"ศรีลังกา"ประกาศเคอร์ฟิว อนุญาตทหารยิงผู้ก่อจลาจล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ความรุนแรงและเหตุจลาจลเกิดขึ้นทั่วศรีลังกาแม้ว่านายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษาจะประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม แต่ผู้ประท้วงยังคงไม่พอใจ เพราะต้องการให้ประธานาธิบดีลาออกตามไปด้วย

ความรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 ราย บ้านพักของสมาชิกรัฐสภาหลายหลังถูกเผาวอด ส่วนอดีตนายกฯ ที่เพิ่งจะประกาศลาออกไปต้องหลบหนีออกจากเมืองหลวงด้วยความช่วยเหลือของทหาร

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ( 11พ.ค.)ในกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงศรีลังกา ปรากฏภาพของทหารออกมาตามท้องถนน เข้าประจำการตามจุดต่างๆ เพื่อรักษาความสงบ

ขณะนี้ศรีลังกาอยู่ในช่วงเคอร์ฟิวอีกครั้ง รัฐบาลเพิ่งจะประกาศให้นำมาตรการนี้กลับมาใช้ หลังวันจันทร์ที่ผ่านมาเกิดเหตุจลาจลและความรุนแรงในหลายเมือง

ศรีลังกาประกาศเคอร์ฟิว-บล็อกโซเชียลมีเดีย คุมม็อบพิษเศรษฐกิจ

หมู่เกาะโซโลมอนประท้วงเดือด ไม่พอใจรัฐบาลเข้าหาจีน

ในภาพรวม บ้านเรือนกว่า 50 หลังของสมาชิกรัฐสภาถูกผู้ชุมนุมเผาทำลาย ข้าวของสาธารณะได้รับความเสียหาย และในบางจุดเต็มไปด้วยซากของรถบัสที่ถูกเผาเช่นกัน

ส่วนเหตุปล้นสะดมก็เกิดขึ้นทั่วประเทศ สถานการณ์เหล่านี้ ส่งผลให้เมื่อวานกระทรวงกลาโหมออกคำสั่งว่า ทหารสามารถยิงผู้ประท้วงที่แสดงออกชัดเจนว่ากำลังทำลายทรัพย์สินสาธารณะ หรือทำอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่น

ด้านความเสียหายต่อชีวิต ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะระหว่างชุมนุมอย่างน้อย 225 รายแล้ว

ส่วนผู้เสียชีวิตมีอย่างน้อย 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมพยายามเผารถยนต์คันหนึ่ง ส่งผลให้เจ้าของรถใช้อาวุธปืนยิงผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2 ราย ก่อนจะยิงตัวตายตาม

จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจากการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายที่ขับไล่รัฐบาล

อย่างไรก็ตามแม้ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีผู้ประท้วงที่แสดงออกด้วยสันติวิธี

ย่านแกล แหล่งท่องเที่ยวติดทะเลของเมืองหลวง เมื่อเย็นวานนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้เคอร์ฟิว แต่ยังคงมีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาชุมนุมอย่างสงบ ด้วยการยืนจับมือกัน

พวกเขาระบุว่า จะไม่ถอยจนกว่าตระกูลราชปักษาจะลงจากอำนาจ เพราะพวกเขาคือสาเหตุของการคอรัปชันและวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวุ่นวาย จู่ๆ นายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบ

 รายงานข่าวระบุว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยื่นใบลาออกกับประธานาธิบดีผู้เป็นน้องชายแท้ๆ ของตนเอง หลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจากวิกฤตเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

อย่างไรก็ตามจากภาพจลาจลเมื่อวันอังคารชี้ให้เห็นว่า ลำพังแค่การลาออกยังไม่เพียงพอ

ความโกรธแค้นของประชาชน ที่ทำการของนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ในกรุงโคลอมโบ คือหนึ่งในอาคารที่ถูกเผาและปาระเบิดใส่

 อาคารได้รับความเสียหายจากการวางเพลิง กระจกแตก และรถยนต์ที่จอดอยู่ไหม้ดำเป็นตอตะโก ทหารต้องวางกำลังพลส่วนหนึ่งที่นี่ เพราะคาดว่าผู้ชุมนุมอาจหวนกลับมาก่อเหตุอีก

มีถ้อยแถลงจากเลขาธิการพรรค People's Liberation Front ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนการชุมนุมระบุว่า จริงๆแล้ว ประชาชนที่ขับไล่รัฐบาลออกมาชุมนุมอย่างสงบ

แต่จู่ๆ กลับมีประชาชนกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลเข้ามาก่อความวุ่นวายในเมืองหลวง ไล่ทำร้ายผู้คน และก่อเหตุปล้นสะดมภ์ ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชน ซึ่งพวกเขามองว่านายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา อยู่เบื้องหลังการกระทำนี้

สอดคล้องกับรายงานจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ระบุว่า พบเห็นกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลถือไม้และกระบองบุกเข้ามาทำลายเต็นท์ของผู้ชุมนุมอีกฝ่าย

ล่าสุดมีรายงานว่า หลังประกาศลาออก นายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ได้เดินทางออกจากเมืองหลวงไปหลบภัยยังสถานที่อื่นที่ปิดเป็นความลับแล้ว

ด้านประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา น้องชายแท้ๆ ของนายกฯ ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง เมื่อวานนี้ได้ออกมาเรียกร้องผ่านทวิตเตอร์ให้ผู้ชุมนุมยุติการใช้ความรุนแรง พร้อมเคารพหลักการทางการเมือง

และระบุว่า ตัวเขาจะพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นใหม่

เกิดอะไรขึ้นที่ศรีลังกา? วิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้เรียกได้ว่าหนักหนาที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราชเมื่อ 74 ปีก่อน

 ผู้คนตกงาน ขาดรายได้ ข้าวของแพงจนซื้อไม่ไหว ไฟฟ้ามีไม่พอใช้ ตลอดจนประเทศยังติดหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลส่งผลให้คนศรีลังกาต้องออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล เพราะพวกเขาไม่อาจทนใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปได้

ปัจจุบันหนี้สาธารณะของศรีลังกาอยู่ที่อย่างน้อย 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี 104 เปอร์เซ็นต์

 อันที่จริงศรีลังกามีนัดชำระหนี้ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ จากก้อนใหญ่ทั้งหมด 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ต้องชำระให้ครบในปี 2026 แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการชำระหนี้ออกไป

ส่วนเงินตราต่างประเทศเหลือเพียง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นยังไม่นับรวมผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาเป็นลูกโซ่จากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขึ้นเป็นร้อยละ 30 แล้ว

 ในขณะที่ข้าวของแพงขึ้น จำนวนคนตกงานและขาดรายได้กลับเพิ่มขึ้น รายงานจากธนาคารโลก จำนวนคนศรีลังกาที่ยากจนด้วยรายได้วันละไม่ถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 100 บาทเพิ่มจากร้อยละ 9.2 เป็น 11.7 ในปี 2020 ต้นเหตุของปัญมามาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลหลายสมัย

หลังสงครามกลางเมือง ศรีลังกาเปิดประเทศ เกาะเล็กๆ แห่งนี้เนื้อหอม นักลงทุน มากมายหลั่งไหลเข้ามา ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูก รัฐบาลหาเงินด้วยการกู้เงินต่าง ประเทศมากกว่าการสร้างรายได้โดยการส่งออกสินค้าและบริการ

 ซ้ำร้ายยังติดหนี้ต่างชาติมหาศาล โดยเฉพาะหนี้ที่ต้องจ่ายให้จีน เพราะตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาจีนให้ศรีลังกากู้เงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนา สาธารณูปโภค

วิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะศรีลังกาขาดรายได้จากการท่องเที่ยว

นอกจากนั้นรัฐบาลยังถูกวิจารณ์ว่าคอรัปชัน เนื่องจากตระกูลราชปักษาครองตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่ผ่านมาผู้นำประเทศพยายามลดแรงกดดันด้วยการปลดญาติพี่น้องออกจากตำแหน่ง

เช่น นามาล ราชปักษา บุตรชายของมหินทรา ราชปักษา ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของประธานาธิบดีโกตาบายา ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้น แต่ไม่อาจลดความโกรธเกรี้ยวของประชาชนลงได้

ขณะนี้สถานการณ์ในศรีลังกากำลังเป็นที่จับตาของประชาคมโลก นักวิเคราะห์หวั่นว่าศรีลังกาอาจเป็นประเทศที่ล่มสลายทางการเงินในเร็วๆ นี้

อีกความกังวลมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ลิซ ทรอสเซลล์ โฆษกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประณามความรุนแรงที่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเป็นผู้ก่อเหตุ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ