำศรีลังกาเล็งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลัง รมต.ลาออกทั้งคณะ กู้วิกฤตเศรษฐกิจ

นอกจากนั้นผู้ชุมนุมยังจุดไฟเผาบ้านพักของรัฐมนตรีที่ทำงานให้กับรัฐบาลด้วย ส่วนภาพของการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายในกรุงโคลอมโบ

รายงานระบุว่า กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีถือไม้และท่อนเหล็กบุกเข้ามายังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มต่อต้าน ที่พวกเขาปักหลักชุมนุมกันมานานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมแล้ว การปะทะส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 9 ราย

เมื่อวานนี้ท่ามกลางความวุ่นวาย จู่ๆ นายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบ

รายงานข่าวระบุว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยื่นใบลาออกกับประธานาธิบดีผู้เป็นน้องชายแท้ๆ ของตนเอง หลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจากวิกฤตเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

หลังมีข่าวออกมาว่านายกรัฐมนตรีลาออก ประชาชนระบุว่าพวกเขาดีใจ และมองว่านี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาประเทศ

อย่างไรก็ตามแม้นายกฯ จะประกาศลาออกแล้ว แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งยังคงโกรธแค้น เมื่อคืนนี้ปรากฏภาพบ้านหลังเก่าของนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ถูกประชาชนเผาจนวอดพร้อมกันนั้นยังมีเสียงเรียกร้องให้ โกตาพญา ราชปักษา ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน

ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็วุ่นวายไปด้วยเหตุจลาจล มีรายงานว่าประชาชนบางกลุ่มถือไม้ถือกระบองเข้าปิดถนน ปิดล้อมสนามบิน และบางพื้นที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำในการสลายการชุมนุมและนี่คือภาพล่าสุดเมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมา หลายจุดของเมืองเต็มไปด้วยความเสียหาย

วันนี้ยังไม่มีคนออกมาชุมนุม แต่ทหารและตำรวจประจำการตามจุดต่างๆ พร้อมรับมือมีรายงานว่า นับตั้งแต่เกิดการชุมนุมและการปะทะขึ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีอย่างน้อย 190 รายในหลายเมืองวิกฤตที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาขณะนี้เรียกได้ว่าหนักหนาที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราชเมื่อ 74 ปีก่อน

ผู้คนตกงาน ขาดรายได้ ข้าวของแพงจนซื้อไม่ไหว ไฟฟ้ามีไม่พอใช้ ตลอดจนประเทศยังติดหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล

วิกฤตเหล่านี้ส่งผลให้คนศรีลังกาต้องออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล เพราะพวกเขาไม่อาจทนใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปได้

ชีวิตของชาวศรีลังกาในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนต้องต่อแถวรอซื้อน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่มีอยู่อย่างจำกัด บางจุดรอกันหลายชั่วโมงจนมีคนเป็นลมเสียชีวิตไปแล้ว 3 คน

นอกจากนั้นข้าวของ โดยเฉพาะราคาอาหารก็ปรับตัวแพงขึ้นจากภาพคือการประท้วงของหมอและพยาบาลในกรุงโคลอมโบเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พวกเขาระบุว่าขาดแคลนยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ที่ผู้คนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

เกิดขึ้นเพราะขณะนี้ศรีลังกาไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะนำเข้าอาหาร พลังงาน ตลอดจนข้าวของต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์

ที่ซ้ำร้ายผู้คนยังถูกจำกัดการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ไม่สามารถนำเข้า ถ่านหินและน้ำมันเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกันแหล่งน้ำที่ใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าก็ แห้งเหือดจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว รัฐบาลจึงต้องหยุดจ่ายไฟวันละ 13 ชั่วโมงต้นเหตุของปัญมามาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลหลายสมัย

หลังสงครามกลางเมือง ศรีลังกาเปิดประเทศ เกาะเล็กๆ แห่งนี้เนื้อหอม นักลงทุน มากมายหลั่งไหลเข้ามา ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูก รัฐบาลหาเงินด้วยการกู้เงินต่าง ประเทศมากกว่าการสร้างรายได้โดยการส่งออกสินค้าและบริการ

ซ้ำร้ายยังติดหนี้ต่างชาติมหาศาล โดยเฉพาะ หนี้ที่ต้องจ่ายให้จีน เพราะตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา จีนให้ศรีลังกากู้เงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมายิ่งทำให้นักท่องเที่ยวหดหาย ศรีลังกา จึงไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้สาธารณะได้ นำมาสู่การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศครั้งใหญ่

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ศรีลังกาเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948

ปัจจุบันหนี้สาธารณะของศรีลังกาอยู่ที่อย่างน้อย 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี 104 เปอร์เซ็นต์

อันที่จริงศรีลังกามีนัดชำระหนี้ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ จากก้อนใหญ่ทั้งหมด 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ต้องชำระให้ครบในปี 2026 แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการชำระหนี้ออกไป

ส่วนเงินตราต่างประเทศเหลือเพียง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ยังไม่นับรวมผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาเป็นลูกโซ่จากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขึ้นเป็นร้อยละ 30 แล้ว

ในขณะที่จำนวนคนตกงานและขาดรายได้ก็เพิ่มขึ้น รายงานจากธนาคารโลก จำนวนคนศรีลังกาที่ยากจนด้วยรายได้วันละไม่ถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 100 บาทเพิ่มจากร้อยละ 9.2 เป็น 11.7 ในปี 2020

มีรายงานว่า เดือนเมษายนที่ผ่านมา Fitch Ratings สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดความน่าเชื่อถือ ของศรีลังกาลงให้อยู่ที่ระดับ C ซึ่งเป็นระดับรองสุดท้าย เนื่องจากศรีลังกามีหนี้มหาศาล และไม่มีความสามารถที่จะจ่ายชำระได้ตามกำหนด

คาดกันว่าหากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ครั้งถัดๆ ไป ระดับความน่าเชื่อถืออาจลดลงไปสู่ จุดต่ำสุดที่ระดับ D

อันดับความน่าเชื่อถือมีผลต่อการลงทุน รวมถึงความน่าเชื่อถือที่น้อยลงยังทำให้ศรี ลังกาไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการขายพันธบัตรในสกุลเงินตราต่างประเทศด้วยอัตรา ดอกเบี้ยถูกได้อีก นั่นหมายความว่าหนทางในการสร้างรายได้ของรัฐบาลก็ยิ่งน้อยลง

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ